จับสัญญาณปรับครม. ลุ้นชะตากรรม3ช. “บิ๊กอาย” ได้ไปต่อ หรือ พอแค่นี้???
จากกรณีที่วันนี้ (7 กันยายน 2564) ที่ตึกสันติไมตรี หลังนอก ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งถือเป็นการประชุมครม.เต็มคณะครั้งแรก หลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
โดยการประชุมครม.ครั้งนี้เป็นที่ถูกจับตามองหลังเกิดเหตุบาดหมางในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยวันเดียวกันนี้ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่มีรัฐมนตรีคนใดมารอพบ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนที่เคยเป็นมา ขณะที่ตึกบัญชาการ ปรากฎว่า กลุ่ม รัฐมนตรี 3 ช.นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และเหรัญญิกพรรค และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ได้ขึ้นตึกบัญชาการ 1 เพื่อพบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปกติวันประชุมครม.นายสันติ จะเข้าพบพล.อ.ประวิตร ที่ห้องทำงานตึกบัญชาการก่อนทุกครั้ง แต่หลังมีกระแสข่าวได้แยกตัวออกจากกลุ่ม 4 ช. มายับตึกสันติไมตรีเพียงลำพัง
สำหรับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ที่กำลังเป็นที่จับตามองในขณะนี้ และมีความใกล้ชิดกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ เธอเป็นอดีตอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และเข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยการเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรคพลังประชารัฐ จนกระทั่งต่อมา ได้รับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐบาลด้วย ไม่เท่านั้นยังเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่มี บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้กุมบังเหียนพรรค กระทั่งมาถึงวันที่เกิดการปรับเปลี่ยน รัฐมนตรีลาออกหลายคน
ซึ่งในช่วงนั้น นฤมล ก็ได้มีความสนิทสนมกับ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จากการไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมเขต 8 เชียงใหม่ เพราะพื้นที่นั้นเขาต้องการคนช่วยแบบเบาๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเก่า หากไปปราศรัยแบบดุเดือด ก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย จึงขอแบบผู้หญิงอ้อนๆ หวานๆ ทำให้ได้รู้จักกับผู้กองธรรมนัส เพราะผู้กองธรรมนัสเป็นประธานยุทธศาสตร์หาเสียงภาคเหนือ แต่ความจริงแล้วเราอยู่กับ 4 กุมารมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมาทำงานในพรรค ก็ต้องประสานงานกับทุกคนทุกกลุ่ม
ต่อมา ก็มีกระแสลือหนาหูว่า นฤมล เตรียมลาออกจากโฆษกรัฐบาล เพื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 นฤมล ทำหน้าที่แถลงข่าวในฐานะโฆษกครั้งสุดท้ายหลังการประชุม ครม. และอยู่ในตำแหน่งนี้วันสุดท้ายคือ 30 ก.ค. 2563
ในขณะเดียวกัน วันที่ 6 ส.ค. 2563 นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าทูลเกล้าฯ รายชื่อรัฐมนตรีใหม่แล้ว และยังเป็นวันเดียวกับที่ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่งมีชื่อ นฤมล อยู่ด้วย ในตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ย้อนไปเมื่อครั้งที่เธอได้ทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เกิดปรากฎการณ์ “ทัวร์ลง” เนื่องจากมีกระแสข่าวจะได้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลด้วย ทำให้โซเชียลเน็ตเวิร์กรุมถล่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงถึงความเหมาะสม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 ยังมีกรณีของการให้ข่าวผิด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก โดยครั้งนั้น นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการปิดห้างว่าเป็นอำนาจของผู้ว่า และขอให้ประชาชนหยุดแชร์ข่าวปลอม แต่ทว่าต่อมา กทม. แถลงยืนยันว่าจะมีการปิดห้าง 22 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. – 12 เม.ย. จนทำให้โฆษกรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการสื่อสารเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ก็ต้องจับตาถึงการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ว่า นฤมล จะได้ไปต่อหรือไม่??