คนไทยไม่ลืม!!ไอพีสตาร์ดาวเทียมนอกสัมปทาน ทำรัฐเสียหาย 16,000 ล้านบ. ทำไมไม่ดำเนินคดี??

1695

ถึงเวลารื้อขยะใต้พรมในกิจการดาวเทียมไทย  กรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ ในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2553 เกี่ยวโยงคดียึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร ชี้ชัดว่า ไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน เพราะเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนมือ 10 กันยายนนี้ดีเดย์ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลฯ กระทรวงดีอีเอสต้องเคลียร์ให้ชัด ไม่ใช่แค่ทวงคืนดัวดาวเทียม สถานีและอุปกรณ์เท่านั้น เงินที่รัฐพึงได้ในฐานะที่ไอพีสตาร์ ตีเนียนสวมสิทธิ์ดาวเทียมหลักโดยไม่จ่ายเงินให้รัฐอย่างที่พึงจ่าย ต้องขุดมาชี้แจงประชาชน อย่าปล่อยคนทำผิดลอยนวล

เพราะไอพีสตาร์เป็นโครงการใหม่ อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทาน “ดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ” เดิมและในคำพิพากษาศาลฯยังระบุว่า มีความเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ

ในเมื่อมีเทคโนโลยีแตกต่างจากดาวเทียมไทยคม 3 อย่างสิ้นเชิง แถมใช้แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจในต่างประเทศเป็นหลักไม่สามารถอ้างว่าเป็นดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ

เมื่อเป็นดาวเทียมคนละประเภท อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่บริษัทของทักษิณได้สัมปทานมาในยุครัฐบาล รสช.ปี 2534 ดังนั้น ก่อนจะประกอบกิจการ ภาครัฐย่อมจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งในด้านการบริหารงาน และอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ แต่ในยุครัฐบาลทักษิณ เมื่อเข้ามามีอำนาจรัฐ หลบเลี่ยงกฎหมาย ถือหุ้นบริษัทสัมปทานดาวเทียมอยู่ด้วย ได้อาศัยอำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจดาวเทียมแก่บริษัทชินฯ ของตนเอง อย่างอุกอาจ ทำให้เกิดความเสียหายแก่แผ่นดินมูลค่าหลายหมื่นล้าน

เท่ากับว่า รัฐเสียหาย เพราะขาดดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ไปหนึ่งดวง จากการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของทักษิณในขณะนั้น ได้ยิงดาวเทียม “ไอพีสตาร์” ได้สัมปทานดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศไปโดยไม่ต้องมีการประมูล

การไต่สวนพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พบพฤติกรรมการกระทำอย่างอุกอาจ ทั้งใช้วิธีกระทำการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการ ในลักษณะที่รวบรัดและรีบเร่ง ผิดปกติวิสัย รัฐมนตรีคมนาคมขณะนั้นถึงกับอนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองไปก่อน แล้วจึงมีการจัดทำหนังสือเวียนให้คณะกรรมการรับรองรายงานการประชุมภายหลัง เป็นต้น

พฤติการณ์นี้ ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า เป็นการกระทำที่เป็นการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการ ในลักษณะรวบรัด และรีบเร่ง เป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย

แต่ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่า ฝ่ายนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานดาวเทียมพ่วงไอพีสตาร์ จะได้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ชดเชยผลประโยชน์แก่แผ่นดิน หรือถูกลงโทษจากกรณีนี้

กระทั่งล่าสุด รมว.กระทรวงดีอีเอสยืนยันดาวเทียมไทยคมหมดสัญญา 10 ก.ย.นี้ แต่รับรองไม่กระทบปชช. พร้อมย้ำว่าปัญหาเก่าหลายรบ.หมักหมม อย่างไรก็ตามเมื่อเข้ามารับหน้าที่ก็ต้องเร่งมือสะสาง จะทำไม่รู้ไม่ชี้ต่อไปอีกไม่ได้ เพื่อลบล้างข้อครหาเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดโทรคมนาคมไทย

เมื่อวันที่  7 ก.ย.2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ที่จะหมดสัญญาในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นมหากาพย์ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลในอดีตกว่า 30 ปี ตั้งแต่มีสัมปทานนี้ และบางเรื่องก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลปัจจุบัน และเป็นสิทธิ์ของผู้ร้องเรียนให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้ แต่ก็จะกระทบกับรัฐบาลในอดีตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องเก่าที่เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้  วันนี้ขอให้มองว่าจะทำอย่างไรให้ดาวเทียมทำธุรกิจต่อไปได้ เพื่อให้ประโยชน์กับประชาชนและไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง และทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมายจะต้องไม่มีการทุจริต เพื่อไม่ให้มีปัญหากระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวงดีอีเอสจะมุ่งเน้นมากกว่า 

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นหนังสือร้องเรียนก็จะไปตรวจสอบ เนื่องจากตนเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่มีเรื่องที่ร้องเรียนหลายเรื่องเก่าจากรัฐบาลหลายเรื่อง อาจจะทำได้ยาก ซึ่งการมารื้อฟื้นอาจจะทำได้ยากเหมือนกัน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย และรัฐบาลปัจจุบันก็จะต้องชี้แจงและแก้ไข รวมถึงทำความเข้าใจกันไป

เมื่อผู้รับผิดชอบโดยตรงมีท่าทีเช่นนี้คงไม่พ้นที่ภาคประชาชนยังต้องจับตามองต่อไป  โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในวังวนอำนาจรัฐ ประเด็นดาวเทียมไอพีสตาร์เริ่มจากการเป็นดาวเทียมเถื่อนที่มีคำพิพากษาชัดเจนแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังยื้อไม่ดำเนินการหมายความว่าอย่างไร กรณีนพ.วรวค์เดินหน้าดำเนินคดียิ่งลักษณ์และพวก ทุจริตประพฤติมิชอบเรื่องดาวเทียมไทยคม ก็ว่ากันไปตามขั้นตอนกฎหมาย  แต่การเรียกร้องค่าเสียหายที่ค้างมาในอดีต จะต้องดำเนินการไปพร้อมด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

แม้ผ่านมาแล้วถึง 10 ปี แต่ต้องไม่ทำเป็นลืมว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์ เริ่มต้นจากการเป็นดาวเทียมเถื่อน เป็นดาวเทียมไทยคม 4 ที่ นช.ทักษิณ ปล้นไปจากแผ่นดินไทย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นไอพีสตาร์

ปล้นครั้งแรก ปล้นดาวเทียมไทยคม 4 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นไอพีสตาร์ไปแล้ว ยังปล้นต่อครั้งที่ 2 คือ ปล้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 16,000 ล้านบาท ไปจากคนไทยเพราะต้องจ่ายแต่ไม่จ่ายตีขลุมว่าเป็นดาวเทียมสำรอง ทั้งๆที่เป็นดาวเทียมหลักที่สร้างใหม่ ไม่ได้มีคุณสมบัติตรงตามสัญญาสัมปทาน และศาลพิพากษาแล้ว ปล่อยล่วงเลยกันมาจนป่านนี้

ในอดีตที่บีโอไอต้องยกเว้นภาษีเงินได้ 16,000 ล้านบาท ให้ไอพีสตาร์ ก็เพราะ นช. ทักษิณ ซึ่งเป็นนายกฯในเวลานั้น นั่งเป็นประธานบีโอไอและ เป็นเจ้าของชินแซทด้วย เท่ากับว่า ไอพีสตาร์ นอกจากจะเป็นดาวเทียมเถื่อนในความหมายที่ว่า ไม่มีการประมูลตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นดาวเทียมเถื่อนในแง่ที่ว่า ปล้นเอาเงินภาษี 16,000 ล้านบาทจากคนไทยไปสร้าง เป็นดาวเทียมที่ นช.ทักษิณ ใช้อำนาจปล้นจากแผ่นดินไทยไป ไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียว

เรื่องนี้คงต้องถึงมือ “บิ๊กตู่”???