กระทรวงพาณิชย์หนุนEEC เชื่อมโยง!?!เขตกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ดันไทยศูนย์กลางขนส่งภูมิภาค

1447

กระทรวง“พาณิชย์” ชูไทยเป็นศูนย์กลาง CLMVT เชื่อมอาเซียน – ฮ่องกง – จีน ภายใต้ Belt and Road Initiative หวังดึงดูดการลงทุนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด – 19

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การประชุม Belt and Road Summit ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ การขับเคลื่อนการพัฒนาด้วย การส่งเสริมการค้าระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ” ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาว่าในการประชุมครั้งนี้ไทยใช้นโยบายในการเชื่อมโยงไทยผ่านเขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) กับเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Great Bay Area: GBA) และข้อริเริ่ม สายแถบและเส้นทาง(Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน เนื่องจากไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์ของอนุภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) และอาเซียน  

ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านดิจิทัลเทคโนโลยีตามเส้นทาง BRI จะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันและดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพโดยเฉพาะ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ และการบินและโลจิสติกส์

ซึ่งจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเส้นทางรถไฟและโครงข่ายคมนาคม ภายใต้ BRI อย่างรถไฟความเร็วสูงไทย – ลาว – จีน เสร็จสมบูรณ์ จะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และประชาชน ในภูมิภาคซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัวจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้น แนวนโยบายที่สนับสนุนการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศของจีน จะทำให้นักลงทุนไทยมีโอกาส เข้าไปลงทุนในจีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มากขึ้นซึ่งจะสร้างโอกาสให้กับ ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการส่งออกสินค้า บริการและการลงทุนในตลาดการค้าขนาดใหญ่

ทั้งนี้การประชุม Belt and Road Summit เป็นเวทีประจำปีซึ่งจัดโดยรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สำหรับผู้บริหารภาครัฐ นักธุรกิจและนักลงทุนจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและต่างประเทศในการแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมการอภิปรายประกอบด้วยเลขาธิการอาเซียน รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจและการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย และรัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ก่อนหน้านี้ทาง EEC ได้กระชับความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง ตั้งคณะทำงานรูปธรรมย้ำเดินหน้าความร่วมมือ 5 สาขาหลัก อุตสาหกรรม EV ดิจิทัล 5G สุขภาพ Smart City และเศรษฐกิจสีเขียว เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายหม่า ซิงรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธาน การประชุมความร่วมมือระดับสูง ไทย-กวางตุ้ง (High Level Cooperation Conference : HLCC) ครั้งที่ 1 หัวข้อ Stronger Strategic Synergy between GBA and the EEC for a Better Future

โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายวีรชัย มั่นสินทร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน (สภาอุตสาหกรรม) นายโจว ย่าเหว่ย สมาชิกถาวรพรรคคอมมิวนิสต์จีน นครกว่างโจว (เทียบเท่ารองนายกเทศมนตรีกว่างโจว) นายเถา หย่งซิน รองนายกเทศมนตรีเสิ่นเจิ้น และนายจู เหว่ย รองผู้อำนวยการ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลกวางตุ้ง และสำนักงาน GBA เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล

การประชุม HLCC ครั้งนี้ ถือเป็นเวทีหารือเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area (GBA) ของจีน ซึ่งประกอบด้วยมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างอีอีซี กับ GBA ให้มีความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

นายคณิศ แสงสุพรรณ ได้กล่าวถึง ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี ให้แก่ทางมณฑลกวางตุ้งรับทราบว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในด้านการพัฒนา 5G ในพื้นที่อีอีซี และการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ซึ่งอีอีซีจะให้ความสำคัญกับ 3 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 

1.Digital and 5G  2.Smart Logistics  3.Health and Wellbeing โดยมี BCG (Bio-circular-Green) เป็นแนวทางการลงทุนและประกอบธุรกิจสำหรับทุกคลัสเตอร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็น Net Zero Emission ในภาคอุตสาหกรรมของพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงโอกาสการเชื่อมโยงการพัฒนาเชิงพื้นที่ระหว่างอีอีซี และ GBA ผ่านเส้นทางบกและทางรางผ่านทาง สปป.ลาว และไทยมายังปลายทางอีอีซี จากแผนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry port) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับท่าเรือบกประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ เช่น ฉงชิ่ง และคุนหมิง การเชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันในอนาคตผ่าน Land bridge ไปยังท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเอเชียใต้และยุโรป

และโอกาสการเชื่อมโยงทางอากาศกับสนามบินอู่ตะเภา ที่สามารถรองรับทั้งการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงเป็น Connectivity Hub เชื่อมโยงพื้นที่ GBA กับกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างดี โดยได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของอีอีซี ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ASEAN รวมถึงการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับ Belt & Road Initiative

นอกจากนี้ยังได้ย้ำถึงความร่วมมือระหว่างอีอีซี กับ GBA ในด้านการลงทุนและอุตสาหกรรม 5 สาขาหลักที่กวางตุ้งมีศักยภาพ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ EV 2.ดิจิทัลและ 5G 3.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 4.Smart City และ 5.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Green and Circular Economy