ถึงเวลาเอาจริง ย้อนคำพูด “แก้วสรร” เสนอทางออก “บิ๊กตู่” ต้องรีบจัดการ “ธรรมนัส”

2363

จากกรณีที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ข่าวว่า!!! นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ แล้ว

ถึงเวลาสงครามของผู้แทนของประชาชน+ประชาชนแล้ว ลุงคนดี vs ประชาชน” ต่อมาผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยนายกฯ ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “เชื่อมันหรือ”

ขณะที่วานนี้ (2 ก.ย.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเซ็นลาออกจาก รมช.เกษตรฯ ว่า ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องนี้ และยังไม่ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. หรือไม่ เพราะไปธุระข้างนอกมา

ส่วนกรณีที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่านายกรัฐมนตรีเซ็นคำสั่งปลดตนเองแล้วนั้น ส่วนตัวยังไม่เห็น และยังไม่ทราบข่าวดังกล่าว และจะเอาผิดกับคนปล่อยข่าวดังกล่าวหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “เต้เขาไม่ได้ประสงค์ร้ายอะไรกับผม จะไปเอาผิดเขาได้อย่างไร เรื่องนี้มีที่มาที่ไปหรือไม่ผมไม่ทราบ ต้องไปถามจากเต้ว่าหมายความว่าอย่างไร”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมแล้วหรือยัง ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า “ผมยืนยันว่าผมไม่คุยกับนายกฯ แต่ผมคุยกับรองนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าพรรคผม เมื่อตอนกลางวันผมก็เพิ่งไปทานข้าวกับรองนายกฯมา”

จากการส่งสัญญาณจากคำตอบของร.อ.ธรรมนัสนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจเป็นอย่างมาก ว่าเหตุใด ร.อ.ธรรมนัส ถึงได้ยืนยันถึง 2 ครั้งว่า จะไม่คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ทั้งที่ทางด้านของ ร.อ.ธรรมนัส คือผู้ที่ถูกเพ่งเล็งในเรื่องราวสุดดุเดือดครั้งนี้ ก็น่าจะมีการแวะเวียนเข้าไปพูดคุยหรือชี้แจงถึงเรื่องราวเหล่านี้กับทางด้านนายกรัฐมนตรีด้วยตนเองบ้าง และไม่เคยแก้ตัวในข่าวลือที่ออกมาให้ได้เข้าใจในมุมมองของ ร.อ.ธรรมนัส ต่อนายกฯ เลย ซึ่งดูจากสถานการณ์แล้วนี่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างผิดปกติ สำหรับเลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาล

ทั้งนี้หากย้อนไปเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 นายแก้วสรร อติโพธิ ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดี ร.อ.ธรรมนัส ใหม่ที่นี่ – เก่าที่อื่น ? ผ่านเว็บไซต์ไทยโพสต์ ซึ่งมีการหยิบยก เอาคำว่า ใหม่ที่นี่ เก่าที่อื่น มาพูดถึงคดีที่ศาลตัดสินนายธรรมนัส ว่าคดีนี้ก็โดนแซวแบบนี้เช่นกัน โดยมีเนื้อหาระบุ บางช่วงบางตอนว่า

แซวอย่างนี้ ได้ยังไง ครับ? คำตอบ คือ เขาคิดว่า ถ้าใครถูกฟ้องอาญา และได้ต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมจนยุติ แล้วโดนพิพากษาลงโทษนั้น เพียงเท่านี้มันก็ แสดงว่ามีคุณสมบัติไว้วางใจให้ดูแลบ้านเมืองไม่ได้แล้ว ส่วนจะถูกตัดสินโดยศาลออสเตรเลียหรือศาลไทยนั้น ฝ่ายนี้เขาก็เห็นว่าไม่สำคัญ เหมือนกับว่าถ้าหญิงบริการผู้ใดเก่าเป็นปีแล้ว ก็ต้องถือว่า “เก่า”ตลอดไปไม่ว่าจะอยู่ซ่องไหนก็ตามนั่นเอง

คำถามคือ พอศาลรัฐธรรมนูญไทยมาวินิจฉัยว่าต้องให้ศาลไทยตัดสินเท่านั้น ก็เลยถูกแซวเป็นอาโกไปเลย

คำตอบคือ มันเป็นแค่ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเท่านั้น ไม่ได้เจตนาลบหลู่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ จริงๆแล้ว มันเป็นความเห็นต่างในการตีความกฎหมายเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญท่านก็มีเหตุผลของท่านอยู่นะครับ

ท่านเริ่มจากการมองว่า เรื่องขาดคุณสมบัตินักการเมืองเพราะต้องคำพิพากษาลงโทษอาญานี้ มันเป็นการรับเอาคำพิพากษาต่างประเทศเข้ามามีผลบังคับในระบบกฎหมายของเรา ซึ่งมันทำไม่ได้เพราะคำพิพากษานี้เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ศาลใครก็ศาลมัน คำพิพากษาใครก็คำพิพากษามัน รัฐไทยจะไปยอมผูกพันด้วยไม่ได้

แล้วฝ่ายค้านเห็นต่างอย่างไร?

ผมอยู่ฝ่ายนี้ ผมมองว่าคดีนี้เป็นเพียงการวางมาตรฐานความไว้วางใจของสังคมไทยด้วยกฎหมายไทยเองเท่านั้นว่า ถ้ามีคนโดนคำพิพากษาต่างประเทศลงโทษมาอย่างนี้ มันเพียงพอที่รัฐธรรมนูญไทยจะไม่ไว้วางใจหรือไม่ ซึ่งจะให้คำตอบอย่างไรก็เป็นอิสระตามดุลพินิจของเรา หาใช่การยอมรับหรือไม่ยอมรับอำนาจรัฐอื่นแต่อย่างใดไม่

หากถามว่า คดีคุณธรรมนัส เป็นคดียาเสพติด กฎหมายอาญาไทยเอาเรื่องข้ามประเทศได้ไหม ขอตอบดังนี้ว่า กฎหมายอาญาเราเอาเรื่องคดียาเสพติดเฉพาะที่เป็นการค้าคือนำเข้าและจำหน่ายเท่านั้นครับ ถ้าเป็นครอบครองหรือเสพเราไม่ยุ่ง ตรงนี้ถ้าจะอุดช่องว่างในคดีรัฐธรรมนูญตามแนวทางกฎหมายอาญาอย่างเช่นที่กล่าวมา ศาลรัฐธรรมนูญไทยต้องหาทางเอาสำเนาคำพิพากษาศาลออสเตรเลียมาเข้าสำนวนให้ได้ว่า คำพิพากษานี้ตัดสินลงโทษฐานใดกันแน่

ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านได้หมายเรียกสำเนาคำพิพากษาจากคู่ความและปลัดกระทรวงต่างประเทศแล้วนี่ครับ แต่ไม่มีใครส่งให้เลย ดังนั้นผมว่าถึงจุดนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจ ออกหมายให้ทางการไทยขอตรงจากทางการออสเตรเลีย โดยอ้างความผูกพันตามอนุสัญญาปราบปรามการค้ายาเสพติดประกอบไปด้วยได้เลย เพราะทั้งเราและเขาเป็นสมาชิกด้วยกันทั้งคู่ ถ้าออสเตรเลียไม่ให้ เขาจะตกที่นั่งไม่เคารพอนุสัญญาไปในทันที

ถาม : ด้วยแนวทางการใช้กฎหมายที่เห็นต่างกับศาลเช่นที่ลำดับมานี้ ก็เพียงพอที่จะวินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส พ้นตำแหน่ง สส.และรัฐมนตรีได้แล้วใช่ไหม

ตอบ : ถ้าตีความแล้วอุดช่องว่างอย่างนี้ กฎหมายก็เปิดทางครบถ้วนแล้วครับ เหลือแต่คำตอบทางข้อเท็จจริงต่อไปเท่านั้นว่า ศาลออสเตรเลียลงโทษตามกฎหมายยาเสพติดฐานใด ใช่ฐานค้ายาคือนำเข้าและจำหน่ายหรือไม่

ท้ายที่สุดนี้ เราจะมองความแตกต่างทางความคิดเห็น ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น อย่างไรครับ ผมมองว่าสองแนวทางนี้ใช้กฎหมายด้วยนิติวิธีที่ต่างกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในทางนิติศาสตร์แต่ศาลท่านมีอำนาจตามกฎหมายเราก็ต้องยอมรับยุติตามที่ท่านวินิจฉัย

และในบทความช่วงท้าย มีการตั้งคำถามว่า สรุปแล้วคดีของนายธรรมนัสไม่มีทางไปทางไหนได้อีกหรือไม่ นายแก้วสรร จึงมองว่า อำนาจตรวจสอบของศาลและองค์กรอิสระไม่มีแล้ว ไม่รู้จะร้องใครได้แล้ว เหลือแต่อำนาจของผู้รับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น ตัวนายกรัฐมนตรีเองนั้น มีอำนาจหน้าที่สอบสวนในทางบริหารอยู่แล้วเพราะเป็นคดียาเสพติด ที่มีระเบียบสำนักนายกฯ กำหนดเป็นหน้าที่ผู้บังคับบัญชาไว้ชัดเจนว่าอยู่เฉยไม่ได้ ถ้าสอบแล้วได้ความว่าเป็นคำพิพากษาลงโทษฐานค้ายา ตรงนี้นายกฯก็ต้องปรับบุคคลนี้ออกจากรัฐมนตรี ส่วนพรรคต้นสังกัด ก็ต้องมีมติให้พ้นจากพรรคแล้วหลุดจาก ส.ส.ตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ทำได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะรู้จักถูกผิด รู้จักรับผิดชอบหรือไม่เท่านั้น