รู้จักบาทดิจิตัลไทย!?! แบงก์ชาติเตรียมใช้ไตรมาส2/65 ตั้งเป้าสังคมไทยไร้เงินสด

1980

การระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้ชีวิตในช่วงล็อคดาวน์นานกว่า 2 เดือน ทำให้พฤติกรรมของคนไทยได้เปลี่ยนไปแบบ New Normal ทั้งในการบริโภค การทำงาน หรือแม้กระทั่งธุรกรรมการเงิน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือ คนไทยเริ่มคุ้นชินกับการชำระสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือจ่ายผ่าน QR หรือแม้กระทั่งการใช้ pay wave ในการใช้บัตรเครดิตแตะด้วยตัวเองแทนการรูด ซึ่งเมืองไทยก็ได้เริ่มการชำระแบบนี้มาสักระยะแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก จนประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้คนไทยน้อมรับไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

เมื่อเร็วๆนี้ธปท.ประกาศจะเปิดทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ที่เรียกว่า “CBDC” แก่รายย่อย โดยจะเริ่มใช้ไตรมาส 2/65 ภายในแบงก์ชาติ ก่อนขยายวงไปยังประชาชนทั่วไป-ร้านค้า-ผู้ให้บริการทางการเงิน

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมทดสอบการใช้งานจริง (Pilot Test) ของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับรายย่อย (Retail CBDC) พร้อมกับเปิดให้ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเข้ามาพัฒนาเชื่อมต่อระบบไปพร้อมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 2 ปี 2565 แต่จะทดลองใช้ในวงจำกัดภายใน ธปท. ก่อนที่จะขยายไปยังประชาชนทั่วไป ร้านค้าขนาดใหญ่และขยาดย่อมมีธุรกรรมการใช้จ่ายของประชาชนรายย่อยที่สูง รวมถึงผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นธนาคารและสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (นอนแบงก์)

ทั้งนี้ธปท.ได้เปิดผลการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย และผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน ต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน “The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand” ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2564 เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC และ Pilot Test โดยมีสาระสำคัญคือ

 

  1. การศึกษาผลกระทบของ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย

ผลการศึกษาชี้ว่า การออกแบบและการพัฒนา Retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย โดยจะมีลักษณะสำคัญ คือ (1) รูปแบบคล้ายเงินสด และไม่จ่ายดอกเบี้ย (2) อาศัยตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน

และ (3) มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมากๆ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน

ธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ e-money ได้บางส่วนในระยะต่อไป

  1. ผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ของ ธปท. และมองว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย เปิดกว้างต่อการเข้าถึงและการแข่งขันในอนาคต นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับแนวทางการออกแบบ Retail CBDC ข้างต้นเพื่อจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อภาคการเงินไทย

ทั้งนี้ ผลสำรวจบางส่วนเสนอเพิ่มเติมให้ ธปท. มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และการใช้งานของ Retail CBDC แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะความแตกต่างจากการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน

  1. แผนการทดสอบ Retail CBDC เพื่อใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot test)

ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและทดสอบการใช้งาน Retail CBDC ไว้ว่า

1) การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อศึกษาการใช้งาน Retail CBDC ในการรับแลก หรือใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงจำกัด ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบในไตรมาส 2 ปี 2565

2) การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation Track) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาต่อยอดการใช้งาน Retail CBDC ในกรณีต่างๆ โดย ธปท. จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบ

การพัฒนา “เงินบาทดิจิทัล” เพื่อคนไทยถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ช่วยให้ระบบการชำระเงินของไทยพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดกว้างรับนวัตกรรมจากผู้ให้บริการทางการเงินเอกชนที่จะมาต่อยอดเข้ากับระบบเงินบาทดิจิทัล และอาจเป็นเครื่องมือช่วยให้นโยบายภาครัฐเข้าถึงประชาชนได้ตรงจุด ไม่รั่วไหล ติดตามวัดผลได้ดีขึ้นด้วย

“เงินบาทดิจิทัล” ต่างจาก “เงินสด” รูปธนบัตรและเหรียญกษาปณ์อย่างไร? ปกติเวลาจะใช้เงินสดหลายคนต้องถอนเงินฝากมานับและใช้จ่ายเงินผ่านมือกัน ซึ่งจะต่างจาก “เงินบาทดิจิทัล” ที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้ แต่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และมีสินทรัพย์ภาครัฐหนุนหลังเหมือนเงินสด ก่อนจะใช้ต้องเอาเงินฝาก/ เงินสดมาแลกไปเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีสมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต แม้แต่บัญชีเงินฝากก็จะสามารถเข้าถึงใช้งานได้ด้วย เช่น อาจใช้งานผ่านการ์ดหรือชิปเหมือนบัตรเครดิต

เงินบาทดิจิทัล” นี้จะต่างจากการโอนเงินกันผ่านบัญชีเงินฝาก บนแอปในสมาร์ทโฟน/อินเตอร์เน็ตแบงกิ้งที่ก็ใช้ได้สะดวกดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างไร? สำหรับคนที่ชอบใช้เงินสด เพราะใช้จ่ายกันโดยตรงได้เลย ถือไว้ปลอดภัยไม่เสี่ยง สภาพคล่องสูง การมีเงินบาทดิจิทัลเพิ่มมาจะช่วยลดสัมผัส ลดต้นทุนเดินทางฝากถอน/เก็บรักษาเงินสด และเพิ่มประสิทธิภาพให้เงินสดน่าใช้ขึ้นด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เหมือนตัดถนนใหม่ที่ใครก็ใช้ได้ หรือมาต่อยอดนวัตกรรมบริการการเงินใหม่ๆ เพิ่มได้ในอนาคต ทำให้ธุรกรรมเงินสดดิจิทัลวิ่งฉิว ถึงไว เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ต้องโอนเงินฝากผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งอาจมีข้อจำกัดบางเวลาหากคนใช้เยอะ หรือให้ใช้ได้เฉพาะกลุ่ม

ธนาคารกลางต่างประเทศก็สนใจศึกษาพัฒนา CBDC กันมากในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เน้นพัฒนาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) ซึ่งปกติจะตัดชำระกันผ่านบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกลาง สำหรับประเทศไทยทดลองใช้ wholesale CBDC ได้ผลสำเร็จดีแล้ว ก็เริ่มมีแผนขยับขยายไปยังภาคธุรกิจและประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงินใหม่นี้ด้วย 

หลายประเทศมีความคืบหน้าเร็วในการออกใช้เงินสดดิจิทัลเพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ เช่น ประเทศบาฮามาสที่ต้นทุนขนเงินสดสูงมาก เพราะเป็นหมู่เกาะ ประเทศจีนมีระบบการชำระเงินพึ่งพาธุรกิจเอกชนรายใหญ่ไม่กี่ราย อาจเกิดการผูกขาด สุ่มเสี่ยงความมั่นคงทางเศรษฐกิของประเทศ หรือประเทศสวีเดนที่ใกล้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มที คนใช้เงินสดลดเหลือ 1% ของ GDP และหันไปพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานบริการชำระเงินของภาคเอกชนไม่กี่รายแทน บางกลุ่มที่ยังใช้เงินสดก็เริ่มเข้าถึงยาก จึงเร่งพัฒนาเงินดิจิทัลของตนเองขึ้น

ประเทศจีน ที่ทุกท่านคงทราบดี นับว่าเป็นประเทศที่มีความคืบหน้าในการเป็น สังคมไร้เงินสด(Cashless Society) โดยใช้ Alipay หรือ WeChat Pay จ่ายเงิน เพียงแต่ที่จีนใช้กันอย่างมาก เพราะประชาชนกลัวธนบัตรปลอม จนทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่นและก่อให้เกิดการศรัทธาในการใช้เงินบน e-wallet แทน เพียงแต่ทุกวันนี้เงินที่อยู่ใน Alipay ก็ยังสามารถถอนออกมาเป็นเงินสดได้ ซึ่งรัฐบาลกลางของประเทศก็ได้ออกความคิดที่จะทำ เงินหยวน ดิจิทัล (Yuan Digital) ที่ออกจากรัฐบาล โดยมีค่าเท่ากับ เงินหยวนจริง ๆและทดลองใช้กับธุรกิจ-ประชาชนได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก

ศัพท์ทาง fintech จะเรียกว่า Stable Coin คือ เงินผูกกับค่าใดค่าหนึ่ง ถ้าค่าเงินนั้นขึ้น หรือลงเงินดิจิทัลนั้นก็จะขึ้นลงตาม (ซึ่งต่างจาก Bitcoin ที่เป็น Trading Coin ที่สามารถเก็งกำไร และราคาขึ้นลงตามการซื้อขาย) โดยที่ Stable Coin นั้นก็คงคล้ายกับโปรเจค Libra ที่ทาง Facebook ทำออกมา แต่ได้รับการต่อต้านอย่างมาก เพราะเน้นเรื่องการโอนเงินออกจากประเทศมากเกินไป และไม่ได้ออกโดยรัฐบาล

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังมากว่า 2 ปี ภายใต้โปรเจค “อินทนนท์” โดยที่แบงก์ชาติก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับรัฐบาลจีนในการให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้เงินดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด และเงินเหล่านั้นก็มีเสถีรภาพความมั่นคงเทียบเท่าเงิน Fiat (เงินธนบัตรดั้งเดิมที่เราใช้อยู่) ไม่นานใกล้ถึงคิวของประชาชนแล้ว คงต้องจับตาว่าโครงสร้างระบบรองรับของไทยจะเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพแค่ไหน ระหว่างรอยต่อแห่งการเปลี่ยนแปลง ระบบการเงินโลก!??