สนามบินคาบูลระทึก-‘มือปืน’บุกโจมตีตาย1เจ็บ3 ‘ไบเดน’ยังหวังไม่ต้องเลื่อนถอนทหารสิ้นเดือนนี้ แต่ทางตาลิบันยืนยันจะไม่ยอมให้มีกองกำลังต่างชาติอยู่ในอัฟกานิสถานหลังกำหนดเส้นตายที่ได้ลงนามกันมาแล้ว ดูท่าความวุ่นวายจะบานปลายเป็นสงครามได้ทุกเมื่อ เมื่อตาลิบันถูกกดดันทั้งทางการเมืองการทหาร ขณะที่ยังชุลมุนไม่ราบรื่น การประชุมจัดตั้งรัฐบาลร่วมยังดำเนินต่อไป โดยกลุ่มตอลิบันยังใช้คนรัฐบาลเก่าเข้าร่วม แต่ประกาศไม่เอาระบอบประชาธิปไตยต.ต.
สำนักข่าว รอยเตอร์ และอาร์ที รายงานว่าเมื่อ 23 ส.ค.2564 โดยอ้างข้อมูลจากกองกำลังเยอรมนีว่า เกิดเหตุปะทะที่สนามบินคาบูล อัฟกานิสถาน หลังจากมีกลุ่มมือปืนซุ่มยิงโจมตีหน่วยรักษาความปลอดภัยสนามบินซึ่งเป็นชาวอัฟกัน ทำให้มีการยิงตอบโต้ โดยการปะทะดังกล่าวได้มีกองกำลังสหรัฐฯ และเยอรมนีเข้าร่วมด้วย หลังการปะทะพบชาวอัฟกันเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 3 ราย
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ แถลงเมื่อ 22 ส.ค.2564 ว่า การอพยพผู้คนหลายพันคนออกจากกรุงคาบูลเป็นไปอย่างยากลำบาก กองกำลังทหารสหรัฐฯ อาจต้องอยู่ในกรุงคาบูลต่อไปหลัง 31 ส.ค.64 ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่สหรัฐฯ จะอพยพพลเมืองชาวอเมริกันและชาวอัฟกันที่สนับสนุนสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับผู้นำของตอลีบันระบุว่า จะไม่อนุญาตให้กองกำลังต่างชาติอยู่ในอัฟกานิสถานหลังเส้นตายดังกล่าว
ด้านอังกฤษเผยเตรียมขอให้วอชิงตันทบทวนเรื่องนี้เพื่อจัดการอพยพชาวตะวันตกและผู้ร่วมงานชาวอัฟกันให้เสร็จสิ้นก่อน
สถานการณ์ในกรุงคาบูล อัฟกานิสถานยังคงโกลาหลวุ่นวาย แม้ผ่านมากว่า 7 วันหลังกองกำลังติดอาวุธตาลีบันเข้ายึดเมืองสำเร็จ โดยเฉพาะบรรยากาศรอบสนาม[บินนานาชาติกรุงคาบูลที่ชาวอัฟกันที่มีส่วนในการช่วยเหลือตะวันตกจำนวนมากต่างพยายามหาช่องทางหลบหนีออกนอกประเทศ
ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 22 ส.ค. 2564 จำนวนผู้ที่รอดขึ้นเครื่องบินในสนามบินคาบูลเพิ่มขึ้นเป็น 18,500 คน และอีกว่า 2,000 คนติดอยู่ที่ประตูเพื่อรอเข้าไปด้านใน
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น คือการที่สหรัฐฯ ตัดสินใจออกวีซ่าผู้อพยพกรณีพิเศษ (Special Immigrant Visa : SIV) ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีชื่อหรือหมายเลขเอกสาร แล้ววีซ่าดังกล่าวก็ก๊อบปี้ด้วยการถ่ายภาพหน้าจอ แล้วส่งต่อจากชาวอัฟกันที่มีคุณสมบัติครบสำหรับได้รับวีซ่า ไปยังชาวอัฟกันอีกหลายพันคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ เกิดกรณีสมาชิกครอบครัวที่ได้อพยพ ต้องพลัดพรากจากกันและถูกส่งไปคนละประเทศด้วย สะท้อนความไร้ระบบระเบียบในการจัดการการอพยพคน นั่นอาจหมายถึงสหรัฐไม่เคยมีเจตนาจะปกป้องสมุนบริวารอัฟกันแม้แต่น้อย
CNN reports on an unknown sniper firing at the Kabul airport in Afghanistan. pic.twitter.com/AvO5zXYvym
— RNC Research (@RNCResearch) August 23, 2021
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตภายในและโดยรอบสนามบินคาบูลแล้วเกือบ 20 ศพ จากหลายสาเหตุทั้งเหยียบกันตายและถูกยิง โดยโฆษกกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรเผยว่า ในวันเสาร์ มีพลเรือนอัฟกันเสียชีวิตจากการเหยียบกันอีก 7 ศพ โดย 1 รายเสียชีวิตที่หน้าสนามบิน ส่วนที่เหลือเหตุเกิดที่หน้าโรงแรม บารอน โฮเทล ใกล้กับสนามบิน
ทั้งนี้ สนามบินในกรุงคาบูลเป็นหนึ่งในไม่กี่เส้นทางสำหรับเดินทางออกจากอัฟกานิสถาน โดยจนถึงตอนนี้มีชาวอัฟกานิสถานและชาวต่างชาติได้อพยพออกไปแล้วอย่างน้อย 26,500 คน โดยสหรัฐฯ ขนคนออกไปมากที่สุด ราว 17,000 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 2,500 คนเป็นพลเรือนสหรัฐฯ ขณะที่สหราชอาณาจักรอพยพประชาชนออกไป 4,000 คน นับตั้งแต่ 13 ส.ค.
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานต่อมาว่า นักรบกลุ่มตอลิบันได้พยายามเข้ามาจัดระเบียบบริเวณด้านนอกสนามบินนานาชาติแล้ว โดยสั่งให้ประชาชนเข้าคิวกันให้เรียบร้อย และไม่อนุญาตให้ฝูงชนไปรวมตัวกันตามบริเวณรั้วและกำแพงด้านนอกของสนามบิน ไม่มีรายงานความรุนแรงเกิดขึ้น