Truthforyou

ชำแหละเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้?!? ส่อ‘ล็อก’ ผู้รับเหมาง่าย จับตาขาใหญ่ใครจ่อกินรวบ??

การประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6  กม.วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ของ รฟม. ที่เปิดขายซอง TOR ไปเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ผู้รับเหมายื่นซองข้อเสนอวันที่ 8 ต.ค.ศกนี้ แต่ยังไม่ทันได้ยื่นซองประมูลก็ส่งกลิ่นโชยออกมาให้เห็นกันแล้ว วงการรับเหมาแฉชัดจ่อล็อกสเปคเอื้อผู้รับเหมารายใหญ่ ใช้เกณฑ์เทคนิคและราคา 30-70 ถอดแบบประมูลสายสีส้ม อ้างพื้นที่โครงการฯซับซ้อน หวั่นฮั้วประมูล ซ้ำรอยทางคู่สายเหนือ-อีสาน ที่รายใหญ่ 5 รายรวบ 5 สัญญายังท้วงกันไม่จบ

“โครงการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมแห่งประเทศไทย (รฟม.) แยกเป็นระบบงานโยธา 78,813 ล้านบาท ค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท การก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 3,582 ล้านบาท

ล่าสุดรฟม. ออกประกาศประกวดราคาก่อสร้างระบบงานโยธา วงเงิน 78,813 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2564ที่ผ่านมา มีกำหนดขายซองตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-7 ต.ค.2564 และมีกำหนดให้เอกชนเข้ายื่นซองข้อเสนอวันที่ 8 ต.ค. 2564 โดยนอกเหนือจากการแบ่งเนื้องานโครงการออกเป็น 6 สัญญาแล้ว มีการกำหนดเงื่อนไขการพิจารณาเพิ่มเติมที่ผิดแผกแตกต่างไปจากการประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์อื่น ๆ ด้วย

ทั้ง 6 สัญญาโครงการนี้ ประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.9 กม.และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี ราคากลาง 18,574.868 ล้านบาท 

สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า ระยะทาง 2.3 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี ราคากลาง 15,155 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ระยะทาง 3.1 กม.และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี ราคากลาง 14,452.35 ล้านบาท

สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง เป็นงานออกแบบควบคู่การก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง ช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้า-ดาวคะนอง ระยะทาง 4 กม. และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี ราคากลาง 14,337 ล้านบาท 

สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง-ครุใน พร้อมอาคารจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร ราคากลาง 12,769 ล้านบาท และ

สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างวางระบบรางรถไฟฟ้าตลอดแนวเส้นทาง ราคากลาง 3,423 ล้านบาท)

จุดที่น่าสนใจไม่ใช่เรื่องการตัดแบ่ง 6 สัญญา แต่มันไปอยู่ตรงที่มีการกำหนดเกณฑ์พิจารณาผู้ชนะการประมูลแต่ละสัญญาจากข้อเสนอด้านเทคนิค และราคาประกอบกันสัดสัดส่วน 30-70% ที่เสมือนแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 142,700 ล้านบาท ของรฟม.เลยก็ว่าได้

ด้วยเหตุผลที่ว่า “โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เป็นโครงการใหญ่ ที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง ในการก่อสร้าง จำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีศักยภาพ”

การประมูลด้วยเงื่อนไขที่เคยยึดถือปฏิบัติกันมา บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่จะผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคได้ต้องมีคะแนนประเมินด้านเทคนิค แต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 80 คะแนนและคะแนนรวมด้านเทคนิคต้องไม่ต่ำกว่า 85 คะแนน ถือเป็นเกณฑ์พิจารณาที่เข้มข้นอยู่แล้ว

กรณีรฟม.กำหนดเงื่อนไขใหม่ ด้วยการทอนคะแนนด้านเทคนิคที่ได้ลงมาเหลือ 30 คะแนนแล้วไปพิจารณาข้อเสนอทางการเงินประกอบอีก 70% ดูย้อนแย้งกับเหตุแห่งการปรับเกณฑ์ใหม่ที่ว่า “โครงการใหญ่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง”

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวจึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีเจตนาให้ออกมาเอื้อกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใดรายหนึ่งหรือไม่ เพราะอาจกลายเป็นการเปิดช่องให้ “กรรมการคัดเลือกสามารถบวกเพิ่มคะแนนให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใดรายหนึ่งก็เป็นได้”??

เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้แบบ เทคนิค30%+ราคา 70%มีข้อเสียอย่างไร? เรื่องนี้ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ได้เคยแจกแจงไว้อย่างชัดเจนว่า การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคามีข้อเสียคือ

  1. รฟม. อาจต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่า: การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคาอาจทำให้ผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุดไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะเขาอาจได้คะแนนรวม (ด้านเทคนิค+ด้านราคา) น้อยกว่า ทำให้ รฟม. ต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่า
  2. ล็อกผู้รับเหมาได้ง่ายหากกรรมการคัดเลือกต้องการช่วยผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งสามารถทำได้ง่าย: เนื่องจากมีการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคา หากเห็นว่าผู้รับเหมารายนั้นเสนอราคาค่าก่อสร้างสูงซึ่งจะทำให้ได้คะแนนด้านราคาต่ำกว่าก็จะเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคให้มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ โครงการขนาดใหญ่จึงใช้เกณฑ์ประมูลนี้น้อยมาก รวมทั้งโครงการของ รฟม. ด้วย เท่าที่ทราบ รฟม. เคยใช้เกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิคพร้อมกับด้านราคามาก่อน แต่เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หลังจากนั้น รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์นี้อีกเลย เพราะรู้ว่าเกณฑ์นี้ลดความสำคัญของข้อเสนอด้านเทคนิค ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อน ดังนั้น ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าต่อมา รฟม. จึงเลือกพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านจึงจะพิจารณาข้อเสนอด้านราคา หากสอบตกก็จะไม่พิจารณาข้อเสนอด้านราคา ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อข้อเสนอด้านเทคนิคอย่างแท้จริง ทำให้ได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง และคิดราคาค่าก่อสร้างต่ำกว่า

เกณฑ์ประมูลโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ โดยการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคามีข้อดีคือ

  1. รฟม. เสียค่าก่อสร้างต่ำกว่า เกณฑ์นี้มีการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคา หากสอบผ่านด้านเทคนิคจึงจะพิจารณาด้านราคา ผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคาจะทำให้ให้ รฟม. ได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถสูง เหมาะสมกับงาน และทำให้ รฟม. เสียค่าก่อสร้างต่ำกว่าด้วย
  2. ล็อกผู้รับเหมาได้ยาก การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อนข้อเสนอด้านราคาจะทำให้กรรมการคัดเลือกไม่สามารถช่วยผู้รับเหมารายใดรายหนึ่งได้ เนื่องจากผู้รับเหมาที่สอบผ่านด้านเทคนิคจะต้องเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดเท่านั้นจึงจะได้รับการคัดเลือก กรรมการไม่สามารถให้คะแนนด้านราคาตามความต้องการของตนได้

ด้านผู้รับเหมาที่น่าจะเข้าเกณฑ์ใหม่นั้น ดร.สามารถฯ ประเมินว่า การที่ รฟม. ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคร่วมกับด้านราคา ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ จะทำให้มีผู้รับเหมารายใหญ่เพียง 4-5 รายเท่านั้น ที่ได้งานไป

“ผู้รับเหมาที่ทำอุโมงค์ได้มีน้อย และแม้ว่าจะอ้างว่า เป็นการเปิดประกวดราคานานาชาติ (ICB) ให้ผู้รับเหมาต่างชาติเข้ามาจริง แต่ก็ยังมีการกีดกันอยู่ดี เพราะเขาบอกว่าต้องเอาผลงานในประเทศไทย และผู้รับเหมาต่างชาติจะเป็น lead firm (ผู้นำ) ไม่ได้ ต้องแห่ตามขบวนมากับผู้รับเหมาไทย

สุดท้ายผมประเมินว่า “การประมูลโครงการนี้น่าจะมีผู้รับเหมารายใหญ่ๆ 4-5 เจ้า แบ่งงานกันใน 6 สัญญา ส่วนบริษัทอื่นๆถ้าจะได้ ต้องตามขบวนแห่ไป และหาก รฟม.บอกว่าทำทุกอย่างตามระเบียบ อ้างว่าทำตามกรมบัญชีกลาง ผมอยากถามว่า แล้วทำไมจึงไม่กำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกว่า ให้เปิดกว้างกว่า ก็ทำได้ และอยู่ในระเบียบของกรมบัญชีกลางเหมือนกัน”

มารู้จัก 5 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการรับเหมาก่อสร้างที่ตุนโครงการเม็กกะโปรเจกต์ในไทยมากที่สุด และเป็นที่จับตาว่าจะแบ่งเค็กรถไฟฟ้าสารพัดสีวนกันไปได้แก่

1.CK หรือ ช.การช่าง ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีธุรกิจรอบๆตัว หรือบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจด้านสาธารณูปโภคทั้งธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมรวมถึงน้ำประปา

  1. STEC หรือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ถือว่าขณะนี้มีงานในมือมากที่สุดเลยก็ว่าได้ และนอกเหนือจากธุรกิจรับเหมาแล้วก็ยังมีบริษัทร่วมทุนไปพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งทั้งสนามบิน และด้านอสังหาริมทรัพย์

3.UNIQ หรือ ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะคอยรับงานโครงการประเภทโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐไม่ค่อยออกประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ก็ส่งผลให้ผลประกอบการรายได้และกำไรของ UNIQ หายลดลงตามไปด้วย 

  1. ITD หรือบริษัท อิตาเลียนไทย อดีตนับเป็นเบอร์หนึ่งของวงการ แต่มีข่าวเสียหายของผู้บริหารเลยมีผลกระทบ อย่างไรก็ตามผู้บริหารชุดใหม่ก็เข้าร่วมประมูลและได้โครงการสำคัญไปไม่น้อย

5.บริษัทเอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทฯที่เข้าร่วมประมูลรถไฟทางคู่และอยู่ในกลุ่มผู้ชนะประมูล แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบเนื่องจากถูกร้องเรียน เข้าร่วมลงนามสัญญาก่อสร้างไฮสปีดเทรน

Exit mobile version