ได้เวลาทวงคืนสมบัติชาติ!!คัดค้านประมูลแบบ”ให้ใบอนุญาต” เพราะเปิดช่องผูกขาดกินรวบ จับตาเกณฑ์ประมูลใหม่ คนไทยต้องรู้ทัน!!

1566

อย่าเปิดช่องให้มีอัศวินกินดาวเทียมคนใหม่ เมื่อดาวเทียมกำลังมาถึงยุค’ผลัดมือ’

วิวาทะเรื่อง สมควรจะทวงคืนดาวเทียมไทยกลับมาเป็นสมบัติชาติหรือไม่ เข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ เริ่มขึ้นแล้วในหน้าสื่อมวลชนหลายฉบับ และนพ.วรงค์ เดชกริชวิกรมแห่งพรรคไทยภักดี ก็ไม่รอช้าตอบโต้ชี้แจงทันควันมีอะไรบ้างหมอวรงค์ฯกล่าวว่า เนื่องจากมีข้อมูลเผยแพร่ผ่านสื่อ กรณีดาวเทียม แต่ไม่กล้าใส่ชื่อตนเอง ใช้ว่าเป็นแหล่งข่าว นพ.วรงค์ฯท้าว่าถ้าทุกอย่างเป็นความจริง น่าจะกล้าๆหน่อยครับ บังเอิญมีการเผยแพร่ผ่านสื่อหลายสำนัก เลยจำเป็นต้องชี้แจง

มาดูคำตอบของหมอวรงค์ฯกันว่าเป็นอย่างไร

1.เขาอ้างว่าไทยได้เปิดเสรีด้านโทรคมนาคม ตั้งแต่ปี 2549 ตามข้อผูกพันที่ไทยมีอยู่กับองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

ตอบ….เขาพูดถูกบางส่วน แต่การเปิดเสรีด้านโทรคมนาคม ในปี2549 ของประเทศไทยนั้น ไม่รวมการปล่อยดาวเทียม สู่ตำแหน่งวงโคจร ที่เป็นสมบัติของชาติ ต้องย้ำว่าคนที่พูดเข้าใจไม่ถูกต้อง การเปิดเสรีโทรคมนาคมนั้น ไม่รวมเรื่องดาวเทียม เพราะดาวเทียม นอกจากเป็นเรื่องการค้าการลงทุน ยังรวมเรื่องความมั่นคงด้วย จึงไม่อยู่ในเรื่องการเปิดเสรีโทรคมนาคม ที่ทำกับ WTO ปี 2549

มีนักการเมืองบางกลุ่ม ต้องการแปรระบบสัมปาทานดาวเทียมไปสู่ใบอนุญาต แต่ทำไม่ได้เพราะชาติจะเสียหาย

2.ทุกประเทศต่างมีสิทธิใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมได้ทัดเทียมกัน และวงโคจรดาวเทียมบางตำแหน่งที่มีการยื่นขอจองเอาไว้มากกว่า 1 ประเทศ ก็อาจใช้งานร่วมกัน อย่างกรณีไทยคม 7 และเอเซียแซท 6 ของจีนที่ใช้วงโคจรดาวเทียมร่วมกัน

ตอบ….เป็นการให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ตำแหน่งวงโคจรนั้น ทุกประเทศมีสิทธิ์ขอ ถ้าITUให้ประเทศไหน ก็เป็นสิทธิ์ของประเทศนั้น เช่นตำแหน่งของไทยคม 7 คือ120°E เป็นสมบัติของชาติไทย แต่เพราะเป็นใบอนุญาตที่ยิ่งลักษณ์ออกให้ จึงเอาตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นสมบัติชาติไปหากินกับฮ่องกง ทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ไปอย่างมาก ทั้งๆที่ตำแหน่งนี้เป็นของไทย แต่ให้คนอื่นมาหากินร่วม ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ แต่ครอบครัวได้

สิ่งที่เขาไม่พูดถึงเลย คือครม.ยิ่งลักษณ์เห็นชอบให้กสทช.ออกใบอนุญาต ให้ปล่อยไทยคม7และ8 นั้นไม่ชอบด้วยกฏหมาย และเอื้อประโยชน์ให้ไทยคม ตามที่ไทยคมต้องการ

3.การดำเนินการของรัฐบาลและกระทรวงดีอีเอสใน 7 ปีที่ผ่านมากลับไม่เคยทำอะไรเลย จึงทำให้ไทยสูญเสียศักยภาพด้านอวกาศไปทั้งหมด และยิ่งกรณีการไปถอนไฟล์ลิ่งจองตำแหน่งยิงดาวเทียมจากไอทียู ทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมบางดวงออกไป

ตอบ….ผมคิดว่าเรื่องนี้อยู่ๆ เราจะไปถอนไฟล์ลิ่งทำไม ให้ไปคุยกับไทยคมเองครับ น่าจะพอได้คำตอบว่า เกิดอะไรขึ้น ต้องตั้งคำถามถามกลับจริงไหม ที่มีข่าวว่าไทยคมเคยขอไปประชุมITU ในนามประเทศไทย

4.เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปใช้วิธีประมูลให้สัมปทานดาวเทียมได้เหมือนเดิมได้อีกแล้ว เพราะกฎหมายโทรคมนาคมปี 2544 และพ.ร.บ.กสทช. ยกเลิกกฎหมายผูกขาดเดิมไปหมดแล้ว

ตอบ….คำพูดนี้ถูกครับ แต่ผิดสำหรับเรื่องสิทธิ์ในวงโคจรดาวเทียม เรื่องโทรคมนาคมในประเทศ เปิดเสรี แต่อย่าเอาเรื่องโทรคมนาคมในประเทศ มาปนกับเรื่องตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ที่อยู่ในอวกาศ ซึ่งเป็นสมบัติชาติ จะให้เป็นใบอนุญาตไม่ได้ ช่วยไปเปิดรัฐธรรมนูญมาตรา60 ของรัฐธรรมนูญ 2560ดูด้วยครับ

ปัญหาของการประมูลใบอนุญาตครั้งนี้ นอกจากเป็นสิ่งที่ในระบบดาวเทียม ที่ไม่มีประเทศไหนเปิดเสรี หรือให้ใช้ใบอนุญาต ที่สำคัญ มีบริษัทผูกขาดอยู่บริษัทเดียวด้วย แบบนี้ถ้าเขาประมูลระบบใบอนุญาตได้หมด แทบจะต้องยกประเทศให้เขาเลยครับ

ชัดเจนว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะได้ทบทวนความจริงเกี่ยวกับ การบริหารจัดการดาวเทียมของไทยแบบไหน ให้ประโยชน์สูงสุด กว่าจะหมดอายุสัมปทาน ภายใต้ทุนผูกขาดดาวเทียม ประเทศไทยต้องรอมาถึง 30 ปี รัฐบาลไม่ควรให้วงจรอุบาทว์ การผูกขาดต้องเกิดขึ้นอีก

สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ฉลองปลดแอกการผูกขาด ด้วยการดึงสิทธิ์ในดาวเทียมนี้ กลับมาเป็นของแผ่นดิน แต่ไม่ใช่ดึงกลับมา แล้วเอามาเอื้อทุนผูกขาดรายใหม่ การที่กสทช.ประกาศล้มประมูลไปแล้ว ถือเป็นชัยชนะขั้นแรก ที่จะต้องเดินหน้าทวงคืนต่อไป หน่วยงานของรัฐฯต้องบริหารด้วยความโปร่งใส และพิสูจน์ความโปร่งใส ด้วยการสามารถลดค่าบริการอินเตอร์เนตให้กับประชาชนได้

หากจะกล่าวถึงขบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากกิจการดาวเทียมโดยมิชอบในอดีตนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่อุกอาจมาก

หลายคนคงจำได้ ในบรรดาพฤติการณ์อาศัยอำนาจรัฐยุครัฐบาลทักษิณ เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัว 5 เรื่อง ซึ่งปรากฏชัดเจนในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเหตุให้ต้องยึดทรัพย์ทักษิณนั้น ประกอบด้วย

กรณีที่ 1 การแปลงส่วนแบ่งรายได้เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

กรณีที่ 2 การแก้ไขสัญญาโทรศัพท์มือถือ กรณีบัตรเติมเงิน ด้วยการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรเติมเงิน (Perpaid Card) ส่งผลให้เอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ให้แก่ บริษัท ทศท. ในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จากเดิมที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได

กรณีที่ 3 การแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่ออนุญาตให้ใช้โครงข่ายร่วม (โรมมิ่ง) เอื้อประโยชน์ให้กับชินคอร์ป และเอไอเอส

กรณีที่ 4 การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมโดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็น การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี ได้แก่ การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์, การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ 5 วันที่ 27 ตุลาคม 2547 รวมถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ในบริษัท ชินแซทฯ และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ เอื้อประโยชน์กับชินคอร์ป และชินแซทฯ

กรณีที่ 5 การให้เงินกู้เอ็กซิมแบงก์แก่พม่า เพื่อซื้อสินค้าและบริการเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป

ในกรณีทั้งหมดนี้ หลายเรื่องถูกตอกย้ำความจริง ด้วยการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำผิด กระทั่งศาลพิพากษาว่ามีความผิดไปหลายรายแล้วเช่น

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรณีเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 1 ปี

นายสุธรรม มะลิลา อดีต ผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 6) ให้บริษัทเอไอเอส ได้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือ Prepaid Card ในชื่อ วันทูคอล โดยมิชอบ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพิ่งมีคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ จำคุก 6 ปี และสั่งชดใช้ 4.6 หมื่นล้าน (รอฎีกาสู้คดีต่อ) เป็นต้น

นายทักษิณเอง ก็ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก คดีแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต 5 ปี ขณะนี้ยังหลบหนีคดีอยู่และบางกรณี ยังไม่มีการดำเนินคดีขึ้นไปสู่ชั้นศาล เช่น กรณีดาวเทียมไอพีสตาร์

  1. ในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดียึดทรัพย์ทักษิณ ชี้ชัดว่า ไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน เพราะเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 เห็นว่า ไอพีสตาร์เป็นโครงการใหม่ อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทาน “ดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ” เดิม และยังระบุว่า มีความเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ

ลองคิดดู ในเมื่อมีเทคโนโลยีแตกต่างจากดาวเทียมไทยคม 3 อย่างสิ้นเชิง แถมใช้แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจในต่างประเทศเป็นหลักไม่สามารถอ้างว่าเป็นดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ

ก็ในเมื่อเป็นดาวเทียมคนละประเภท อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่บริษัทของทักษิณได้สัมปทานมาในยุครัฐบาล รสช.ปี 2534 ดังนั้น ก่อนจะประกอบกิจการ ภาครัฐย่อมจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งในด้านการบริหารงาน และอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ แต่ในยุครัฐบาลทักษิณ เมื่อเข้ามามีอำนาจรัฐ หลบเลี่ยงกฎหมาย ถือหุ้นบริษัทสัมปทานดาวเทียมอยู่ด้วย ได้อาศัยอำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจดาวเทียมแก่บริษัทชินฯ ของตนเอง อย่างอุกอาจ ทำให้เกิดความเสียหายแก่แผ่นดินมูลค่าหลายหมื่นล้าน

เท่ากับว่า รัฐเสียหาย เพราะขาดดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ไปหนึ่งดวง จากการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทของทักษิณในขณะนั้น ได้ยิงดาวเทียม “ไอพีสตาร์” ได้สัมปทานดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศไปโดยไม่ต้องมีการประมูล

การไต่สวนพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พบพฤติกรรมการกระทำอย่างอุกอาจ ทั้งใช้วิธีกระทำการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการ ในลักษณะที่รวบรัดและรีบเร่ง ผิดปกติวิสัย รัฐมนตรีคมนาคมขณะนั้นถึงกับอนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองไปก่อน แล้วจึงมีการจัดทำหนังสือเวียนให้คณะกรรมการรับรองรายงานการประชุมภายหลัง เป็นต้น

พฤติการณ์นี้ ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า เป็นการกระทำที่เป็นการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการ ในลักษณะรวบรัด และรีบเร่ง เป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย แต่ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่า ฝ่ายนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานดาวเทียมพ่วงไอพีสตาร์ จะได้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ชดเชยผลประโยชน์แก่แผ่นดิน หรือถูกลงโทษจากกรณีนี้

รวมทั้งการทุจริต กรณีแก้สัญญาสัมปทานเป็นใบอนุญาตอย่างผิดกฎหมายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับพวก ที่หมอวรงค์ฯและทีมงานฟ้องร้องอยู่

สถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และปัญหาความมั่นคงของชาติตลอดจนภัยคุกคามรูปแบบใหม่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  จึงเป็นความจำเป็นและความรับผิดชอบที่หน่วยงานของรัฐจะปล่อยปละละเลย ปล่อยมือให้ทุนผูกขาดตระกูลใดผูกขาดทรัพย์สินของประเทศไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบต่อไปอีกไม่ได้  เป็นสิทธิ์ที่คนไทยจะเข้าร่วมภารกิจทวงคืนสมบัติชาติจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย  และหวังว่าในการจะบริหารจัดการทรัพยากรดาวเทียมของชาติในยุคนี้ จะไม่เปิดช่องให้มี “อัศวินกินดาวเทียมคนใหม่” ขึ้นมาหากินแบบอุกอาจได้เหมือนในอดีต