2 นักข่าวม็อบวืด! ศาลแพ่ง ยกคำร้อง โดนกระสุนยาง ขอให้เรียกสตช.มาไต่สวน เรียกค่าเสียหาย 1.4ล้าน!

2739

2 นักข่าวม็อบวืด! ศาลแพ่ง ยกคำร้อง โดนกระสุนยาง ขอให้เรียกสตช.มาไต่สวน เรียกค่าเสียหาย 1.4ล้าน!

จากกรณีเมื่อวันที่ 6 ส.ค.64 นายธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวพลัส เซเว่น (PLUS SEVEN) และ นายชาญณรงค์ เอื้ออุดมโชติ ช่างภาพ เดอะแมทเทอร์ พร้อมด้วย นางจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงสื่อได้รับบาดเจ็บ จากเหตุสลายการชุมนุม 18 กรกฎา 64 พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราว ห้าม ตร.ใช้กระสุนยาง

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ พ.3683/2564 ระหว่างนายธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวจาก PLUS SEVEN กับพวกรวม 2 คน กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จำเลยที่ 1) กับพวกรวม 4 คน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน

โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการประการใดบ้างเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลดังกล่าว และเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการหรือมีมาตรการอย่างไรต่อไปเพื่อให้คำสั่งของศาลดังกล่าวมีสภาพบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ หรือในประเด็นอื่นอันเกี่ยวข้องกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือมาตรการใดๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อบังคับตามคำสั่งศาลต่อไปนั้น

ศาลแพ่งได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว การที่โจทก์ทั้งสอง และสื่อมวลชนจะได้รับความคุ้มครอง โจทก์ทั้งสอง และสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนด้วย กรณีตามคำร้องโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่า สื่อมวลชนที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนแล้วหรือไม่ อย่างไรอันจะได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งดังกล่าว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะไต่สวนตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

โดยวันนี้ น.ส.จันร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมทีมงาน เดินทางมายังศาลแพ่ง เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนมาไต่สวน เนื่องจากไม่มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่จากเหตุการณ์การสลายชุมนุมเมื่อช่วงเย็นวันที่ 10 ส.ค. ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง ตามคำสั่งศาล โดยเห็นว่าศาลมีคำสั่งออกมาแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็รับหมายโดยชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 ส.ค. แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานยังเป็นในรูปแบบเดิม มีสื่อมวลชนอีก 2 ราย ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยาง ถึงจะไม่ได้รับบาดเจ็บมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ระมัดระวัง ไม่เป็นไปตามคำสั่งศาล ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลว่าจะมีการสั่งนัดไต่สวนหรือจะยกคำร้องหรือไม่

โดยวันนี้ศาลเเพ่งยังได้ มีคำสั่งในคดีนายธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าว PLUS SEVEN และ นายชาญณรงค์ เอื้ออุดมโชติ ช่างภาพประจำสำนักข่าว The MATTER ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ระหว่างไปทำข่าวการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 4 คน เรียกค่าเสียหายฐานละเมิด จำนวนทุนทรัพย์ 1,412,000 บาท

โดยมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จำเลยที่ 1) ในฐานะหน่วยงานของรัฐแต่เนื่องจากสถานการณ์ช่วงโควิดระบาดรุนแรงจึงยังไม่สามารถกำหนดวันนัด หากสถานการณ์คลี่คลายจะเรียกโจทก์และผู้ร้องมากำหนดวันนัด เพื่อส่งหมายเรียกคำฟ้องให้กับจำเลย ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป ส่วนจำเลยที่ 2-4 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้กระทำการโดยปฏิบัติหน้าที่ จึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองจะฟ้องให้รับผิดทางละเมิดหาได้ไม่ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2-4

อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมเมื่อวันที่  10 สิงหาคม เป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุม และสลายการชุมนุมอย่างถูกต้องตามหลักสากล เพราะผู้ชุมนุมก็มีการใช้อาวุธ ปาระเบิดใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ จนทำให้เจ้าหน้าที่ได้รบบาดเจ็บเช่นกัน