การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่และการที่รัฐบาลออกมาตรการณ์ล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่ล่าสุดกำหนดพื้นที่สีแดงคุมเข้มสูงสุด 29 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างชัดเจน ธนาคารแห่งประเทศไทยและองค์กรภาคเอกชนเช่น กกร.-หอการค้า ต่างวิเคราะห์ผลเสียหายที่เกิดขึ้น 5-6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งด้านการฉุดรั้งการบริโภคภายในประเทศด้านสินค้าเกษตรสูญ 1.38 หมื่นล้านบาท และกระทบการค้าโมเดิร์นเทรดถึง 70% แต่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรยังปังขยายตัวได้ดี 6 เดือนรับทรัพย์1.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนจากต่างประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่ผลสำรวจนักธุรกิจต่างชาติมองเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า
วันที่ 10 ส.ค.2564 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงและน่าจะยืดเยื้อ ซึ่งย่อมกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงและยังมีความไม่แน่นอนสูง
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลง โดยคาดว่าขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2564) เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19และการออกมาตรการล็อกดาวน์ในจังหวัดแดงเข้ม ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2564 สศก. พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2563 ที่หดตัว ถึงร้อยละ 3.1 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และช่วงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต โดยแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งปี 2564 สศก. ยังคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 ตามเดิมที่คาดการณ์ไว้
ขณะเดียวกันจากการวิเคราะห์ผลกระทบโควิด-19 พบว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ และเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อสาขาการผลิตทางการเกษตร 5 อันดับแรก (กรณี 5 เดือน)
พบว่า สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ การทำสวนผัก (มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท) รองลงมาคือ การทำสวนผลไม้ (มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท) การทำนา (มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท) การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง (มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท) และการเลี้ยงสัตว์ปีก (มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท) ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของประเทศไทย มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้และข้าว มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้โควิด -19 จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่การส่งออกสินค้าเกษตรไทย ยังขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า จึงนับเป็นอีกแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้
โดยเมื่อพิจารณาถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) พบว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 669,079 ล้านบาท หรือเพิ่ม 7.1%
สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้
ตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ ในอีกมุมหนึ่งภาคเกษตรยังเป็นภาคสำคัญที่รองรับการย้ายคืนถิ่นในช่วงการระบาดโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมือง และความรู้และเทคโนโลยี จึงถือเป็นการสร้างโอกาสการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรและเร่งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะกลุ่มแรงงานคืนถิ่นรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จะเพื่อเป็นกำลังสำคัญทั้งการสร้างมูลค่าใหม่ทางการเกษตร รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ
ด้านภาคเอกชน สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย (Foreign Business Confidence Index: FBCI) และผลสำรวจความเห็นดัชนีนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาส 2/64 ซึ่งทำการสำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 35 ประเทศ จำนวน 70 ราย ในระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2564 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติโดยรวมอยู่ที่ระดับ 27.7 ลดลงจาก 33.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจต่างชาติถึงปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พบว่า อันดับแรกคือวัคซีนที่ไม่เพียงพอ (42.68%) รองลงมาคือ การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังควบคุมไม่ได้ (13.41%) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (12.20%) และการว่างงานจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ (10.98%)
สแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปในขณะนี้ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นหากไทยสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดลุกลามไปสู่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกได้ โอกาสที่การส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ดีจะมีสูงมาก
สำหรับมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อไทยในขณะนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว สะท้อนได้จากยอดการยื่นขอรับสิทธิ BOI จากต่างชาติในปีนี้ที่เติบโตถึง 200% อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำให้เวลานี้คือการฉีดวัคซีน
“วัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องเร่งฉีดให้ได้เยอะที่สุดและเร็วที่สุด ถ้าทำได้การท่องเที่ยวและส่งออกของไทยจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ การเปิด Phuket Sandbox ของไทยในตอนนี้ก็เป็นเรื่องดี ช่วยให้นักธุรกิจอยากบินมาเจรจาการค้ากันมากขึ้น เพราะไม่ต้องกักตัวในโรงแรม” สแตนลีย์ กล่าว
ด้าน ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาปรับตัวลดลงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังมีความรุนแรง มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐได้มีการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) งดออกจากบ้านในเวลา 21.00-04.00 น. และขอให้งดภารกิจที่ต้องออกเดินทางนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็นในเวลากลางวัน ยกเว้นเพื่อจัดหาอาหาร ยา พบแพทย์ รับวัคซีน และอาชีพจำเป็น
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.7 เทียบกับระดับ 42.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต
ด้านนางสาวชลิดา จันทร์สิริพงศ์ กรรมการและเลขานุการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการเดินทางในพื้นที่ 29 จังหวัด ทำให้มีผลกระทบต่อยอดขายของ Modern Trade กว่าร้อยละ 70 ของของยอดขายทั้งประเทศ โดยในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมายอดขายของกลุ่มธุรกิจลดลงไปแล้วกว่า 270,000 ล้านบาท จากปกติยอดขายอยู่ที่ 4.4 ล้านบาท และขณะนี้ซัพพลายเชน ด้านการผลิตสินค้าต่างๆ ระบุ เริ่มมีได้รับผลกระทบ หลังจากหลายโรงงานประสบกับปัญหาเรื่องของแรงงาน แต่
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนด้านยอดขายโดยเฉพาะในกลุ่มนิติบุคคลที่เป็นเอสเอ็มอีรายย่อย ให้สามารถเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเพื่อเพิ่มยอดขาย รวมถึงลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีการค้า ออกไปจนถึงปี 2565 ตลอดจนสนับสนุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อรักษาการจ้างงานในภาพรวมของทั้งประเทศ