มีทหารอย่างน้อย 16 นายและพลเมืองหลายคนเสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์(27ก.ย.63) ในเหตุปะทะครั้งดุเดือดที่สุดระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานนับตั้งแต่ปี 2016 โหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพในแถบคอเคเซัสใต้ ซึ่งเป็นแนวท่อลำเลียงน้ำมันและก๊าซสู่ตลาดโลก สืบเนื่องจากความขัดแย้งเก่าแก่เรื่องดินแดนนากอร์โน-คาราบักที่ประกาศเอกราชจากอาเซอร์ไบจาน ล่าสุดอาร์เมเนียประกาศกฎอัยการศึกเรียกเกณฑ์ไพร่พลพร้อมรบ ขณะรัสเซียพยายามยื่นมือไกล่เกลี่ย
สำนักข่าวต่างประเทศเกือบทุกค่ายรายงานว่า ทางการนากอร์โน-คาราบัก ดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายอาร์เมเนียที่ประกาศเอกราชจากอาเซอร์ไบจานเมื่อปี 2534 ได้ประกาศกฎอัยการศึกและเรียกเกณฑ์ประชากรชายมาเป็นทหารทันที ภายหลังการปะทะเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน ซึ่งต่างฝ่ายต่างชี้โทษกันไปมา
นิโคล ปาชินยาน นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย โพสต์เฟซบุ๊ก “เตรียมพร้อมปกป้องมาตุภูมิอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเรา” ขณะประกาศกฎอัยการศึกและเกณฑ์ทหาร ต่อมาเขากล่าวอีกว่า อาเซอร์ไบจาน “ประกาศสงคราม” กับชาวอาร์เมเนีย
อาร์เมเนียกล่าวว่า อาเซอร์ไบจานโจมตีทางอากาศและยิงปืนใหญ่โจมตีนากอร์โน-คาราบักก่อน แต่อาร์เซอร์ไบจานกล่าวว่า พวกเขาตอบโต้การยิงปืนใหญ่ของอาร์เมเนีย
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของอาร์เมเนียกล่าวว่า มีพลเรือน 2 คน เป็นสตรีและเด็ก เสียชีวิตเพราะปืนใหญ่ของอาเซอร์ไบจาน ส่วนฝ่ายหลังกล่าวว่ามีพลเรือนอาร์เซอร์ไบจานเสียชีวิตหลายราย และบาดเจ็บ 6 ราย ขณะที่นากอร์โน-คาราบักบอกว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 10 นาย รายงานเหล่านี้ยังไม่ผ่านการตรวจยืนยันอย่างอิสระ
รัสเซียยื่นมือไกล่เกลี่ย-แต่ยังฮี่มโทษกันไปมา
กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียที่เป็นคริสเตียน กับอาเซอร์ไบจานที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เรียกร้องให้สมาชิกอดีตสหภาพโซเวียตสองชาตินี้หยุดยิงโดยทันทีและจัดการเจรจา
อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานขัดแย้งกันกรณีนากอร์โน-คาราบักมายาวนานนับแต่กบฏแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายอาร์เมเนียยึดดินแดนนี้จากอาเซอร์ไบจานหลังโซเวียตล่มสลายช่วงทศวรรษ 1990 และทำให้ล้มตายถึง 30,000 คน สองชาติเคยทำความตกลงหยุดยิงเมื่อปี 2537 แต่ยังมักกล่าวโทษกันไปมาว่าอีกฝ่ายโจมตีใกล้กับนากอร์โน-คาราบัก และตามแนวชายแดนที่แบ่งแยกสองประเทศ
ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ทำให้ประเทศในภูมิภาคย่านนี้และในโลกตะวันตกกังวล เพราะอาจก่อความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคคอเคซัสใต้ ซึ่งเป็นระเบียงสำหรับท่อส่งก๊าซที่ขนส่งน้ำมันและก๊าซสู่ตลาดโลก
กระทรวงกลาโหมอาร์เมเนียกล่าวว่า ทหารของพวกเขาทำลายรถถังของอาเซอร์ไบจานได้ 3 คัน และยิงเฮลิคอปเตอร์ตก 2 ลำ ยิงโดรน 3 ลำ ตอบโต้ที่อาเซอร์ไบจานโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน รวมถึงกรุงสเตปานาเกิร์ต เมืองหลวงของนากอร์โน-คาราบัก ด้านอาเซอร์ไบจานปฏิเสธคำแถลงของกระทรวงกลาโหมอาร์เมเนีย โดยบอกว่าพวกเขาได้เปรียบเหนือศัตรูที่แนวหน้า และกล่าวโทษกองทัพอาร์เมเนียว่าเปิดฉากโจมตีแบบจงใจและมีเป้าหมายตามแนวชายแดน
อิลฮาม อาลีเยฟ ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน แถลงต่อประชาชนทางโทรทัศน์ว่า อาเซอร์ไบจานมีเหตุผลที่ถูกต้องในการปกป้องดินแดนของตน และจะได้รับชัยชนะกองทัพอาร์เมเนียแน่นอน กระทรวงกลาโหมอาเซอร์ไบจานกล่าวว่า มีพลเรือนเสียชีวิตด้วยหลายคน แต่ไม่ระบุจำนวนแน่ชัด
ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรทำให้เกิดการต่อสู้ครั้งล่าสุด ที่ถือว่าหนักที่สุดนับตั้งแต่การปะทะกันในเดือนกรกฎาคม ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 16 รายจากทั้งสองฝ่าย