ปิยบุตรโหมหนัก! ยอมรับปฏิรูปสถาบัน ปชช.เห็นด้วยไม่มาก โอดม็อบลืมพูดถึงน้อย

1927

จากที่วันนี้ 3 สิงหาคม 2564 ปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการกลุ่มคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยนำเสนอข้อเสนอ จำนวน 5 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการเชื่อมโยงไปยังอานนท์ และกลุ่มเพนกวิน ที่เคยพูดถึงเรื่องนี้

สำหรับข้อเสนอของนายปิยบุตร ซึ่งเจ้าตัวอยู่ประเทศฝรั่งเศส มีเนื้อหาระบุว่า ข้อเสนอ 5 ข้อต่อขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

วันที่ 3 สิงหาคม ปีที่แล้ว อานนท์ นำภา ได้ปราศรัยประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน การปราศรัยครั้งนั้น คือ การนำประเด็นสถาบันกษัตริย์มาพูดในที่สาธารณะ ที่ไม่ใช่เวทีเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัย ที่ไม่ใช่ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ใช่ในพื้นที่ของสถาบันการเมือง แต่พูดกันบนเวทีการชุมนุม บนท้องถนน การปราศรัยอย่างกล้าหาญและทระนงองอาจของอานนท์ในครั้งนั้น นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย

7 วันหลังจากนั้น การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นำโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ปราศรัยข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ

นับแต่นั้น การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน อนาคตของชาติ ก็ก้าวรุดหน้ามากขึ้น จนทำให้เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นข้อเรียกร้องที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ปรากฏอยู่ในที่สาธารณะ นี่คือคุณูปการของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน อนาคตของชาติ ที่ร่วมกันต่อสู้ เอาชีวิต ร่างกาย อนาคตของตนเองเข้าเสี่ยง เราต้องสดุดีและยกย่องวีรกรรมอันกล้าหาญของพวกเขา

หนึ่งปีผ่านไป แม้ประเด็นปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์จะถูกจุดติด “ช้างในห้อง” ตัวนี้ถูกทำให้เห็นโดยถ้วนทั่ว ไม่มีใครปฏิเสธหรือแกล้งมองไม่เห็นได้อีกแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่า ข้อเรียกร้องนี้อาจถูกพูดถึงในรายละเอียดน้อยลง และดูท่าจะห่างไกลจากความเป็นไปได้มากขึ้น

ในช่วงวิกฤต Covid-19 ส่งผลให้การชุมนุมทำได้ยากลำบาก ในขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากก็ถูกตั้งข้อหา ดำเนินคดี จับกุม คุมขัง จากกลยุทธ์ “นิติสงคราม” ที่ฝ่ายรัฐใช้อย่างเข้มข้น พร้อมกับที่ข้อเรียกร้อง “ขับไล่ประยุทธ์” ขึ้นมาเป็นกระแสนำ ในฐานะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นข้อเรียกร้องที่ดูท่าจะมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด ทั้งหมดนี้เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ค่อยๆเลือนหายไป

เพื่อมิให้ความเพียรพยายามของเยาวชนอนาคตของชาติและกลุ่ม “ราษฎร” เสียเปล่าไป และเพื่อให้การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นให้จงได้ ผมมีข้อวิเคราะห์-ข้อเสนอ 5 ข้อต่อขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ดังนี้

ข้อ 1 มีข้อเสนอเป็นรูปธรรม จับต้องได้ พร้อมใช้งาน วิธีการหนึ่งก็คือ นำข้อเสนอต่างๆเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาแปลงเป็นร่างรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติ ท่ามกลางข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในหลากหลายประเด็น บางประเด็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางประเด็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ บางประเด็นต้องปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติ และบางประเด็นก็เป็นเรื่องพฤติกรรมของคนหรือองค์กร แต่หากเรานำข้อเสนอมายกร่างเป็นกฎหมายและรณรงค์ทั่วประเทศ อย่างน้อยข้อเสนอนั้นก็จะอยู่ในสถานะ “พร้อมใช้” และรอสถานการณ์ที่สุกงอมเพียงพอมาถึง

วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบหนึ่งปีของ “ข้อเสนอ 10 ข้อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต” ผมจึงขอใช้โอกาสนี้นำเสนอ “ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์” พร้อมคำอธิบาย ต่อสาธารณะ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการรณรงค์ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป

ข้อ 2 ใช้กลไกในระบอบของพวกเขาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด การรณรงค์เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ครั้งนี้เป็นการรณรงค์แบบ “ปฏิรูป” กล่าวคือ ยืนยันว่าประเทศไทยยังคงมีรูปของรัฐแบบราชอาณาจักร ไม่ใช่สาธารณรัฐ ประเทศไทยยังคงมีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ที่สืบทอดทางสายโลหิต แต่ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบรรดากฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติทั้งหลายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งหมดให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

พบว่ามีช่องทางที่เราสามารถใช้ได้อย่างดี ช่วยทำให้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางการ พื้นที่ที่มีอำนาจรัฐอยู่ และยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนในการรณรงค์สนับสนุน นั่นคือ การใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและร่างพระราชบัญญัติ

ผมเสนอให้ฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตั้งองค์กร “คณะกรรมการรณรงค์การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เพื่อเดินสายรณรงค์ทั่วประเทศ ทุกช่องทาง ทั้งออนไลน์ ออนกราวนด์ เชิญชวนประชาชนมาร่วมเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

หากเราทำเช่นนี้ เราก็จะ.. ได้รณรงค์ทำความคิดกับคนทั่วประเทศ ได้พื้นที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงถูกจับ ถูกดำเนินคดี ให้คนกล้าแสดงออกโดยไม่ต้องกังวล ได้จำนวนคนที่ร่วมเข้าชื่อปรากฏเป็น “ตัวเลข” เพื่อส่งสัญญาณ ได้กดดันสถาบันการเมืองว่าจะเดินหน้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่

ข้อ 3 ยกระดับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นการปฏิรูปแบบปฏิวัติ แม้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือ “ปฏิรูป” ไม่ใช่ “ปฏิวัติ” แต่เราต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในครั้งนี้ ไม่ใช่งานจำพวก “ปฏิรูปแบบปฏิรูปนิยม” แต่มันคือ “ปฏิรูปแบบปฏิวัติ”

ในทางรูปแบบ คือ การปฏิรูป ไม่ได้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ขีดเส้นยืนยันว่ายังรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ต่อไป แต่ในทางเนื้อหา คือ การปฏิวัติ เพราะเป็นเนื้อหาการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้ระบอบนี้

“ปฏิรูปแบบปฏิวัติ” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรายกระดับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้ให้เป็น “ข้อเสนอขั้นต่ำ” หมายความว่า ข้อเสนอทั้งหมดก็เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถถอยหรือลดไปกว่านี้ได้ และหากไม่รับข้อเสนอเช่นนี้ ด้วยสถานการณ์แบบที่เป็นอยู่ที่ประชาชนก้าวรุดหน้ามากขึ้น ก็จะโหมเร่งให้รุดหน้ามากขึ้น สุกงอมเพียงพอจนปฏิรูปกลายเป็นปฏิวัติ

ข้อ 4 สร้างมิตร สร้างแนวร่วม ข้อเรียกร้องของการชุมนุมของ “ราษฎร” ถูกมัดรวมเป็น 3 ข้อ ได้แก่ 1.ประยุทธ์ออกไป 2.ทำรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ผมเห็นว่าขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต้องใจกว้าง เปิดรับ อย่ากีดกันคนออกไปจากขบวนการเพียงเพราะว่าเขายังไม่พร้อมที่จะรณรงค์ข้อ 3 แต่เราต้องพูดคุย ทำความเข้าใจ โน้มน้าว คนเหล่านี้ รวมทั้งแสวงจุดร่วมที่พอไปกันได้ เพื่อประคองเดินหน้าต่อไปพร้อมกับรอการเปลี่ยนแปลงของเขา

ข้อ 5 แปลงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้กลายเป็นฉันทามติของสังคม การทำให้ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลายเป็นฉันทามติร่วมกันของสังคมไทยทุกฝักฝ่ายได้ ต้องทำให้ประเด็นสถาบันกษัตริย์พ้นไปจากประเด็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม แต่กลายเป็นปัญหาทั่วไปของคนทุกคน เป็นปัญหาร่วมกันของทั้งสังคมไทย ขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จึงมีภารกิจในการชี้ชวนให้คนไทยเห็นพ้องกันให้ได้

นี่ไม่ใช่การตามง้อ ไม่ใช่การเสียเวลาเปล่า แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีจำนวนคนเห็นด้วยมากกว่านี้ มากทั้งในทางปริมาณ มากทั้งในทางคุณภาพ เราจำเป็นต้องหลอมรวมคนทุกฝ่ายในฐานะ “ประชาชน” ให้เห็นถึงปัญหาและความจำเป็นของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ผมนำเสนอข้อเสนอทั้งห้าข้อนี้ด้วยความหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยความหวังว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ เราไม่สามารถหลีกหนีประเด็นนี้ได้อีกแล้ว การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์  เพื่อรักษาประชาธิปไตย”