อดีตรองอธิการฯมธ. อธิบายแบบสรุป จุดเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2473

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี รัฐสภาลงมติด้วยเสียงข้างมาก ให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาพิจารณาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้ใช้เวลา 30 วัน

โดยระบุว่า มติดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลา จึงสร้างความไม่พอใจให้กับนักการเมืองฝ่ายค้าน และม็อบปลดแอก ที่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด จนถึงกับกั้นรถยนต์ที่จะออกจากสภา เพื่อให้เปิดกระจกรถ และตะโกนด่าทอบรรดาสว. และนักการเมืองที่มองได้ว่าเป็นคนละพวกกับกลุ่มตน

เรื่องการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีความซับซ้อนจนเรียกได้ว่า แม้แต่คนที่ติดตามข่าวการเมือง ยังอาจไม่เข้าใจ 100% ว่าเกิดอะไรขึ้น อย่าว่าแต่ผู้มีอายุเยาว์ที่คร้านจะอ่านอะไรยาว ๆ หรือให้เวลานาน ๆ กับการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม สรุปแล้วมันเกิดอะไรขึ้น กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มมาอย่างไร มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ข้อเขียนชิ้นนี้จะพยายามให้คำตอบ สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาหาข้อมูล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะผู้ร่างตั้งใจทำให้แก้ไขได้ยากถึงยากที่สุด โดยกำหนดเรื่องการแก้ไขไว้ในหมวด 15 มาตรา 255 และมาตรา 256

มาตรา 255 ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้

มาตรา 256 กำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีใจความสำคัญคือ ญัตติการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีได้ 4 ช่องทางคือ

1. จากคณะรัฐมนตรี
2. จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ในสภาเข้าชื่อกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5
3. จากสมาชิกสภาผู้แทน และสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่รวมกันทั้ง 2 สภา
4. จากประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าชือรวมกันไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน

ญัตติการขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เสนอต่อรัฐสภา และให้รัฐสภา หมายถึงสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกัน พิจารณาเป็น 3 วาระ

วาระที่ 1 รับหลักการ ต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ในจำนวนนี้ต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาไม่น่อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด

วาระที่ 2 พิจารณาให้ความเห็นชอบรายมาตรา หรือเรียงลำดับทีละมาตรา ใช้คะแนนเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ กรณีประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นด้วย

วาระที่ 3 เป็นการลงคะแนนขั้นสุดท้าย ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา ในจำนวนนี้ต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบจากสมาชิกที่มาจากพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานฯ จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมีคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่รวมกันด้วย หลังจากผ่านวานะ 3 แล้ว 15 วัน จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวดทั่วไป ซึ่งมีมาตราเกี่ยวกับประเทศชาติ เช่น มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ หรือหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 (มาตรา 255 และ 256) เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ จะต้องทำการออกเสียงประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย

จะเห็นว่าหมวด 15 มาตรา 255 ระบุว่าการแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้

ดังนั้นหากต้องการจะเปิดทางให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวดทุกมาตรา หรือร่างใหม่ทั้งฉบับ จะต้องแก้ไขหมวด 15 ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน

การแก้ไขหมวดที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะทำได้ต้องเป็นไปตามมาตรา 256 คือจะต้องนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปผ่านประชามติก่อน

เมื่อมาตรา 256 กำหนดว่า การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และประชาชนนำโดยกลุม I Law แต่ละกลุ่มจึงเสนอร่างของตนเอง และยังมีพรรคเพื่อไทยยื่นญัตติต่างหากอีก

ญัตติเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ได้รับการบรรจุเข้ารับการพิจารณาของรัฐสภา ในวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 6 ญัตติดังนี้

1. ญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย แก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.เปิดทางให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่จะไม่แก้ไข หมวด 1 และหมวด 2 คือหมวดทั่วไป และหมวดที่กี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด กำหนดแก้ไขภายใน 120 วัน

2. ญัตติพรรคร่วมรัฐบาล แก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. 200 คน 150 คนมาจากการเลือกตั้ง อีก 50 คน มาจากการสรรหาโดยรัฐสภา จากที่ประชุมอธิการบดี และจากนักเรียน นักศึกษา และจะไม่แก้ไข หมวด 1 หมวด 2 กำหนดแก้ไขภายใน 240 วัน

3. ญัตติพรรคเพื่อไทย อีก 4 ญัตติคือ
3.1 แกไขเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น
3.2 แก้ไขเพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้ติดตามแผนการปฏิรูปประเทศ
3.3 แก้ไขเพื่อยกเลิกการรับรองประกาศและคำสั่ง คสช ไม่ให้มีผลตามกฎหมาย
3.4 แก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง กลับไปแบบเดิม คือใช้บัตร 2 ใบ แทนที่จะเป็นใบเดียว คือให้ประชาชนเลือกทั้ง ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนที่จะเลือกเฉพาะ ส.ส. เขต แล้วเอาคะแนนไปคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ผลการพิจารณาของรัฐสภา ยังไม่ได้ลงมติรับหลักการตามวาระ 1 แต่มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาพิจารณา และนำกลับเข้ามาอีกครั้งภายใน 30 วัน

ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลได้พยายามเข้าชื่อ ส.ส. ของพรรคตัวเองและส.ส.ต่างพรรค เพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อยกเลิกบทเฉพาะกาลเพื่อตัดอำนาจของวุฒิสมาชิกไม่ให้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขมาตรา 256 เพื่อจะตั้งส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่เว้นทั้งหมวด 1 และหมวด 2 แต่ไม่สามารถเข้าชื่อส.ส.ได้ครบตามเงื่อนไข เนื่องจากมีส.ส.จากพรรคอื่นตัดสินใจถอนชื่อออก จนมีจำนวนไม่ครบตามเงื่อนไข

โปรดสังเกตุว่า ญัตติที่ 1 และ 2 เป็นการแก้ไขมาตรา 256 จำเป็นต้องทำประชามติ ตามที่บังคับไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขเพิ่มเติม หากไม่ใช่หมวด 1 และ 2 ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ สามารถให้สภาพิจารณาลงมติทั้ง 3 วาระได้เลย นี่เป็นสาเหตุที่พรรคฝ่ายค้านเลือกที่ยื่นหลายญัตติ เพื่อตัดอำนาจของส.ว.ลงให้เร็วที่สุดนั่นเอง

วันนี้ต้องหยุดเพียงเท่านี้ก่อนครับ เพราะยาวเกินไปแล้ว โพสต์ต่อไปจะเป็นความเห็นเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญญัตติต่างๆ ว่าผลที่ตามมาคืออะไร ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์บ้าง โปรดติดตามนะครับ

รัฐสภาลงมติด้วยเสียงข้างมาก ให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาพิจารณาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้ใช้เวลา 30…

Posted by Harirak Sutabutr on Sunday, September 27, 2020

ที่มา : Harirak Sutabutr