Truthforyou

รัฐบาลทุ่มงบแสนล้าน!?! ดัน”แลนด์บริดจ์” ชูขนส่งโลจิสติกส์ภาคใต้เชื่อมส่งสินค้าไปตะวันออกกลาง-ยุโรป

พลันที่นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเปิดประเด็นรัฐบาลสนใจพัฒนาแลนด์บริดจ์ภาคใต้ เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งนักธุรกิจเอกชนไทยและนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาส่งทูตเกาะติดเกรงตกกระแส อาจถึงเวลาเปิดมิติใหม่การขนส่ง-โลจิสติกส์ครบวงจรทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ใหม่ และการค้าขายหลังโควิด เป็นโครงการระยะยาวที่ดูมีประโยชน์มากในเชิงภาพรวม แต่ต้องไม่ลืมผลกระทบกับประชาชนคนใต้ ที่ต้องใช้ชีวิตกับโครงการนี้ไปตลอดว่า เขาพร้อมและเต็มใจรับหรือไม่ เพราะทางใต้ไม่ว่าง่ายเหมือนภาคตะวันออก คงต้องอยู่ที่ฝีมือรัฐบาลบิ๊กตู่ว่าจะฝ่าด่านม็อบไปได้หรือเปล่า

พยายามมาหลายรัฐบาล-สะดุดมาทุกสมัย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) ว่าแผนการก่อสร้างโครงการนี้อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ และแผน ที่สศช.เคยเสนอโครงการการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยศักยภาพของพื้นที่ภาคใต้ในอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลกำลังจะพัฒนาคือโครงการเชื่อมการขนส่งจากฝั่งอันดามันมายังฟังอ่าวไทยโดยใช้การขนส่งทางรางบริเวณ จังหวัดชุมพรแลt ระนองเป็นโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมการขนส่งทั้งสองฝั่งทะเลเข้าด้วยกัน

“สศช.พยายามดูแผนเรื่องของการพัฒนาท่าเรือ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วย เช่น ให้มีที่จอดท่องเที่ยวได้ช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวควบคู่กันไปด้วย ในระยะต่อไปหากมีการพัฒนาโครงการถนนเรียบชายฝั่งทะเลหรือโครงการไทยแลนด์ริเวร่า ก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้นได้”.

ในส่วนของสนข.(สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) ระบุว่า สำหรับโครงการดังกล่าว รฟท.ได้ทำการศึกษาไว้แล้วนั้น จะใช้งบประมาณมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ล่าสุด คาดว่างบประมาณของโครงการจะเพิ่มขึ้น แต่ประเมินว่า เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ในส่วนของประโยชน์ของเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองนั้น จะเชื่อมเส้นทางสายหลักโดยระบบรางมาที่จังหวัดระนอง และเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้กับประชาชนทั้ง 2 จังหวัด ขณะเดียวกัน เมื่อมีเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งแล้ว จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้อีกด้วย รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการขนส่ง สามารถจำหน่ายสินค้าระหว่าง 2 จังหวัด ลักษณะคล้ายกับท่าเรือที่ประเทศสิงคโปร์ โดยเรือขนส่งสินค้าจะเข้ามาที่ชุมพร นำคอนเทนเนอร์ขนส่งต่อมาที่ระนอง นอกจากนี้ ในฝั่งทะเลอันดามัน ยังสามารถขนส่งผ่านอ่าวไทยได้ โดยการใช้เส้นทางรถไฟของโครงการดังกล่าว นำไปสู่การเกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตามมา อาทิ นิคมอุตสาหกรรม ที่จะทำให้คนในสองพื้นที่มีรายได้ขึ้น

“คาดว่าจะมีการตัดผ่านอุโมงค์ 5-6 แห่ง บางจุดก่อสร้างเป็นสะพาน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นภูเขา  การก่อสร้างก็จะไม่ทำให้ชันมาก เพื่อวิ่งให้เร็วเพื่อเชื่อมต่อท่าเรือให้ได้ การดำเนินโครงการนี้ทางกระทรวงคมนาคม ได้ย้ำชัดเจนว่า นโยบายหลักต้องคำนึงถึงคนในพื้นที่ อาทิ ในเรื่องของสุขภาพ แม้ว่าจะมีท่าเรือขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรมตามมา แต่ต้องผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์เดิมของคนในพื้นที่จังหวัดระนองไว้ และต้องเน้นเรื่องสุขภาพอนามัยด้วย” แหล่งข่าวจาก สนข.กล่าว

ฝันเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า-ต้องผ่านม็อบต้านให้ได้ก่อน

วันที่ 25 ก.ย.63 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบน โดยยึดแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ผสานกับเทคโนโลยี และความได้เปรียบทางกายภาพและที่ต้ังของพื้นที่ รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ซึ่งแตกต่างจากแนวทางของ EEC ทั้งนี้ กรอบการพัฒนาSEC ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway) 2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (Royal Coast & Andaman Route) 3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง (Bio-Based & Processed Agricultural Products) และ 4) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม(Green & Culture)

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เริ่มขับเคลื่อนแผนการพัฒนา SEC ระยะ 2562-2565 และยังมีแผนระยะยาวปี 2566 เป็นต้นไป รวม 111 โครงการ คิดเป็นวงเงินเฉพาะที่ต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน 102,418 ล้านบาท มีโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยาน นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการตลาดของท่าเรือระนองรองรับกลุ่ม BIMSTEC ที่มีประชากรกว่า 1.5พันล้านคน (บังคลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ภูฏาน และเนปาล)  โครงการพัฒนาถนนเลียบชายทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามันสู่พื้นที่ตอนใน โครงการขยายทางหลวงระนอง-พังงาเป็น ๔ ช่องจราจร โครงการศึกษาออกแบบ/ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รถไฟสายใหม่ระนอง-ชุมพร โครงการสนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาเบื้องต้น งบประมาณ 68 ล้านบาท ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนใน “โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge)”  คาดจะรู้ผลกลางปี 2566 

SEC หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ต้องการเชื่อมการลงทุนโยงถึง EEC ตามแผนพัฒนาจะสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง ฝั่งอันดามัน ให้เชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ส่วนฝั่งอ่าวไทยวางเป้าสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร หรือแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เป็นเส้นภาคใต้ตอนบน ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล หรืออาจปัดฝุ่นแลนด์บริดจ์ปีนัง-สงขลา ขึ้นมาอีกครั้ง

เม็กกะโปรเจ็กเรียกแขก-ม็อบมาแน่

นอกจากดันแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แล้ว รัฐบาลยังวาดแผนปั้นศูนย์กลางพลังงานและอุตสาหกรรมครบวงจร โดยเน้น 2 พื้นที่ในโซนภาคใต้ตอนกลางที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเวลานี้มีโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าก๊าซแล้วถึง 4 โรง ที่อำเภอขนอม และขยายไปได้ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดสงขลา มีโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าก๊าซแล้ว 2 โรง ที่อำเภอจะนะ ตามแผนรองรับการลงทุนอุตาสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจรตามโมเดลอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีท่อส่งก๊าซฯ โรงแยกก๊าซฯ โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี ฯลฯ

โครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง เส้นที่มีความเป็นไปได้โดยอยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงคมนาคม น่าจะเป็นแลนด์บริดจ์เชื่อมชุมพร-ระนอง ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเอาไว้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 และสื่อนอกอย่าง เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ หยิบไปรายงานข่าวเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไทยเล็งผุดท่าเรือน้ำลึกพร้อมแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งภาคใต้แทนขุดคลอง เพื่อดูดเรือสินค้าจากช่องแคบมะละกาที่แออัดและมีปัญหาโจรสลัด 

เมื่อฝั่งรัฐบาลและนักลงทุนขยับ เชื่อว่าอีกไม่นานภาคประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวติดตามทวงถามความชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบต่อวิถีชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม การปลุกชีพเมกะโปรเจกต์ก็เสมือนการปลุกม็อบขึ้นมาคู่ขนานกันไป อยู่ที่ฝีมือรัฐบาลบิ๊กตู่จะฝ่าอุปสรรคนี้ไปได้หรือไม่ ต้องจับตา!

Exit mobile version