รัฐบาลบุกอาร์เซ็ป!?! ดันส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

2234

ตลาดอาเซ็ปมีทั้งโอกาสและภัยอันตราย เหมือนเหรียญสองด้าน เป็นโอกาสในการส่งออกสู่ตลาดการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ถ้าผู้ประกอบการไทย ภาคเอกชนและภาครัฐไม่เข้มแข็งพอ ก็จะกลายเป็นว่าเราเปิดให้ผู้แข็งแรงกว่ามายึดพื้นที่ กวาดวัตถุดิบราคาถูกไปโดยไม่ได้เงินภาษีกลับมาอย่างเหมาะสม หรือตลาดอียูก็เช่นกัน โควิดระบาดทำให้เราได้เห็นภาพความจริงของกำลังซื้อและเศรษฐกิจทั้งสหรัฐและยุโรป ที่แม้เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็ใช่จะมีกำลังซื้อ และปัญหาโควิด ณปัจจุบันได้กลับมาระบาดระลอกใหม่ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะอยู่กับมนุษย์ไปอีกนานแค่ไหน ต่อให้มีวัคซีนต้านแล้วก็ตาม ภาครัฐไม่ควรผลีผลามรีบเปิดทำสัญญาการค้าเสรีFTA พิจารณาแนวทางการค้าพหุพาคีเป็นทางเลือกที่ดีและศึกษาจากอินเดียจะรู้ว่า ทำไมจึงยังไม่เข้าร่วม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุนเพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศและคู่เจรจาอีก 6 ประเทศได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย (ยังไม่ร่วมลงนาม) มีประชากรรวมกัน 3.6 พันล้านคน คิดเป็น 48.1% ของประชากรโลก โดยในปีที่แล้ว ประเทศสมาชิกมีมูลค่าจีดีพีกว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.7% ของจีดีพีโลก ทั้งนี้ การลงนาม RCEP จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจและส่งเสริมระบบกฎเกณฑ์การค้าแบบพหุภาคี และมั่นใจว่าจะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด19 รวมทั้งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ 

ในส่วนของประเทศอินเดียแม้ยังไม่ได้ร่วมลงนาม RCEP ก็ไม่เป็นไรเพราะประเทศสมาชิกยังเปิดโอกาสให้อินเดียเมื่อพร้อมเสมอ อีกทั้งอาเซียนได้มีความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน–อินเดีย (AITIGA) ตั้งแต่ 2553 ซึ่งจะมีการทบทวนความตกลงให้ทันสมัย และเอื้อต่อการค้าและการลงทุน รวมถึงจะมีการพิจารณาเรื่องการเปิดตลาด การลดอุปสรรคในมาตรการที่มิใช่ภาษี การลดความล่าช้าและยุ่งยากในพิธีการศุลกากร และอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียให้บรรลุเป้าหมายที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2565 

นอกจากนี้ อาเซียนยังได้มีการขยายความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา แคนนาดา สหภาพยุโรป และสหภาพยูเรเซีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย) ถึงจะยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่ข้อตกลงการค้าเสรี แต่ก็เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นที่ดี ที่ได้มีการลงนามเห็นชอบร่วมกันในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องแผนงานส่งเสริมการค้าการลงทุน และการหารือเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีในการออกกฎระเบียบ เท่ากับว่า อาเซียนได้ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกว้างไกลกว่าภูมิภาคเอเซียแล้ว

โอกาสสินค้าเกษตร-สินค้าจำเป็นตามปัจจัยสี่รุ่ง

อาร์เซ็ป (RCEP:Regional Comprehensive Economic Partnership):ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือจะว่าไปก็คือ เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ของมูลค่าการค้าโลก มูลค่าจีดีพีกว่า 28.5 ล้านเหรียญคิดเป็น 32.7% ของจีดีพีโลก

อาร์เซ็ป ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ถือเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงมีข้อตกลงในรายละเอียดปลีกย่อยมากมายหลายด้าน การเจรจาแต่ละครั้งมีทั้งเรื่องที่ตกลงกันได้และตกลงกันไม่ได้ โดยกรอบการเจรจามีทั้งหมด 20 เรื่อง อาทิ การเปิดตลาดการค้าสินค้า, การค้าบริการ, การลงทุน, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อโดยรัฐ, กฎถิ่นกำเนิดสินค้า, นโยบายการแข่งขัน เป็นต้น

กรมการค้าต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์ ได้ผลักดันสินค้าเกษตรมาโดยตลอด จึงถือเป็นโอกาสดีในการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย เพิ่มเติมจากความตกลงเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่แล้วกับสมาชิกอาร์เซ็ปรายประเทศ เช่นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นภายใต้ความตกลงฉบับนี้ ได้แก่ ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู สินค้าประมง อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น

ฟื้น FTA ต้องระวังเรื่องยา-พันธ์พืช มิฉะนั้นจะทำลายจุดแข็งไทยได้ไม่คุ้มเสีย

การฟื้นการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) มีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญเพราะจะช่วยเปิดช่องทางในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง   เป็นการขยายโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ปี 2562 อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่ากว่า 4.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการค้า 9.2% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 2.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเจ้าภาพหลัก ได้ทำการศึกษาและระดมความคิดเห็นต่อความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู ที่ครอบคลุมเรื่อง การค้า สินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งหากมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการทั้งของไทยและอียูในระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ถึง 1.28% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.05 แสนล้านบาทสินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัว เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น 

ในส่วนข้อกังวลจากภาคประชาสังคมเรื่องการเข้าถึงยาและการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่สืบเนื่องจากมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่สูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์แจงว่าจะพิจารณาอย่างรอบคอบ รับฟังทุกด้าน เตรียมความพร้อมเพื่อการเจรจาอย่างรัดกุมต่อไป โดยผลของการศึกษาและการฟื้นการเจรจาค้าเสรีฯ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้ครม.พิจารณาในอีกไม่นานนี้

“เมื่อสถานการณ์โควิด19ทั่วโลกคลี่คลาย การบริโภคและความต้องการสินค้าระหว่างประเทศจะเพิ่มมากขึ้น การค้าเสรีจะทำให้สินค้าส่งออกไทยไม่ต้องต้องแบกรับอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม การค้าเสรีจะเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อภาคเอกชนไทยมีศักยภาพทางการแข่งขันในเรื่องคุณภาพและการผลิตได้ตามความต้องการของตลาด  

กระทรวงพาณิชย์มีการจัดทัพให้ทูตพาณิชย์เป็นเซลแมนประเทศ หาตลาดและจับคู่ธุรกิจการค้า ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยงานรัฐต่างๆมีโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องแหล่งเงินกู้ การอบรมการใช้เทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร การส่งเสริมมาตรฐานสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก เป็นต้น รัฐบาลพร้อมดูแลและเยียวยาอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ ส่วนการค้าเสรีที่อยู่ในขั้นพิจารณาว่าจะไปเจรจาหรือไม่ เช่น ไทย-อียู จะไม่มีการเร่งรีบแต่ศึกษาอย่างรอบคอบ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดท่าทีเจรจา และการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” นางสาวรัชดา กล่าว