พาณิชย์ปลื้มส่งออกสินค้าไทยกระฉูด!?!มิ.ย.พุ่งกว่า 43% 6 เดือนรับทรัพย์กว่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์ อัด 130 กิจกรรมปั้มรายได้รัวๆ

1436

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ยอดการส่งออกไทยเดือนมิ.ย.2564 มูลค่า 23,699 ล้านดอลล่าร์ ขยายตัว 43.82 % ถือเป็นการทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี ขณะที่ 6 เดือนแรกขยายตัว 15.53 % มูลค่า 132,334 ล้านดอลลาร์ เกินเป้า 4 %อย่างมาก เร่งเปิดตลาดใหม่ พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกกว่า 130 กิจกรรมตลอด 6 เดือนหลัง ปั้มยอดส่งออกให้ทะลุเป้า นับว่าการส่งออกไทยยังแข็งแรง ได้รับการตอบรับจากลูกค้าสำคัญ ท่ามกลางการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ากำลังคุกคามโลก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย..นี้ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยขยายตัว 43.82 % มูลค่า 23,699 ล้านดอลล่าร์ สูงสุดในรอบ 11 ปี โดยสินค้าสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวสูง 1.ผลไม้ขยายตัว 185.10% 2.อัญมณีและเครื่อง ด้วยมูลค่า ประดับ ขยายตัว 90.48% 3.รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ ขยายตัว 78.5% 4.เครื่องจักรกล ขยายตัว 73.13% และ5.เคมีภัณฑ์ขยายตัว 59.82% เป็นต้น สำหรับผลไม้ที่ขยายตัวสูงสุดถึง 185.10% เป็นทุเรียนขยายตัวถึง 172% มังคุดขยายตัว 488.26% เป็นต้น

ในหมวดสินค้าต่างๆนั้นสินค้าด้านการเกษตรยังมีอัตราการขยายตัวที่สูงมากถึง 59.8% และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปีสามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 71,473.5 ล้านบาท ถือเป็นการขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพาราขยายตัวถึง 111.9% ผักผลไม้ทั้งสด แช่เย็นแช่แข็งแปรรูป ขยายตัว 110.2% โดยเฉพาะมันสำปะหลังขยายตัวถึง 81.5 % เดือนมิถุนายนนั้นตลาดสำคัญทั้งตลาดหลักตลาดรองมีอัตราการขยายตัวทุกตลาดโดยตลาดหลักขยายตัวถึง 41.2% ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป  CLMV อาเซียน เป็นต้น ตลาดรองขยายตัวถึง 49.5% ทั้งเอเชียใต้ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา  ลาติน ออสเตรเลีย เป็นต้น

 “เป้าหมายส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ 4 % นั้น เพียงแค่ 6 เดือนแรกม.ค.-มิ.ย.ขยายตัว 15.53 % มูลค่า 132,334 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงฯและภาคเอกชนจะทำให้การส่งออกได้มากที่สุด”นายจุรินทร์ กล่าว

ส่วนแผนงานในครึ่งปีหลัง ตั้งแต่ ก.ค.-ธ.ค.ทางกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับภาคเอกชนในรูปแบบของกรอ.พาณิชย์ดำเนินการผลักดันการส่งออกและแก้ไขอุปสรรคต่างๆ โดยมีทีมเซลล์แมนประเทศและเซลล์แมนจังหวัดเป็นทัพหน้าเรื่องการส่งออก โดยเตรียมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกมากว่า 130 กิจกรรม ซึ่งขณะนี้มีอดขายสั่งจองล่วงหน้าแล้วไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้จะเร่งเปิดตลาดใหม่ เช่น ซาอุอาระเบีย  สำหรับตลาดลาตินอเมริกา แม้เส้นทางจะไกลและเราเสียเปรียบคู่แข่งหลายประเทศค่าขนส่งจะแพง แต่เป็นเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนในการบุกตลาดลาตินอเมริกา สินค้าที่คิดว่ามีโอกาสเกิดได้ เช่น สินค้า New Normal ทั้งอาหารเกี่ยวกับสุขภาพ อาหารรูปแบบใหม่ อาหารกระป๋อง เป็นต้น ตลาดลาตินอเมริกาแม้จะเดินทางไกล ต้นทุนขนส่งสูงก็ตามโดยสินค้าเป้าหมายสำคัญคือสินค้าอาหารสุขภาพ อาหารรูปแบบใหม่ อาหารกระป๋อง ส่วนสินค้าที่จะมีอนาคตในตลาดลาตินอเมริกาคือชิ้นส่วนยานยนต์เพราะที่นั่นมีรถต้องซ่อมแซมหรือใช้แล้วจำนวนมาก เป็นต้น

ประเด็นที่ 1.จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยในภาคการผลิตเพื่อให้คงตัวเลขส่งออก หรือให้มีสินค้าในการสนองความต้องการตลาดโลกได้ต่อไป ปัญหาภาคการผลิตในช่วงเดือนก.ค.เช่น บางจังหวัดสั่งปิดโรงงานแบบเหมารวม จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบส่วนไหนที่มีปัญหาก็ปิดโซนนั้น โซนไหนที่ไม่มีปัญหาควรให้เปิดดำเนินการต่อไปได้ หรือถ้ามีการปิดทั้งโรงงานส่วนไหนที่แก้ไขปัญหาจบแล้วก็ควรจะเปิดให้ดำเนินการผลิตต่อไป เพื่อไม่ให้ภาคการผลิตหยุดชะงักและกระทบกับการส่งออก ซึ่งตนจะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าต่อไป

ประเด็นที่2 เรื่องแรงงานภาคเอกชนเรียกร้องให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้นในช่วงที่เรากำลังทำตัวเลขส่งออกซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานในการเร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานที่หมดอายุโดยตนขอให้กระทรวงแรงงานจัดศูนย์ One Stop Service เพื่อรับขึ้นทะเบียนแรงงานหมดอายุในจุดต่างๆเพื่อความรวดเร็วจะได้นำมาใช้ในภาคการผลิตต่อไป

ประเด็นที่3 เร่งกระจายวัคซีนเข้าสู่ภาคการผลิตโดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออก ตนได้เรียนในคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาท่านนายกตอบรับและสั่งการให้พิจารณาเรื่องนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบภาคการผลิตที่จะส่งผลต่อ…ตัวเลขการส่งออกในเดือนก.ค.และเดือนส.ค.

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกรายสินค้านอกจาก สินค้าเกษตรที่ขยายตัวถึง 59.8% สูงสุดในรอบ 10 ปี

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรก็ขยายตัว 13.5% และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 44. 7% ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่อง 22 เดือน คือ หมวดอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 27.7% น้ำตาลทรายกลับมาขยายตัวในรอบ 15 เดือนที่ 18.8% แสดงให้เห็นว่าสินค้าในทุกกลุ่มทั้งสินค้าเกษตรสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวทุกตลาดทั้งตลาดหลัก ตลาดรอง ตลาดส่งออก 50 อันดับแรกซึ่งมีสัดส่วน 97% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยขยายตัวทุกตลาด

อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวนี้เป็นผลจากการดำเนินงานส่งเสริมการส่งออกที่ทำอย่างต่อเนื่องรวมทั้งได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิตสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลกอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยผลผลิตคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และการจ้างงานในหลายประเทศล้วนเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป และปัจจัยเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องก็ช่วยส่งเสริมภาคการส่งออกของไทยด้วย ทั้งนี้ด้านสินค้าส่งออกที่ขยายตัวที่น่าสนใจคือ สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรส เป็นต้น