ปิยบุตร เดินหน้าด้อยค่าสถาบัน?? ปั่นหัวสาวกควรเลิกปชส.โครงการ พระราชทาน! สังคมสงสัย เป็นภาพตัดต่อหรือไม่?

2088

ปิยบุตร เดินหน้าด้อยค่าสถาบัน?? ปั่นหัวสาวกควรเลิกปชส.โครงการ พระราชทาน! สังคมสงสัย เป็นภาพตัดต่อหรือไม่?

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (21 กรกฎาคม 2564) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีการโฆษณาโครงการพระราชทาน โดยบอกว่า ควรเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการ “…พระราชทาน” ได้แล้ว

วันนี้ หลายคนคงเห็นภาพที่กระจายกันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพประชาชนคนไทยกำลังนั่งรอคิวเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งหนึ่ง โดยแต่ละคนถือป้ายที่เขียนว่า “วัคซีนพระราชทาน ซิโนฟาร์ม” ด้วยสถานการณ์ที่คนไทยต้องเผชิญกับมหันตภัยโควิด-19 หากมองดูภาพอย่างละเอียดถี่ถ้วนขึ้น ก็จะเห็นนัยน์ตาอันเศร้าสร้อยของแต่ละคน บางคนนั่งคอตก บางคนสีหน้าเรียบเฉย แต่มือของพวกเขาก็ยังคงถือป้าย “วัคซีนพระราชทาน ซิโนฟาร์ม”
ใช้เวลาไม่นานนัก ภาพดังกล่าวก็ถูกแชร์ไป หลายเพจนำไปโพสลง พร้อมกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เราไม่อาจทราบได้แน่ชัดร้อยละร้อยว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ พร้อมติดคำว่า “… พระราชทาน” ในแต่ละกรณีนั้นเริ่มจากใคร? อาจเกิดจากการคิดของส่วนราชการเอง อาจเกิดจากมี “คนใหญ่คนโต” “คนใหญ่คนโตมาก” “คนใหญ่คนโตมากที่สุด” สั่งการมาที่ส่วนราชการอีกที
อาจเกิดจากการกระทำที่ออกมาจากจิตสำนึกโดยไม่คิดตรึกตรองใดๆ ของข้าราชการไทย ราวกับว่ามีโปรแกรมติดตั้งอัตโนมัติไว้ในหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรแล้ว อาจเกิดจากคิดกันว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบนี้ ถูกแล้ว ดีแล้ว เหมาะแล้ว แต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการโดยติดคำว่า “พระราชทาน” เหล่านี้ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นความคุ้นชินของส่วนราชการไทยและบริษัทห้างร้านในประเทศไทยไปเสียแล้ว
การโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าโครงการนั้น โครงการนี้ เป็นโครงการพระราชทานบ้าง เป็นโครงการพระราชดำริบ้าง ไม่ว่าจะเกิดจากใครก็ตาม ต่างก็ส่งผลเสียและไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตยที่ยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ทั้งนั้น ระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy เรียกร้องว่า เพื่อมิให้กษัตริย์ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใด เพื่อให้กษัตริย์รักษาสถานะความเป็นกลางและเป็นที่เคารพในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาติไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้กษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือดำเนินนโยบายใด แต่ให้คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้มีอำนาจและต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน
เพราะเมื่อไรก็ตามที่กษัตริย์หรือสมาชิกในสถาบันกษัตริย์มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินได้เอง ริเริ่มโครงการได้เอง หรือมีพระราชดำริสั่งส่วนราชการให้ดำเนินการได้เอง การดำเนินนโยบายหรือโครงการต่างๆ เหล่านั้นก็ต้องถูกตรวจสอบและเกิดระบบความรับผิดชอบตามมา แล้วเราต้องการให้สถาบันกษัตริย์รับผิดชอบอย่างนั้นหรือ? หากคำตอบ คือ ไม่ ก็จำเป็นต้องกำหนดให้กษัตริย์และสมาชิกของสถาบันกษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือดำเนินนโยบายใด
การยินยอมให้สถาบันกษัตริย์มีพระราชอำนาจและบทบาทในการริเริ่มหรือดำเนินการการบริหารราชการแผ่นดินได้ ยังส่งผลให้เกิดการบริหารราชการแผ่นดินที่ซ้ำซ้อน ตกลงแล้ว ผู้บริหารประเทศ คือใครกันแน่? แน่นอน การจัดการโควิด-19 รอบนี้ รัฐบาลบริหารประเทศได้ห่วยแตก จัดหาวัคซีนไม่ได้มากเพียงพอ ดีเพียงพอ ก็ต้องไปสืบสาวราวเรื่องว่า นโยบาย “แทงม้าตัวเดียว” การดำเนินนโยบายวัคซีนผิดพลาด ไม่หาวัคซีนที่หลากหลาย และการไม่เข้าร่วมโครงการ Covax นั้นเกิดจากสาเหตุใด? ทำไมรัฐบาลถึงไม่สามารถนำเข้าวัคซีนตัวอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง? มีปัจจัยอันยิ่งใหญ่จากไหนทำให้รัฐบาลนิ่งเฉยละเลยไม่หาวัคซีนตัวอื่นๆ จนกว่าจะกลับตัวได้ก็เมื่อไม่กี่วันมานี้?
อาจมีผู้โต้แย้งว่า โครงการที่ติดคำว่า “พระราชทาน” นั้น มาจากทรัพย์ส่วนพระองค์ ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ว่าโครงการนั้น โครงการนี้ เกิดจากกษัตริย์หรือสมาชิกของสถาบันกษัตริย์ทรงพระราชทานให้มา ย่อมถูกต้องชอบธรรมแล้ว ความข้อนี้ ก็ส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์ตามมาอีก คนอาจตั้งคำถามว่าโครงการเหล่านั้นมาจากงบประมาณแผ่นดินหรือมาจากทรัพย์ส่วนพระองค์
ในข้อเท็จจริง ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า หลายโครงการที่ติดคำว่า “พระราชทาน” หรือ “พระราชดำริ” มาจากกงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน และถูกจัดสรรเข้าไปยังส่วนราชการต่างๆ หรือต่อให้มาจากทรัพย์ส่วนพระองค์เอง ก็ต้องไต่ถามไปอีกว่า ที่ว่าเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์นั้น มาจากอะไร รายได้เหล่านี้มาจากไหน? มีคนบริจาค? ประกอบธุรกิจ?
ยังไม่นับรวมว่า หากมีกรณีที่ประชาชนเข้ารับบริการจากโครงการ “พระราชทาน” เหล่านี้แล้วต้องเสียค่าบริการ หรือหน่วยงานที่รับมาอาจรับผิดชอบจ่ายค่าบริการรวมทั้งหมดเพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนฟรี (เช่น กรณีวัคซีนซิโนฟาร์ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน หรือเอกชนรับผิดชอบจ่ายค่าวัคซีนเอง) เช่นนี้ ก็จะเกิดคำถามตามมาว่า “พระราชทาน” ซึ่งแปลว่า “ให้” นั้น เหตุใดต้องเสียค่าใช้จ่าย?
เวลาเราเห็นโครงการใดที่ใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วพวกนักการเมือง ส.ส. รัฐมนตรีต้องเอาหน้า เคลมผลงานด้วยการติดรูปตัวเองใหญ่ๆ พร้อมข้อความ “อวย” เรายังตั้งคำถาม วิจารณ์ ดังนั้น หากส่วนราชการมุ่งโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการผ่านคำว่า “พระราชทาน” ก็อาจทำให้ประชาชนฉุกคิดทำนองเดียวกันได้
การประชาสัมพันธ์ด้วยคำว่า “พระราชทาน” ยังส่งผลกระทบต่อสถานะความเป็นกลางและสถานะอันเป็นที่เคารพของสถาบันกษัตริย์และสมาชิกในสถาบันด้วย ต้องไม่ลืมว่าทุกโครงการสาธารณะย่อมมีคนได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ย่อมมีคนชอบ ย่อมมีคนชัง ลองคิดดูว่า หากการดำเนินการโครงการนั้นส่งผลร้าย หรือมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการนั้น หรือมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการฉวยโอกาสไปทุจริตคอรัปชั่น แทนที่ประชาชนจะวิจารณ์รัฐบาล รัฐมนตรี หรือข้าราชการที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นว่าข้อวิจารณ์และความไม่พอใจก็อาจไปที่สถาบันกษัตริย์แทน ยิ่งช่วงเวลาปัจจุบันที่ประชาชนกำลังส่งเสียง “ข้อเรียกร้องของยุคสมัย” อย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้ การวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาย่อมเกิดขึ้นมากกว่าแต่ก่อนอย่างแน่นอน จริงอยู่ อาจมีประชาชนที่เกรงกลัวภัยของกฎหมายแบบ “112” จนไม่กล้าวิจารณ์หรือแสดงออกอย่างเปิดเผยอยู่บ้าง แต่การวิจารณ์กันในที่ลับ ปากต่อปาก ก็ยังคงมีอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ ด้วยสถานะและพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ทั้งตามกฎหมายและตามวัฒนธรรมประเพณีที่มากล้นแบบปัจจุบัน ย่อมส่งผลให้โครงการที่มีคำว่า “พระราชทาน/พระราชดำริ” รอดพ้นจากการถูกตรวจสอบไปได้ หรือหากใครต้องการตรวจสอบหรือวิจารณ์ก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยงกับกฎหมายแบบ “112” นานวันเข้า ก็เกิดพวก “ห้อยโหน” แอบอ้างเอาสถาบันกษัตริย์ เอาคำว่า “พระราชทาน/พระราชดำริ” มาเป็นเกราะกำบังตนเอง
ความรักความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เกิดจากจำนวนโครงการ “พระราชทาน” ไม่ได้เกิดจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างล้นเกิน หลักธรรมชาติสอนเราไว้ว่า อะไรที่มากเกินไป อะไรที่ล้นเกินไป ย่อมเป็นอันตราย เมื่อไรก็ตามที่มีการประชาสัมพันธ์แบบล้นเกิน ไปที่ไหนก็เห็นแต่ป้ายประชาสัมพันธ์ สติสัมปชัญญะของวิญญูชนมนุษย์ที่มีเหตุมีผล ย่อมตั้งคำถามกลับไปว่า ที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้นั้น จริงหรือ? ที่โฆษณาประชาสัมพันธ์นั้น เยอะเกินไปหรือไม่? ยิ่งประชาสัมพันธ์มากเท่าไร แทนที่คนจะซาบซึ้ง ไปๆ มาๆ คนจะกลับมาตั้งคำถามด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงมหันตภัยโควิด-19 ที่ประชาชนคนไทยประสบปัญหาไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่มีวัคซีน ไม่มีเตียง ไม่มีสถานพยาบาล ไม่มีข้าวกิน อดมื้อกินมื้อ ออกไปทำงานก็ไม่ได้ เงินเยียวยาก็ไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง การประชาสัมพันธ์ผ่านคำว่า “วัคซีนพระราชทาน” ในห้วงยามเช่นนี้ ไม่น่าจะถูกกาละ ไม่น่าจะเหมาะกับเทศะ และไม่น่าจะส่งผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ ตรงกันข้ามมันอาจนำมาซึ่งการตั้งคำถามกันในหมู่ประชาชนว่า… ตกลงแล้ว พวกเราเป็น “คน” เป็น “พลเมือง” หรือพวกเราเป็น “วัตถุ” ให้ใช้ประกอบโฆษณากันแน่???
ตกลงแล้ว รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชน ประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับการบริการสาธารณสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือทุกอย่างเป็นบุญเป็นคุณกันเสียหมด??? หากใครคิดว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า “ ซิโนฟาร์ม วัคซีนพระราชทาน” แล้วส่งผลดี ก็อยากชวนมาดูปฏิกริยาของคนในโลกโซเชียลมีเดียดูว่า เขาคิดเห็นกันอย่างไร?
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควร “ลด-ละ-เลิก” การโฆษณาประชาสัมพันธ์ นอกจากจะทำให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและรักษาระบอบ ได้แล้ว ยังช่วยป้องกันมิให้เกิดผลเสียไปถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย
ในช่วงมหันตภัยโควิด-19 เช่นนี้ การโฆษณาประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์ที่ดีที่สุด มิใช่การแข่งกันติดป้ายโครงการ “พระราชทาน” แต่คือการปฏิรูปการจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์เสียใหม่ ตัดลดงบ ประหยัด ตัดสิ่งฟุ่มเฟือย โปร่งใส ตรวจสอบได้ นี่ต่างหากที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขาในยามวิกฤติโควิด-19 มิใช่ป้ายประชาสัมพันธ์ใดๆ
#วัคซีนพระราชทาน #โควิด19 #สถาบันกษัตริย์ #งบสถาบันกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพที่นายปิยบุตรได้นำมาเผยแพร่นั้น เป็นภาพตัดต่อหรือไม่ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ บางคนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า ในวันที่ฉีดวัคซีนนั้น ไม่มีการให้ถือป้าย และทางนายปิยบุตร ได้ออกมาชี้แจงในคอมเมนต์ว่า สำหรับใครที่สงสัยว่าเป็นภาพตัดต่อหรือไม่ วันที่ไปรับวัคซีนก็ไม่เห็นต้องถือป้ายแต่อย่างใด สามารถชมรูปการโฆษณาประชาสัมพันธ์ “วัคซีนพระราชทาน” ได้ที่นี่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอีกหลายสื่อ และได้มีการแปะลิ้งข่าวไว้ด้วย
โดยความเป็นมาของวัคซีนนั้น เนื่องด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดเกล้าฯให้มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ จัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อพระราชทานแก่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวนแห่งละ 6,400 โดส รวมทั้งหมด 25,600 โดส เพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้นำไปจัดสรรกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่เสี่ยงเป็นกลุ่มแรก