โนมูระซีเคียวริตี้ชี้!?!เศรษฐกิจจีนครึ่งปีหลังยังไปต่อด้วย “โครงสร้างพื้นฐาน-เทคโนโลยีขั้นสูง”ขับเคลื่อนเมือง-ชนบท

1295

มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ บริษัทบริหารธุรกิจหลักทรัพย์ญี่ปุ่นชั้นนำในแวดวงการลงทุนมองว่า จีนยังมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกในช่วงครึ่งปีหลังจากการชูพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ทั้งในเมืองและชนบท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างจริงจัง แม้จะเข้มงวดกับหลักทรัพย์ฟินเทค ทำให้ขาดโอกาสในผลตอบแทนระดับสูง และปราบปรามเหมืองคริปโตอย่างจริงจังโดยยึดถือแนวทางความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

Nomura Securities Co., Ltd. (NSC) เป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจชั้นนำในญี่ปุ่น โดยให้บริการแก่นักลงทุนรายย่อยและลูกค้าองค์กร รวมถึงบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

วันที่ 19 ก.ค.2564 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายลู่ ถิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจากโนมูระ ซีเคียวริตีส์ (Lu Ting, chief China economist with Nomura Securities.) เปิดเผยว่า การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นายลู่กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนอาจเผชิญกับความท้าทายในครึ่งปีหลัง เนื่องจากความต้องการซื้อหลังเกิดวิกฤต (pent-up demand) เริ่มถดถอยและผลเชิงลบจากมาตรการสินทรัพย์ที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนอย่างเพียงพออาจช่วยรับมือกับแรงกดดันเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นได้

ด้านการออกตราสารหนี้โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในครึ่งปีแรกนั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของโควตาตลอดทั้งปี ซึ่งบ่งชี้ว่ายังเหลืองบประมาณเพียงพอสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับอัตราการเติบโตที่อาจลดลง

นอกจากนี้ จีนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการลงทุนในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากสามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น ทั้งยังสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตระยะยาวของประเทศ

ข้อมูลทางการล่าสุดชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนขยายตัว 12.7% เมื่อเทียบรายปีในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมและเงินให้กู้ยืมแก่ภาคอุตสาหกรรมในระยะกลางถึงระยะยาว เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนด้านการผลิตในอนาคต

นั่นคือแนวโน้มที่นักลงทุนต่างชาติมองเห็นโอกาสสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ชาติที่นำโดยรัฐบาลปธน.สี จิ้นผิง

นอกเหนือไปจาก การรับมือกับการระบาดใหญ่โควิด-19 ทั้งรอบแรกและรอบปัจจุบัน ยังสามารถผลักดันเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นและรุดหน้าไปได้ท่ามกลางความยากลำบาก และความไม่แน่นอนว่าการระบาดโควิดรอบใหม่จะสิ้นสุดอย่างไร

การฟื้นตัวของจีนหลังสถานการณ์โควิดถือว่าค่อนข้างไวมาก ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่ผ่านมา หรือราว 2 เดือน หลังจีนยกเลิก Lockdown เมืองอู่ฮั่น (เมืองที่ถือว่าได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด) จีนก็เริ่มมาตรการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว แม้เจอการแพร่ระบาดในพื้นที่จีนอยู่เป็นระลอก จนถึง ณ ขณะนี้ก็ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ เช่น ปลายเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ระบาดที่มณฑลกว่างตง และตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบาดที่มณฑลหยุนหนาน

จากการรายงานของ BBC เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของ 2564 เติบโต 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดระบาดหนักในจีนจนต้องล็อกดาวน์ทั่วประเทศ มาดูบทเรียนจากจีนว่าผ่านอุปสรรคหนักหนานี้มาได้อย่างไร

1.“ชาตินิยม” และการพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น ทำให้ผลกระทบจากทั่วโลกจึงไม่ส่งผลต่อจีนเท่าใดนัก

2.บริษัทจีนมีความสามารถในการแข่งขันและก้าวสู่ระดับโลกเพิ่มขึ้น

จากปัจจัยการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการปรับตัว Digital Transformation อย่างเต็มใจและรวดเร็วขององค์กรจีน รวมถึงการพัฒนาของแบรนด์จีน ขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของบริษัทจีนจึงสูงขึ้นไปด้วย

3.รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายฟื้นฟูโควิดอย่างทันท่วงที ทุ่มงบประมาณเต็มที่ไปที่ด้านการรณรงค์ต่อสู้กับโควิดอย่างไม่ละล้าละลัง ทั้งการพัฒนาวัคซีน-สาธารณสุข

4.ทุ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ – แก้ปัญหาว่างงาน – ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเมืองและชนบท

  1. พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเติบโตของเทคโนโลยี  และเข้าสู่ยุคแห่งดิจิทัล (Digitization)อย่างเต็มรูปแบบ

สรุปบทเรียนการฝ่าฟันปัญหาโควิด-19 ระบาดใหญ่ไม่ใช่หมกมุ่นเพียงคำตอบเดียวว่าต้องมีวัคซีนที่ดีที่สุดเท่านั้น อะไรๆมันจะดีไปหมด ความจริงที่ประจักษ์ประเทศจีนมีบทเรียนที่ทรงคุณค่าให้เราได้ศึกษาว่า วัคซีนนั้นสำคัญ แต่นโยบายตลอดจนการปฏิบ้ติงานของรัฐบาลสำคัญกว่า และประชาชนนั้นสำคัญที่สุด