หลังจากเคยมีประเด็นปลุกกระแสของกลุ่มม็อบ 3 นิ้ว เรื่องการไม่เข้ารับปริญญาเมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุด ทางด้าน ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพี่สาวของ จอห์น วิญญู พิธีกรชื่อดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า แล้วพวกเธอจะยังอยากรับปริญญากันอีกเหรอ #ถามลอย ๆ แต่อยากรู้จริง ๆ
จนต่อมาได้มีคอมเม้นต์จากนิสิต นักศึกษามาตอบว่า ไม่รับ เลือกที่จะไม่เข้ารับ แม้จะเรียนจบตอนนี้ก็ไม่ขอเข้ารับแล้ว เพราะเสียเวลา ไม่อยากซ้อมหลายรอบ บางคอมเม้นต์ก็ตอบอีกด้วยว่า ขอแค่เอาชุดมาใส่ถ่ายเล่น ๆ ได้มั้ย แต่ไม่ขอเข้ารับนะ ทำให้เรื่องราวถูกนำมาเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง
สำหรับการโพสต์ของผศ.ดร.วาสนา ไม่ทราบชัดถึงเจตนา ว่าต้องการพาดพิงสถาบันหรือไม่ เพราะการเข้ารับปริญญาของจุฬาฯนั้น จะต้องรับกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ หากในหลวงทรงโปรดเกล้าให้ทำภารกิจแทน
ทั้งนี้เมื่อย้อนไปช่วงเดือนก.พ. 2564 ผศ.ดร.วาสนา ก็เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่หนุนม็อบ 3 นิ้ว และออกตัวปลุกกระแสให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ช่วยแสดงตัว ว่าจะเอา หรือไม่เอา มาตรา 112 เพื่อให้นิสิตเลือกเข้าเรียน โดยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ” ประกาศ ขอความร่วมมือในการ call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัย
ด้วยเหตุที่นับวัน ก็ยิ่งมีนิสิตนักศึกษาถูกหมายเรียก หมายจับ หมายศาล สารพัดหมายเรียกไม่ถูกอันเนื่องมาจากประมวลกฎหมายอาญา ม.112 มากขึ้น และเกิดความสงสัยไม่แน่ใจในจุดยืนของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยควรเดินเรื่องประกันตัวหรือไม่ หรือเป็นหน้าที่ของคณะ หรือองค์กรเห็นด้วยกับ ม.112 จึงปล่อยให้อาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยไปประกันในฐานะปัจเจกและค่อนข้างตามมีตามเกิด อิฉันจึงเห็นสมควรต้อง call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย และทุกคณะให้ออกมาให้คำตอบกับสังคมว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” ม.112 ”
คำถามนี้มีคำตอบให้เลือกแค่ 2 อย่างคือ “เอา” หรือ “ไม่เอา” ไม่ต้องมาบอกว่าองค์กรมีความหลากหลาย เพราะเราอยากรู้ว่าตัวอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัย และคณบดีแต่ละคณะ “เอา” หรือ “ไม่เอา” แค่นั้น และถ้าจะบอกว่า “เอา แต่ไม่อยากให้ใช้พร่ำเพรื่อ” สิ่งนี้ก็มีความหมายแค่เท่ากับ “เอา” หรือถ้าบอกว่า “ไม่เอาแต่ไม่ได้แปลว่าไม่รักเจ้า” ก็แค่แปลว่า “ไม่เอา” อยู่ดี เอาแค่นี้เบสิคมากไม่ต้องการคำอธิบาย แก้ตัว disclaimer เหยียดยาว เป็นถึงระดับผู้บริหารแล้วคำถามเบสิคแค่นี้ต้องตอบได้
เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะต้องเลือกเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายเขามีสิทธิที่จะรู้ เขาจะได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าเขาชอบ ม.112 เขาจะได้ไม่ไปเข้าที่ที่ผู้บริหารบอกว่า “ไม่เอา” ม.112 หรือถ้าเข้าไปแล้วผู้บริหารเกิดจะไปประกันนักศึกษาทีโดนคดี ม.112 เขาก็จะได้ไม่ต้องมาประท้วงโวยวายให้มันมากความเพราะได้บอกจุดยืนไว้อย่างชัดเจนแล้ว
ในทางกลับกันเด็กที่ “ไม่เอา” ม.112 และรู้สึกว่าในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยอาจจะมีเหตุให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ก็จะได้เลือกเข้าได้ถูกคณะ หรือถ้าจำเป็นต้องเข้าคณะที่ผู้บริหาร “เอา” ม.112 ก็จะได้เตรียมหาลู่ทางที่จะไม่ต้องรบกวนผู้บริหารมาประกันตัวเวลาที่เขาเกิดมีคดีขึ้นมา เราคิดว่ามันแฟร์สำหรับทุกฝ่าย
และที่สำคัญ สำหรับเราซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ เราอยากได้หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่บ่งชี้จุดยืนต่อกฎหมายนี้จากปัญญาชนชั้นนำระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศ ณ เวลานี้ เพราะมันจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคนี้ สำหรับนักประวัติศาสตร์ในอนาคตชั่วลูกสืบหลานแน่นอน
แน่นอนว่าสิ่งนี้เราทำเองไม่ได้ แต่เราคิดว่ามันเป็นแคมเปญที่จะมีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เราจึงอยากชี้ชวนให้นิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ตลอดจนน้องๆ นักเรียนชั้นประถมมัธยมที่จะกลายเป็นนิสิตนักศึกษาในอนาคตทั่วประเทศช่วยกันออกมาผลักดัน call out ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ท่านรักหรือสนใจโดยพร้อมเพรียงกัน จักเป็นพระคุณยิ่ง