“ดร.กิตติธัช” จวก “พรรคกล้า” เละ! ขณะ “อรรถวิชช์” ยืนยันยึดมั่นอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” 

2361

“ดร.กิตติธัช” จวก “พรรคกล้า” เละ! ขณะ “อรรถวิชช์” ยืนยันยึดมั่นอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (7 กรกฎาคม 64) ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้าน ปรัชญาการเมือง และหนึ่งในผู้ริเริ่มพูดคุยตั้งพรรคกล้า ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองในยุคต่อจากนี้ จะเป็นยุคของการสร้างพื้นที่รวมชุดความคิด ในการพัฒนาประเทศผ่านองค์กร “คลังสมอง” (Think Tank) ก่อน แล้วเรื่องพรรคการเมืองจึงตามมาทีหลัง

ที่ผ่านมาพรรคการเมืองจดใหม่เกือบทั้งหมด จัดตั้งขึ้นจากความผิดหวัง แบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือพลาดตำแหน่งสำคัญในพรรค สุดท้ายก็เลยลงเอยแบบเดิมที่แค่มีชื่อใหม่ แต่แนวทางการทำการเมืองก็เหมือนเดิม หาเสียงแบบเดิมๆ บอกว่า ขยันแต่ประดิษฐ์วาทกรรมว่าตนเองแตกต่างและดีกว่าคนอื่น และแข่งกันสร้างภาพ
แต่การเมืองในยุคถัดไป จำเป็นต้องมีองค์กร/หน่วยงาน/มูลนิธิคลังสมอง (Think Tank) เป็นที่รวมความคิดในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เสียก่อน เพื่อที่จะได้ดึงคนเก่งที่ไม่ได้อยากจะเป็น ส.ส.หรือนักการเมือง แต่อยากจะพัฒนาประเทศในด้านที่ตนมีความถนัดไว้ด้วยกัน จากนั้นพรรคการเมืองจึงค่อยนำองค์ความรู้และบุคลากรที่มีศักยภาพจากองค์กรเหล่านั้นมาทำงาน ไม่ว่าจะในพรรคการเมือง หรือในรัฐบาล/กระทรวงต่างๆ หลังเข้าไปบริหาร
เรื่องนี้ผมเคยเขียนเป็นยุทธศาสตร์ให้บางกลุ่มไปเมื่อ 2 ปีก่อนตั้งแต่หลังเลือกตั้ง ว่าหน้าฉากของการเมืองจะมีความเปลี่ยนแปลงในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ขั้วการเมืองสองฝั่งจะตีกันเละ สุดท้ายอาจมีการยุติความขัดแย้งด้วยการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งในช่วงแรกอาจดีที่ลดความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองลงได้ (โดยทิ้งพรรคปฏิวัติไว้ข้างหลังพรรคเดียว) แต่ประชาชนจะเบื่อ เพราะสุดท้ายจะมีแต่นักการเมืองแบบเดิมๆ จัดสรรอำนาจและผลประโยชน์แบบเดิมๆ คนจะเริ่มมองหาผู้แทนใหม่ๆ นอกจากนักการเมืองหน้าเดิมๆ และวิธีทำการเมืองแบบเดิมๆ หากใครที่รวมกลุ่มมวลชนที่มีความคิดและฝีมือในการพัฒนาประเทศ (โดยไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวกับพรรคการเมืองอย่างเต็มตัว) ได้ก่อน กลุ่มนั้นจะได้เปรียบในการทำการเมืองหลังยุคสองพรรคใหญ่จับมือกัน
กลุ่มหนึ่งที่ผมได้ให้หลักการนี้ไว้ ได้เอาไปทำสถาบันฯ ที่กำลังเป็นกำลังสำคัญให้กับพรรคการเมืองฝั่งรอยัลลิสท์
ซึ่งแนวทางของสถาบันฯ นี้อาจไม่ได้ตรงกับเป้าหมายที่ผมให้ไว้เท่าไรนัก ผมจึงถอยออกมา และไปตั้งกลุ่ม Think Tank ขึ้นมาในชื่อ “ขับเคลื่อนไทย” (ตั้งมาก่อนที่กลุ่ม CARE จะเปิดตัวหลายเดือนเลยครับ) ทุกอย่างกำลังไปได้ดี สรรพกำลังและคนเก่งๆ จากภาคธุรกิจ ประชาสังคมมารวมตัวกันพร้อมเพรียง แต่เสียดายที่เรา “พลาด” โดยไปตกลงรับคำชักชวน ให้แปลงจากกลุ่มเพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองในนักการเมืองเสียก่อน
โดยตอนแรกเรามองว่า หากมีการทำหน่วยงานอิสระที่ไม่อยู่ใต้พรรค เป็น “Lab” เป็นองค์กรคลังสมองแยกจากพรรค เราก็ยินดีสนับสนุน แต่พอผ่านไปไม่กี่เดือน “ลาย” ของนักการเมืองเก่าๆ ก็เริ่มออก ความเป็นพรรคการเมืองแบบ Start Up เป็นพื้นที่กลาง (Platform) ที่จะชูคนเก่งจากทุกสาขาอาชีพ มาทำโครงการช่วยประชาสังคม ในลักษณะ Project Base ที่ผมวางไว้แต่แรก ก็หายไปหมด มีการบีบผู้ก่อตั้งพรรคออกจากฝ่ายยุทธศาสตร์ จากนั้นหัวหน้าพรรคก็เอาคนใกล้ตัวและบริวารขึ้นไปกุมอำนาจในยุทธศาสตร์ และเปลี่ยนแนวทางเป็นการชูหัวหน้าพรรค ด้วยวัฒนธรรมแบบ “แม่ยก/ติ่ง” (เอาคนมากินกาแฟ ถ่ายรูป และกรี๊ดกร๊าดกับนักการเมือง) แบบที่พวกเขาคุ้นเคยจากพรรคเก่า
สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน และสลัดภาพการเป็น “พรรคสาขา 2” ไม่ได้ เพราะยังทำการเมืองแบบเดิมๆ เหมือนตอนอยู่พรรคเก่า
คนที่รวมมากันตอนแรกด้วยอุดมการณ์ ถอยหนีออกไปเกินครึ่ง หลายคนก็ไปผูกติดอยู่เป็นกรรมการบริหารหรือทีมทำงานในพรรคนั้น จนยากที่จะถอนตัวในเวลานี้ หลายคนอยากถอยหนี อยากเดินออกมา แต่ก็ติดดที่เพื่อนพี่น้องยังอยู่ ถ้าออกมาจะพังกันหมด เลยยังไม่ถอยออกมา (แต่ถ้าออก เขาบอกว่าเขาจะออกกันหมดเป็นขบวนพร้อมกัน)
จริงๆ ก่อนหน้านี้ หลายคนเริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้าง เพราะตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนก่อนมีการพูดคุยเบื้องหลังว่า 4 กุมารและ ดร.สมคิดจะมารวมกันกับพรรค แต่สุดท้ายก็ตกลงกันไม่ลงตัว เพราะข้อเสนอที่ทางผู้มีอนำาจของพรรคยื่นให้ทีม 4 กุมาร ประกอบกับชื่อเสียงการทำงานของผู้มีอำนาจในพรรค ซึ่งหากรวมพรรคไปก็อยู่ในแบรนด์ของนักการเมืองคนเดียว สุดท้ายก็จะได้แต่พรรคที่ไม่มีความเป็น “สถาบันทางการเมือง” จนทำให้ 4 กุมารตัดใจ ไม่รวม และไปตั้งพรรคใหม่เองดีกว่า
จนวันนี้เริ่มเปิดตัวมาเป็น Thailand Future ที่เป็นมูลนิธิคลังสมอง ที่ ดร.สมคิด ให้ลูกชายสองคนไปวางไว้ตั้งแต่หลายปีก่อน ที่สำคัญคือ Connection ของ ดร.สมคิดนั้นไม่ธรรมดา มีทั้งเครือข่ายนักธุรกิจ หอการค้า ภาคประชาสังคม เศรษฐกิจฐานราก (รวมลุงชวน ชูจันทร์ถึงผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐที่ออกจากพรรคมานานแล้วด้วย) ไหนจะมหาวิทยาลัยชั้นนำ และนักวิชาการอีกมาก ก็รอดูกันครับว่าเขาจะเดินหมากอย่างไรต่อไป
หมายเหตุ: แต่จุดอ่อนของทีม 4 กุมาร คือ ขาดทีมยุทธศาสตร์การเมืองและคนทำงานพื้นที่ ดังนั้นจำเป็นต้องหาทีมการเมืองระดับ Ground War มาช่วย เพื่อเติมเต็มจุดแข็งของการเป็น Technocrat ที่พวกตนมี
สุดท้ายนี้ผมก็ฝากไว้นะครับ หากอยากทำการเมืองยุคใหม่ คุณต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่คลังสมอง (Think Tank) และการทำงานประชาสังคม (แบบที่หลายประเทศเขาทำกัน) ให้มาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะลงสมัคร ส.ส.หรือเป็นผู้แทน เขาแค่อยากมีพื้นที่ในการทำงาน ปล่อยของ หรือพัฒนาประเทศ ดังนั้น หากใครก็ตามที่รวมคนกลุ่มนี้ไว้ได้ และผลักดันให้เกิดโครงการดีๆ กับสังคมได้ ตั้งแต่ยังไม่เข้าไปมีอำนาจ กลุ่มการเมืองนั้นแหละที่จะชนะใจประชาชนในระยะยาวหลังจากนี้อีก 5 ปีข้างหน้า (เป็นอย่างน้อย)
ในขณะที่ทีมข่าวเดอะทรูธ ได้สัมภาษณ์ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ถึงกรณีดังกล่าวว่า เราต้องการคนทั้ง 3 เจเนอเรชั่น รุ่นใหญ่-กลาง-ใหม่ และระดมความเห็นอย่างเสรี การรับความเห็นต่างได้คือ หัวใจของพรรค สำหรับ ดร.กิตติธัช ที่ห่างจากพรรคไปก็เพื่อกลับไปทำงานในมหาวิทยาลัยเป็นปีกว่าแล้ว
ก็ขอบคุณที่ได้มาร่วมสร้างพรรคมาตั้งแต่ต้น หวังว่าจะเห็นถึงอุดมการณ์ของพรรคกล้า ที่ยึดเอา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปรองดองของคนทั้งชาติที่จะก้าวเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนชาติไปสู่ความทันสมัยในการปฏิรูประบบราชการที่ล้าหลัง