จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตำรวจ ได้ยื่นเพิกถอนการประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎร ที่ได้รับการประกันตัวออกมา โดยติดเงื่อนไขศาลที่ต้องไม่ทำกิจกรรมที่กระทบความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองนั้น
ต่อมาทางด้านพล.ต.ต. สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า พนักงานสอบสวนได้พิจารณาพฤติกรรมของแกนนำที่ได้รับการประกันตัวโดยติดเงื่อนไขศาลแล้วพบว่า มีแกนนำที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข 5 คน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการร่วมชุมนุมในลักษณะมั่วสุม หรือแม้แต่การปราศรัยพาดพิงที่เข้าข่ายละเมิดเงื่อนไขศาลนั้น
ล่าสุดทางด้านพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รอง ผบช.น.) , พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยการชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของหลายกลุ่มวันที่ 2 ก.ค. – 4 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา
โดยพล.ต.ต.ปิยะ รอง ผบช.น. กล่าวว่า การชุมนุมห้วงที่ผ่านมามีการชุมนุมสำคัญดังนี้ วันศุกร์ที่ 2 ก.ค.มีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกลุ่มราษฏร นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน เริ่มจากแยกอุรุพงษ์เคลื่อนมายังแยกพาณิชยการเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์
สำหรับวันที่ 3 ก.ค.มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มประชาชนคนไทย นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มไทยไม่ทน นำโดยนายจตุพร พรมพันธุ์ และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ โดย 2 กลุ่มแรกชุมนุมที่แยกนางเลิ้ง เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ส่วนกลุ่มที่ 3 เริ่มที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าไปยังแยกราชประสงค์และกลับมาที่แยกนางเลิ้ง สำหรับวันที่ 4 ก.ค.มี 3 กลุ่มเล็ก ๆ คือกลุ่มโมกข์หลวงริมนน้ำ กลุ่มศิลปินราษฏร และกลุ่มนายวิรัษ แซ่คู ทั้ง 3 กลุ่มมวลชนจำนวนไม่มาก
จากการกระทำของทุกกลุ่มทั้งวันที่ 2 – 4 ก.ค.เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ควบคุมโรค ,พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และพ.ร.บ.จราจร ส่วนที่มีกลุ่มบุคคลที่ลักลอบจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการชุมนุมเปิดท้ายขายของวันที่ 2 ก.ค. เป็นความผิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับอนุญาต ผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกส่วนหนึ่ง ในการกระทำผิดของผู้ชุมนุม 2-4 ก.ค. เป็นการทำผิดหลายท้องที่คือ สน.นางเลิ้ง สน.ปทุมวัน สน.สำราญราษฎร์ และสน.พญาไท ในส่วนนี้พนักงานสืบสวนสอบสวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานมีกลุ่มบุคคลที่ต้องถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น 70 ราย และจะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษในวันนี้ รถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอีกจำนวนหนึ่งที่พนักงานสืบสวนสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้พนักงานสืบสวนสอบสวนกำลังเร่งรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นกล้องวงจรปิดในเขตพื้นที่ ที่กลุ่มคาร์ม็อบเดินทางผ่านก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ กีดขวางการจราจรหรือว่ามีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือไม่ ถ้ามีลักษณะอันตรายจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งหมด การบีบแตรก็เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่กระทำผิดได้ 70 คน แต่ไม่ได้หมายความว่ามีเพียง 70 ราย ที่ต้องถูกดำเนินคดี เป็นเพียงการเริ่มต้น การดำเนินคดีต้องเริ่มจากการพิสูจน์ทราบตัวบุคคลการรวบรวมพยานหลักฐานตามกรอบของกฎหมาย อย่างที่เรียนว่าถ้ามีการออกมาชุมนุมถ้ามีการฝ่าฝืนกฎหมายบทใดจะมีการดำเดนินคดีถ้าเดินหน้าไปแล้วถอยหลังไม่ได้
ขณะที่วันนี้ (5 ก.ค.) ทางกลุ่มศปปส. ได้เดินทางยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยื่นหนังสือให้ย้าย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เนื่องจากไม่สามารถจะจัดการกับม็อบได้ โดยในเพจเฟซบุ๊กของศปปส. ยังระบุอีกด้วยว่า “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน(ศปปส.)
นำโดย นาย จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว (แกนนำ) พร้อมทีม admin มุ่งหน้าสู่ สตช.ทวงถามความคืบหน้าตามหาคนหายพร้อมทั้งจี้ บ.ช.น. ถึงการละเลยปล่อยให้มี ม็อบ!!! ถ้าขวางม็อบไม่ได้ลาออกไปเถอะ!!!”