ผู้ว่าธปท.ชี้มาตรการแก้หนี้-ประคองเศรษฐกิจแค่ซื้อเวลา!?!แนะทางออกแก้ปัญหา พร้อมเสนอให้ใครเป็นเจ้าภาพ!!

1336

ตกอกตกใจกันตามๆกัน ข่าวหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งแตะ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี ทั้งปัญหาการระบาดโควิด-19 หลายระลอกซ้ำเติมปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ที่เอื้อการเป็นหนี้ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติ ล่าสุดข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2564 สะท้อนสถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังคงมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ Governer’s Talk ซึ่งเผยแพร่ใน BOT พระสยาม MAGAZINE ถึงความกังวลต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ว่า มาตรการทางการเงินและมาตรการต่าง ๆเป็นแค่การซื้อเวลา เหมือนกับการพยุงอาการคนไข้เพื่อรอวันที่คนไข้จะฟื้นตัวกลับมาเอง ท้ายที่สุดแล้ว เศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินหรือการคลัง แต่คนต้องมีรายได้ ต้องมีงานทำ

แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ถ้าการท่องเที่ยวไม่กลับมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็กลับมาได้ลำบาก เพราะภาคการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่มีสัดส่วน 11 – 12% ของ GDP แต่เป็น 20% ของการจ้างงานด้วย ตราบใดที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา รายได้ของคนก็ไม่กลับมา ต่อให้เรายืดหนี้ ลดต้นลดดอก ลูกหนี้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้

ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า วิกฤตครั้งนี้สะท้อนความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป โดยไม่มีเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นรองรับ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะชี้ชะตาความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“ประเทศไทยไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้มานาน คล้าย ๆ กับเราซื้อเวลาด้วยการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ตัวเลขออกมาดูดี สนับสนุนให้คนเป็นหนี้กู้ง่าย การบริโภคก็เลยดูดี เศรษฐกิจก็โตขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่ทั้งประเทศต้องฉุกคิด ไม่ใช่แค่เรื่องของการจะออกจากวิกฤตครั้งนี้ แต่หลังจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยควรจะเป็นอย่างไร และถ้าจะให้ดี สิ่งที่เราทำระหว่างทางเพื่อแก้วิกฤต ควรจะต้องตอบโจทย์ระยะยาวของประเทศด้วย”

ด้านปัญหาหนี้คนไทยสูงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สั่งสมมานาน หลายฝ่ายพยายามหาทางช่วยแก้มาเป็นระยะ บทบาทของแบงก์ชาติต่อเรื่องนี้ทำอย่างต่อเนื่อง

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าปัญหาหนี้ประชาชนคนไทยกลายเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่เดือน มิ.ย. เมื่อนายกฯ ประยุทธ์ออกมาแสดงความเป็นห่วง หลังทราบข้อมูลล่าสุดว่าคนไทยมีหนี้รวมกันเกินร้อยล้านบัญชีแล้ว และเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบในระยะสั้นและยาว 

ในช่วงปี 2563 แบงก์ชาติฯได้ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.25% มาอยู่ที่ 0.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาสถาบันการเงินของสถาบันการเงินจาก 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝากเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงตามภายในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยอ้างอิง (MRR) ที่ปรับลดลงถึง 0.77% จากช่วงต้นปี 63 ให้สถาบันการเงินลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. มีผล 1 ส.ค.63 ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิต (จาก 18% เป็น 16%) สินเชื่อบุคคล (จาก 28% เหลือ 25%) สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (จาก 28% เหลือ 24%) รวมถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ภายใต้การกำกับ (จาก 36% เหลือ 33%)

ออกแนวทางการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้ของสถาบันการเงินที่เป็นธรรมขึ้น สำหรับสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียน คือ (1) ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บน “เงินต้นเฉพาะงวดที่ผิดนัดชำระจริง” (เดิมคิดจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด) เริ่ม 1 พ.ค. 63 (2) ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกได้ไม่เกิน 3%” มีผล 1 เม.ย. 64 และ (3) กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้ “ตัดเงินต้นที่ค้างชำระนานสุดก่อน” มีผล 1 ก.ค. 64 รวมถึงให้สถาบันการเงินช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเนื่อง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาผลักดันให้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 เพื่อลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ถูกฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลจนสิ้นสุดคดีมีผล 11 เม.ย.2564 โดยปรับลดดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงทำสัญญากันไว้ก่อน (จาก 7.5% เหลือ 3%) ลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (จาก 7.5% เหลือ 5%) ไม่คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย และให้คิดดอกเบี้ยเฉพาะเงินต้นงวดที่ผิดนัด (จากเดิมคิดบนเงินต้นคงค้างทั้งหมด) ช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงไป ลดหนี้เสียและการฟ้องคดี ซึ่งสอดคล้องกับประกาศ ธปท.ก่อนหน้านี้

ด้าน กระทรวงการคลังมีนโยบายให้ ธ.ออมสินขยายบทบาทธุรกิจนอนแบงก์และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพื่อสร้างการแข่งขันเป็นผู้นำในตลาดช่วยลดดอกเบี้ยลดลงมา ซึ่ง ธ.ออมสินออกมาประกาศในเดือน มี.ค. 2564 ทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด และคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 18% ทำให้ธุรกิจคู่แข่งในตลาดทยอยลดดอกเบี้ยลงมาใกล้ๆ กัน (จากเดิมคิดดอกเบี้ย 24-28%) เพื่อรักษาฐานลูกค้า

ส่วน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาก็ออกมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีภายในสิ้นปีนี้ เช่น (1) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ให้ผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัด (2) ลดเบี้ยปรับ 100% ให้ผู้กู้ที่ชําระหนี้พร้อมปิดบัญชี (3) ลดเบี้ยปรับ 80% ให้ผู้กู้ที่ชำระหนี้ทั้งหมด และชะลอฟ้องผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในปี 2563-64 ถึง 31 มี.ค.65

คนไทยจะหลุดพ้นกับดักหนี้ในสถานการณ์โควิดที่มาซ้ำเติมได้ ผู้นำประเทศต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัญหาหนี้สินเป็นปลายน้ำ ควรจัดตั้งคณะกรรมการดูแลจริงจังและให้ทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหาหนี้ครบวงจร เพื่อเป็นช่องทางให้หลายหน่วยงานที่พยายามเดินหน้ามาแล้วเชื่อมภาพกัน หาทางแก้ปัญหานี้เพิ่มจากการลดดอกเบี้ยอย่างเดียว