เปิดทีม 7 คณะกรรมการสอบสวน!?!กรณีประมูลรถไฟทางคู่ฉาวโฉ่ มูลค่า 1.28 แสนล้าน พิสูจน์ล็อกสเป็คหรือไม่ เดี๋ยวรู้ใครเข้าปิ้ง!!

1610

“พล.อ.ประยุทธ์”เอาจริง! ตั้ง 7 อรหันต์ นำ “ดนัย-พีระพันธ์-ประภาศ-ชยธรรม์” เป็นคณะกรรมการสอบสวนประมูลรถไฟทางคู่มูลค่า 128,376 ล้านบาท ถูกร้องเรียนว่ามีการล็อคสเป็กเอื้อผู้รับเหมารายใหญ่ ล็อคราคาประมูลหรือไม่? เพราะมีข้อสังเกตุ จำนวนวงเงิน ที่ต่ำกว่า ราคากลางเท่ากันอย่างน่าสงสัย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลังจากมีข้อร้องเรียนจำนวนมากว่า การประมูลรถไฟทางคู่ 5 สัญญา ใน 2 เส้นทาง 1.โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 3 สัญญา 2.โครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม 2 สัญญา มูลค่ารวม 128,376.79 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเงื่อนงำในการประมูลทั้งเรื่องการฮั้วประมูล การเสนอราคาแข่งขันที่ต่ำจากราคากลางเพียง 0.08% เท่านั้น 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ และสั่งให้ชะลอการประกาศผลการประมูลออกไปก่อนแล้ว

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ 2 โครงการ วงเงิน 128,376 ล้านบาท ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมาสอบสวนในเรื่องนี้ ประกอบด้วย 1.นายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษปนะจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน 2.นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 3.นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง 4.นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม 5.ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ 6.ผู้แทนวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ฯ 7. ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. คณะกรรมการสอบสวนการประมูลรถไฟทางคู่ 128,376 ล้านบาท ได้มีหนังสือลงเลข “ลับ” เพื่อเรียกตัวผู้ที่ร้องเรียนและผู้เกี่ยวข้อง3 คน คือ นายสามารถ ราชพบสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มาให้ข้อมูลหลักฐานการประมูลในโครงการนี้

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สาย คือโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 3 สัญญา และ โครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม 2 สัญญา มูลค่ารวม 128,376.79 ล้านบาท เป็นการประมูลด้วยระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ก็จริง แต่โครงการนี้มีหลายอย่างที่ต้องสืบค้น เพื่อนำมาประมวลผลในการดูแลประโยชน์ของงบประมาณ เนื่องจากมีผู้ซื้อซองมีจำนวนมาก แต่ผู้ยื่นซองประมูลจริงน้อยรายและมีเรื่องที่เหมือนกันโดยบังเอิญในแต่ละสัญญาด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้รับเหมารายใหญ่ที่ชนะการประมูลในแต่ละสัญญา เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางในเชิงตัวเลขแบบพลิกไปพลิกมาเหมือนการซื้อหวยเลขวิ่งและมีการสลับเลขในการเสนอราคาให้ต่ำกวง่าราคากลางเพียงแค่ 16.31 กับ 31.16 ล้านบาท หรือเสนอต่ำกว่าราคากลางแค่ 23 ล้านบาท แต่แตกต่างกันที่หลักทศนิยม ซึ่งตรงนี้คือข้อสันณิฐานของการประมูลที่ผู้ร้องเรียนหลายรายได้ตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นไปได้อย่างไร?

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขการประมูล หากไม่มีการสั่งชะลอการประกาศผลการประมูลจากนายกรัฐมนตรีนั้นในเดือนกรกฎาคมนี้ กรมบัญชีกลางจะต้องประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลเพื่อเดินหน้าไปสู่การทำสัญญาโครงการ เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติด้านเทคนิค และข้อเสนอราคาแล้ว

สำหรับ การประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายเหนืออันฉาวโฉ่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่าโครงการ 72,919.25 ล้านบาท โดยมีการแยกเป็น3 สัญญา

สัญญาที่ 1 รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-งาว ราคากลาง 26,599.16 ล้านบาท กลุ่มกิจการร่วมค้า ITD-NWR (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR)) เสนอราคาต่ำสุด 26,568 ล้านบาท ต่ำจากราคากลาง 31.16 ล้านบาท คิดเป็น 0.117%

สัญญาที่ 2 รถไฟทางคู่ช่วงงาว-เชียงราย ราคากลาง 26,931.78 ล้านบาท กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE (บริษัท ช.การช่าง (CK) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)) เสนอราคาต่ำสุด 26,900 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 13.78 ล้านบาท คิดเป็น 0.051%

สัญญาที่ 3 รถไฟทางคู่ช่วงเชียงราย-เชียงของ ราคากลาง 19,406.31 ล้านบาท กิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE (บริษัท ช.การช่าง (CK) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)) เสนอราคาต่ำสุด 19,390 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.31 ล้านบาท คิดเป็น 0.084%

ขณะที่ โครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มูลค่าโครงการ 55,457.55 ล้านบาท แยกการประมูลออกเป็น 2 สัญญา

สัญญาที่ 1 รถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท กลุ่มกิจการร่วมค้าที่มี บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นแกนนำ เสนอราคาต่ำสุด 27,100 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23.62 ล้านบาท คิดเป็น 0.087%

สัญญาที่ 2 รถไฟทางคู่ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท กลุ่มกิจการร่วมค้าที่มี ที่มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นแกนนำ เสนอราคาต่ำสุด 28,310 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23.93 ล้านบาท คิดเป็น 0.084%

เท่ากับว่าการประมูลรถไฟทางคู่ 2 สาย 5 สัญญา มูลค่า 128,376.79 ล้านบาท ผู้รับเหมาเอกชนเสนอราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียง 108.8 ล้านบาท คิดเป็น 0.0847% เท่านั้น ขณะที่การประมูลแต่ละสัญญา ต่ำกว่าราคากลาง 0.05-0.12%