พีเพิลเดลีสื่อทางการจีนเทิดพระเกียรติ!! สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์มิตรภาพจีน-ไทย

2073

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 หนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี่ สื่อทางการจีน ในโอกาสครบรอบ 100 ปี การสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน 1 ก.ค. ได้ร่วมนำเสนอ พระราชประวัติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สัมพันธ์มิตรภาพจีน-ไทย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 (ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 5 ปีมะแม สัปตศก) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ซึ่งเป็นช่วงปีที่ไทยและจีนได้สานสัมพันธ์ทางการฑูต ในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งห้าปีต่อมา พระมารดาจึงทรงสนับสนุนให้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยวิชาการด้านจีนศึกษาอย่างลึกซึ้ง นอกเหนือจากการทรงพระอักษรภาษาจีนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ถึงปัจจุบันแล้ว ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างสม่ำเสมอ นับแต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2524 จวบจนปัจจุบัน ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินจนครบทั่วทุกมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้นำจีนได้กล่าวชื่นชมว่า ยากที่จะหาอาคันตุกะใดที่จะได้เยี่ยมเยือนจีนอย่างถ้วนทั่วทั้งในเมืองและในชนบทที่ห่างไกลดังเช่นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในการเสด็จเยือนประเทศจีนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 พระองค์เสด็จไปยังปักกิ่ง ซีอาน เฉิงตู คุนหมิง และทรงพระราชนิพนธ์หนังสือชื่อ “ย่ำแดนมังกร” หลังเสด็จฯ เยือนจีนครั้งแรกนี้เก้าปีต่อมา ในระหว่างการเสด็จเยือนครั้งที่สอง พระองค์เดินทางไปทางตะวันตกตามเส้นทางสายไหมโบราณจากซีอานไปจนถึงคัชการ์ในซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และต่อมาได้ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกประสบการณ์ในหนังสือท่องเที่ยวเล่มที่สอง ชื่อว่า “มุ่งไกลในรอยทราย”

หลายสิบปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในเกือบทุกมณฑลและเขตปกครองตนเองของจีน และทรงพระราชนิพนธ์หนังสือท่องเที่ยวของจีน เปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศอันกว้างใหญ่นี้ความสนใจของพระองค์ในประเทศจีนยังได้ขยายไปสู่การศึกษาและการสื่อสารทางวัฒนธรรม ทรงมีความผูกพันพิเศษกับมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่เคยศึกษาและได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ ในปี 2548 พระองค์ได้ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิรินธรที่มหาวิทยาลัย ในปี 2550 และก่อตั้งสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาที่พระองค์สำเร็จมา โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน

ในหนังสือ “หยกใสร่ายคำ” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีนเป็นภาษาไทย ทรงรวบรวมพระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีน 34 บท ที่ทรงแปลไว้นานแล้วเมื่อครั้งทรงเรียนภาษาจีนแรกๆ เป็นบทกวีที่รู้จักกันแพร่หลายจากนักกวีจีนโบราณที่มีชื่อเสียงเช่น เมิ่งเฮ่าหราน ตู้มู่ หลี่ไป๋ ถังหวาน ฯลฯ เพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบหรือศึกษาเพิ่มเติมการเรียนวรรณคดีจีนแก่ผู้สนใจมิตรภาพอันทรงคุณค่านี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สัมพันธ์ไทย – จีน ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา และทรงได้รับการยกย่องในฐานะต้นแบบสำคัญที่สุดในการสืบสานมิตรไมตรีระหว่างสองประเทศ

เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562 ทางการจีนประกาศเกียรติยศทูลเกล้าฯถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นหนึ่งในบุคคลเกียรติยศชาวต่างชาติ 6 คน ในวาระครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรางวัลเกียรติยศนี้จะมอบให้แก่ชาวต่างชาติที่มีคุณูปการในการส่งเสริมความเป็นสมัยใหม่แก่สังคมนิยมจีน การสนับสนุน แลกเปลี่ยน และร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศ รวมถึงการพิทักษ์ไว้ซึ่งสันติภาพของโลก