ปัญหาการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน 1.28 แสนล้านไม่โปร่งใสเกิดขึ้นท่ามกลางความยากลำบากฝ่าการระบาดโควิด-19 เกิดกระแสคัดค้านเปิดโปงข้อพิรุธจากกลุ่มองค์กรภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะกรรมการตรวจสอบรถไฟทางคู่ ที่นายกรัฐมนตรีฯตั้งขึ้นได้เชิญ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และคุณสาวิทย์ แก้วหวานเพื่อไปให้ข้อมูลเรื่องปัญหารถไฟทางคู่ สายเหนือ-อีสานส่อทุจริตโจ่งแจ้ง หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบโครงการก่อนหน้านี้ ในวันจันทร์ ที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นโอกาสแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในการคลี่คลายความข้องคาใจของประชาชนและยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ
สืบเนื่องจากเมื่อวันนี้ 9 มิ.ย. 2564 สถาบันทิศทางไทยได้จัดเวทีเสวนา ประมูลรถไฟทางคู่ บทพิสูจน์ นายกฯ เดินหน้าต่อต้านทุจริต เป็นวาระแห่งชาติ? โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยมีดร.เวทิน ชาติกุล ผอ.สถาบันทิศทางไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยต่อมาในวันที่ 10 มิ.ย.2564 ได้ไปยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาทบทวนการประมูลโครงการนี้และตรวจสอบความไม่ถูกต้องในการประมูลเพื่อประโยชน์ต่อประเทศ และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นต่อรัฐบาล
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เปิดเผยว่า การประมูลโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 2 สาย ได้แก่ สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ประมูลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ส่วนสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นการประมูลที่สร้างความกังขาและประหลาดใจอย่างมาก เนื่องจากราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉียดฉิว
โดยสายเหนือราคากลาง 72,918 ล้านบาท ผลราคาที่ประมูล 72,858 ล้านบาท ลดลงเพียง 60 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% เท่านั้น ส่วนสายอีสาน ราคากลาง 55,456 ล้านบาท ผลราคาประมูลที่ 55,410 ล้านบาท ลดลงแค่ 46 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็น 0.08% เท่ากัน
ซึ่งมีข้อประหลาดใจคือ 1. การประมูลสายเหนือ แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ส่วนสายอีสานแบ่งออกเป็น 2 สัญญา รวมเป็น 5 สัญญา ซึ่งเท่ากับจำนวนผู้รับเหมาขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าประมูลได้พอดี และชนะการประมูลทั้ง 5 ราย
- ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเท่ากันคือ 0.08% ทั้ง 2 สาย อย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นการลดราคาที่น้อยมากสำหรับวงเงินก่อสร้าง 5-7 หมื่นล้านบาทที่ลดราคาแค่ 60 ล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 420 กม. ในปี 2560 มีราคากลาง 36,021 ล้านบาท ราคาที่ได้จากการประมูล 33,982 ล้านบาท นั่นคือประหยัดได้มากถึง 2,039 ล้านบาท คิดเป็น 5.66% ต่างกับการประมูลครั้งนี้ที่ประหยัดลงแค่ 0.08% ที่ถือว่าน้อยมากๆ
โดยการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้เมื่อปี 2560 ที่ประหยัดเงินได้มากถึง 2 พันล้านบาทเกิดจากที่ตนเองได้ทักท้วงไปที่ รฟท. ก่อนเปิดประมูล โดยเสนอให้ปรับ TOR ที่รฟท.เคยใช้ประมูลรถไฟทางคู่ สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และสายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่ผลประมูลออกมาใกล้เคียงกับราคากลางมาก คือต่ำกว่าราคากลางเพียง 0.75% เท่านั้น
ซึ่งพบว่าเกิดจาก TOR ไม่แบ่งย่อย ทำให้ค่าก่อสร้างแต่ละสัญญามีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟไม่น้อยกว่า 15% ของค่าก่อสร้างแต่ละสัญญา ซึ่งเป็นการล็อกให้เฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่ ส่วนขนาดกลางเข้าร่วมประมูลไม่ได้
นอกจากนี้ยังเสนอให้แยกประมูลสัญญางานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา ซึ่งจากเดิมที่ รฟท.รวมงานโยธา และระบบอาณัติสัญญาณ พบว่าอาจจะเปิดโอกาสให้ล็อกสเปกได้เนื่องจากผู้รับเหมาจะต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณ การแยกสัญญาจะป้องกันการล็อกสเปก และทำให้มูลค่าโครงการแต่ละสัญญาลดน้อยลง
หลังทักท้วง รถไฟสายใต้ที่เดิมแบ่งเป็น 3 สัญญา มูลค่าแต่ละสัญญาสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ปรับเป็น 5 สัญญา มูลค่าเหลือ 6,000-8,000 ล้านบาทในแต่ละสัญญา และกำหนดผลงานเหลือ 10% ของค่าก่อสร้างแต่ละสัญญา ทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าประมูลได้ เพราะ 10% ของ 8,000 ล้านบาท ก็คือ 800 ล้านบาท
สาเหตุที่สามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะกรรมการ กำกับการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปหรือซูเปอร์บอร์จัดซื้อจัดจ้าง โดยมี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน
ซึ่ง รฟท.ควรใช้กติกากำหนด TOR เป็นมาตรฐานในการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน แต่เหตุใดจึงกลับไปใช้วิธีเดิม
ซึ่งการรวมงานเป็นสัญญาใหญ่ มูลค่าสูง ผู้รับเหมาขนาดใหญ่เท่านั้นที่ยื่นประมูลได้ ส่วนผู้รับเหมาขนาดกลางจะเข้าร่วมได้จะต้องไปจับมือกับรายใหญ่เป็นกิจการร่วมค้า ซึ่งผู้รับเหมารายใหญ่มักปฏิเสธรับเหมาขนาดกลาง เพราะ 1. ไม่ต้องการแบ่งเงินให้ 2. ไม่ต้องการแบ่งผลงานให้ เพราะจะทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางจะกลายเป็นขนาดใหญ่ได้ในอนาคต และกลายเป็นคู่แข่ง จึงต้องการแบ่งงานในลักษณะจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วงมากกว่า
ดร.สามารถกล่าวว่า หาก รฟท.ใช้ TOR มาตรฐานเหมือนรถไฟทางคู่สายใต้ ผลประมูลราคาอาจจะต่ำกว่านี้ ประหยัดเงินได้อย่างน้อย 5.7% เทียบจากวงเงิน 2 โครงการ ที่ 128,374 ล้านบาท คิดเป็นเงินประหยัดได้ถึง 7,216 ล้านบาท น่าเสียดายในการเสียโอกาสนำเม็ดเงินจำนวนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนได้อีกมาก
ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ชี้ชัดเขียน TOR ล็อกให้รับเหมารายใหญ่ 5 รายโดยกล่าวว่า เรื่องนี้ทุกอย่างอยู่ที่เจตนา หากเจตนาบริสุทธิ์ ทุกคนจะไม่สงสัยแน่นอน แต่ตัวเลขประมูลลดราคาเพียง 0.08% เท่ากันทุกอย่าง เจตนาไม่บริสุทธิ์
ย้อนไปดู TOR ประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ มี 6 อุโมงค์ ระยะทางรวมกัน 13 กม. คำถามคือ มีบริษัทไทยที่เจาะอุโมงค์หินที่เชี่ยวชาญหรือไม่ คำตอบคือไม่มี รฟท.จึงกำหนดให้ใช้ประสบการณ์ เจาะอุโมงค์ใต้ดินได้ เจาะอุโมงค์ท่อประปา ไฟฟ้าก็ได้ แต่คำถามคือ เจาะอุโมงค์ดิน กับอุโมงค์หินไม่เหมือนกัน ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ
ทางหมอวรงค์ได้ข้อมูลว่า มีบริษัทต่างชาติที่มีประสบการณ์ทำอุโมงค์รถไฟในหลายประเทศที่พัฒนา ทราบเรื่องการเจาะภูเขาหิน ทำอุโมงค์รถไฟ ซึ่งตอนแรก TOR ไม่ได้กำหนดว่าจะให้ต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้หรือไม่ แต่เมื่อรับเหมายักษ์ใหญ่รู้ว่าจะมีบริษัทต่างชาติเข้าประมูล จึงมีการจัดทำประชาพิจารณ์และมีคนในพื้นที่เสนอว่า การก่อสร้างใดๆ ขอให้เป็นบริษัทคนไทย เป็นที่มาของ TOR ไม่ให้ต่างชาติร่วม ทั้งที่เรื่องเทคนิคควรเป็นข้อเสนอของบริษัท ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ต่อมาปรับเป็นให้กิจการร่วมค้าได้ แต่แกนนำต้องเป็นบริษัทคนไทยเท่านั้น
ข้อสังเกตคือ บริษัทรับเหมาขนาดกลางไม่มีใครกล้าเป็นแกนนำ และนำบริษัทต่างชาติมาร่วมมือ เพราะถูกล็อกไว้โดยบริษัทรายใหญ่หรือ 5 เสืออยู่แล้ว “การกำหนดแบบนี้จะมีกี่รายที่เข้าเงื่อนไข ทั้งประเทศมีเพียง 5 ราย”
พร้อมแฉว่ามีขายเอกสารประมูลล่วงหน้า 1 ปี ไปถอดแบบก่อน โดยข้อกำหนดที่ให้เวลาทำข้อเสนอ 60 วันนั้นไม่เพียงพอกับโครงการที่มีมูลค่า 70,000 ล้านบาท เนื่องจากผู้รับเหมาไม่สามารถถอดแบบได้ทัน โดยขายเอกสารประมูลเดือนมีนาคม ยื่นประมูลเดือนพฤษภาคม ดังนั้น จึงเกิดการใช้วิธีซื้อฝิ่น หรือซื้อแบบล่วงหน้า เพื่อให้ได้แบบมาก่อน โดยมีค่าใช้จ่ายซื้อเอกสารประมูลล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ประมาณ 11.5 ล้านบาท ซึ่งคนในวงการรู้กันหมด
ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อวันที่ 16 พ.ค. เรื่องปราบโกง ปราบทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ หลังประกาศก็มีการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ในฐานะที่ตนเป็นประธานสหภาพแรงงาน รฟท.ด้วย หน้าที่หนึ่ง ก็ได้มีการตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันด้วย ซึ่งในการประมูลรถไฟทางคู่นั้น มีกระบวนร่าง TOR มีการรับฟังความคิดเห็น ปรับหลายครั้ง แต่ผลออกมาก็พบว่าราคาต่ำกว่าราคากลาง น้อยมาก และต่ำ 0.08% เท่ากันทั้ง 2 สาย จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยมาก อย่างสายใต้ หรือสายอีสานที่ประมูลก่อนหน้านั้น ราคาจะต่ำเฉลี่ย 2%
ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประมูล กว่าจะทำสัญญาคาดว่าจะเป็นเดือนสิงหาคม หลังจากนี้ยังพอมีเวลาตรวจสอบ ส่วนจะล้มหรือไม่ล้มประมูลอยู่ที่ผลการตรวจสอบว่ามีความถูกต้องโปร่งใสหรือไม่