ตลท.เพิ่มช่องทางเทรด‘คริปโต’!?!ยกระดับแพลตฟอร์ม ‘เซ็ทเทรด’ เป็นศูนย์ซื้อขาย หุ้น-คริปโต-สินทรัพย์ดิจิทัลครบวงจร

1363

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล็งยกระดับ“เซ็ทเทรด”Settrade เป็นแพลตฟอร์มกลางซื้อขายทุกสินทรัพย์ “หุ้น- คริปโต-โทรเคน-ดิจิทัลแอสเสทฯลฯ “เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุน ลดความซ้ำซ้อน เปิดบัญชี-ส่งออเดอร์ผ่านหลายตลาด  พร้อมเพิ่มสินค้าใหม่ ตอบโจทย์นักลงทุนรุ่นใหม่ ขณะที่ยอดเปิดบัญชีใหม่ 5 เดือนเพิ่มกว่า 4.5 ล้านบัญชี

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในโลกสมัยใหม่นักลงทุนหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 สะท้อนจากยอดเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสัดส่วนมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ Settrade Streaming  เพื่อให้สามารถซื้อขายสินทรัพย์การลงทุนได้ทุกประเภท ทั้งหุ้น, สินทรัพย์ลงทุนรูปแบบดิจิทัล (Digital Asset),สกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี), กองทุน , ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ (DR) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ฯลฯในที่เดียว

“นักลงทุนไม่ควรต้องเปิดบัญชีซ้ำซ้อน หรือซื้อขายสินทรัพย์ลงทุนผ่านตลาดหลายแห่ง เราจึงมุ่งพัฒนาระบบ Settrade เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย เพื่อรองรับการลงทุนทั้งสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบเดิม (Traditional) ,Digital Asset รวมถึงคริปโตเคอเรนซี แม้ในอนาคตอันใกล้ตลท. จะยังไม่ถึงขั้นเปิดให้ซื้อขายคริปโตเคอเรนซี แต่เราจะมีช่องทางเชื่อมต่อให้ซื้อขายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเข้าถึงได้ง่าย ซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เงินลงทุนไม่สูง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯมีแผนนำหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีศักยภาพแต่มีราคาต่อหุ้นสูง เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ บมจ.ปตท. (PTT) มาออกเป็น DR เพื่อให้สามารถซื้อขายเศษส่วนของหุ้น (Fractional Shares) ได้ด้วยเงินหลักร้อยบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการสำรวจตลาด (Market Survey) กับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก โดยคาดว่าจะสามารถซื้อขายได้จริงภายในปีนี้

นายภากร กล่าวว่าเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าร่วมงานMaybank Kim Eng’s Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อเสวนา The ASEAN investor: Where are the next opportunities? ร่วมกับผู้บริหารตลาดหุ้นอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ตลาดหุ้นมาเลเซีย ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และตลาดหุ้นสิงคโปร์ ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นมากขึ้น 

โดยตลาดหุ้นไทยพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มียอดเปิดบัญชีใหม่สูงถึง 1.03 ล้านบัญชี ทำให้จำนวนบัญชีรวมเพิ่มเป็น 4.54 ล้านบัญชี สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดังนั้นการพัฒนาตลาดทุนในระยะถัดไปจะเน้นอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาซื้อขายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ผ่านการพัฒนาระบบเปิดบัญชีออนไลน์ที่สามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดทุนได้อย่างยั่งยืน โดยมองว่าหากนักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างยั่งยืนแล้ว จะส่งผลให้ตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน และสุดท้ายคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้นตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

 

ในส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดหลักสูตรให้ความรู้ (Education) แก่ผู้ประกอบการรายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นของไทยมีแนวคิดทางธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ยังขาดความรู้ทางการเงินที่จะเข้ามาหนุนการเติบโต ตลอดจนการจับคู่ให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนและผู้ลงทุนมาเจอกัน (Glooming) และสุดท้ายอยู่ระหว่างสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจขนาดเล็ก จากปัจจุบันที่มีแหล่งเงินทุนค่อนข้างจำกัด เช่น ครอบครัว หรือสถาบันการเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน (ESG) โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้ บจ.รายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มเติมในรายงานที่ต้องส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)