Truthforyou

รบ.ทุ่มแสนล้าน!?! กระตุ้นกำลังซื้อ-แจกงาน-แจกเงินปชช. 3 กลุ่ม ยัน2ปีฟื้น ห้ามประมาทโควิดรอบ2

“สุพัฒนพงษ์” กางแผนฟื้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ดันมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน 3 กลุ่ม สร้างเงินหมุนเวียน 1 แสนล้าน ชี้ฐานะการเงินการคลังแกร่ง มีงบเพียงพอฟื้นฟู พร้อมกู้หากมีระบาดรอบ 2 มั่นใจเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ดีขึ้นกลับมาสู่ปกติใน 2 ปีและฟื้นตัวได้ดีในปี 2566 เป็นอย่างช้า โดยคนไทยต้องไม่ประมาทให้โควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 ปักหมุดค่อยๆฟื้นท่องเที่ยว-ใช้อีอีซีเป็นแม่เหล็กดึงลงทุนย้ายฐานเข้าไทย 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON’T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์” ในหัวข้อ “นโยบายรัฐ…ชี้ชะตาชีวิตหลังโควิด” รองนายกฯ มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับไปสู่ภาวะปกติภายใน 2 ปี ถือว่าเร็วกว่าการประเมินทั่วไปที่ประเมินอยู่ระดับ 3 ปี และกลับมาฟื้นตัวได้ดีเป็นปกติในปี 2566 เป็นอย่างช้า  อยู่ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการควบคุมและป้องกันไม่ให้โควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 จนปิดประเทศอีกครั้ง ดังนั้น ระยะสั้น 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค. 63) รัฐบาลจะอัดฉีดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลลงสู่เศรษฐกิจโดยรวมอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ภารกิจนี้ต้องทำต่อเนื่อง ให้จับตามองอย่างไม่กระพริบตา

“ถ้าไม่มีการระบาดรอบ 2 ในประเทศ และหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ได้ถดถอยมากไปกว่านี้ มั่นใจว่าวงเงินที่มีอยู่เพียงพอทั้งจากงบประมาณและเงินกู้ที่มีอยู่ แต่สถานการณ์ทั่วโลกเจอเหมือนกันหมดคือมีความไม่แน่นอน”

ดังนั้นรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อม หากจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติมก็ต้องกู้เพราะระดับหนี้สาธารณะของไทยก็ไม่ได้สูงนักหากเทียบหลายประเทศที่เกิน 100% ไปแล้ว แต่ไทยต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เงินมากที่สุดและพยายามรักษากรอบวินัยการเงินการคลังให้ดีที่สุด เพราะเมื่อพ้นจากโควิดแล้วประเทศไทยยังคงแข็งแรงอยู่โดยมีเสถียรภาพทางการเงินที่ใช้ได้ พร้อมที่จะกลับมาเติบโตและเข้มแข็ง

มาตรการระยะสั้น-เร่งด่วนมี 3 เรื่องหลัก คือ จ้างงาน-กระตุ้นการใช้จ่ายและแก้ปัญหาหนี้ คือ

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในช่วงต่อไปรัฐบาลให้ความสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 

1.มาตรการด้านการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วนและมีโจทย์ คือ ทำอย่างไรให้มีตำแหน่งงานกระจายไปทั่วประเทศให้มากที่สุด ทั้งการจ้างงานถาวรและการจ้างงานชั่วคราว โดยรัฐบาลปีเป้าหมายสร้างงานทั้งหมด 1 ล้านตำแหน่ง

รวมทั้งรัฐบาลเร่งรัดโครงการการจ้างงานที่ร่วมจ่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยจ้างงานเด็กนักเรียนและนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง และรัฐบาลมีวงเงินสนับสนุน 1.9 หมื่นล้านบาท โดยตำแหน่งงานทั้งหมดของภาครัฐและเอกชนจะเริ่มเปิดให้สมัครตั้งแต่ภายในงาน Job Expo Thailand 2020 ในวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ ที่ไบเทคบางนา 

2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เเม้เศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาเป็นลำดับหลังจากคลายล็อกดาวน์ โดยรัฐบาลพิจารณาว่าจะเพิ่มมาตรการใดบ้างและเพิ่มให้กลุ่มคนใด ซึ่งจะเร่งผลักดันลงไปในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นการช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวด้วยความไม่ประมาท แต่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มได้แก่

-มาตรการสำหรับกลุ่ม “คนตัวเล็กมาก” คือคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะเพิ่มเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน เดือนละ 500 บาทต่อคน รวม 1,500บาท ซึ่งส่วนนี้จะใช้เม็ดเงินประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท 

-มาตรการสำหรับ “คนชั้นกลาง” ที่มีกำลังซื้อมากกว่าคนกลุ่มแรก ซึ่งรัฐจะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” ในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน และรัฐร่วมจ่ายคนละไม่เกิน 3,000 บาท รวมเป็น 6,000 บาท ซึ่งกำลังปรับปรุงรายละเอียด โดยจะเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนจากเดิมที่ ศบศ.กำหนดว่าให้ใช้ไม่เกินวันละ 100 บาท เพิ่มป็นวันละไม่เกิน 150 บาท โดยจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมฯ ครม.ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ 

-มาตรการ “คนตัวโตหน่อย” หรือกลุ่มคนที่มีรายได้มากขึ้นมา(โคเพย์:CoPay) โดยรัฐจะสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาช่วยสนับสนุน “คนละเสี้ยว” รูปแบบอาจคล้ายกับมาตรการช็อปช่วยชาติ โดยมาตรการนี้รัฐจะสนับสนุนน้อยกว่ามาตรการคนละครึ่งแต่จะสนับสนุนให้มีแรงจูงใจในการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้มากขึ้น

“มาตรการจะคล้าย ๆ กับคนละครึ่ง (แจกเงิน 3 พันบาท) แต่ยกระดับขึ้นมาเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีฐานะสูงขึ้นมาหน่อย ที่เขามีสิทธิ แต่อาจได้ไม่ถึงครึ่ง น่าจะได้เสี้่ยว เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการคนละครึ่ง (โคเพย์) ทั้งการแจกเงินเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และการจ้างงาน” 

“ใครมีความพร้อมเอาไปเสี้ยวหนึ่ง พร้อมน้อยหน่อยเอาไปครึ่งหนึ่ง ถ้าไม่พร้อมเลยท่านอาจจะได้มาก เจาะเป็น กลุ่ม ไม่ยิงสาด และทำเร็วที่สุด ประคับประคองไป เป็นซีรีส์ ทยอยใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความไม่แน่นอน เพราะช่วงนี้ต้องบริหารความไม่แน่นอน เดินไปวัดผลไป แล้วค่อยปรับ แต่ถ้าแน่นอนเมื่อไหร่จะใส่เกียร์ 5” สุพัฒนพงษ์กล่าว

  1. มาตรการแก้ปัญหาหนี้ รองนายกฯแจงว่ากำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณากับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพราะเกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง เรื่องที่เอกชนเสนอพักชำระหนี้2 ปี ก็ดูในส่วนของเอสเอ็มอีก่อนเป็นหลักเพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ออกมาตรการผ่อนปรนเรื่องการลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้มาแล้ว 3 เดือน มากกว่านี้กำลังพิจารณา
Exit mobile version