แพทย์รพ.ดัง หลั่งน้ำตา เตียงไอซียูล้น เริ่มรับมือไม่ไหว ม็อบนัดรวมตัว ยิ่งเสี่ยงคลัสเตอร์ใหม่ สร้างเหตุการณ์เลวร้าย ซ้ำเติมประเทศ!!

1564

จากกรณีที่ รศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา หัวหน้าภาคเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์เตียงไอซียู เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ระบุว่า เตียงไอซียูล้นแล้ว เริ่มต้องเลือกว่าใครจะได้ไปต่อ ใครควรจะยุติ พร้อมเตือนให้ประชาชนการ์ดอย่าตก การป้องกันสำคัญเสมอ งดปาร์ตี้สังสรรค์ในช่วงนี้

และได้มีบทความที่ถูกแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์ จากเพจเฟซบุ๊ก วันนี้ชั้นติ่งอะไร โดยมีบางช่วง บางตอน เข้ากับสถานการณ์ตอนนี้ ระบุไว้ว่า ล่มสลายของเราไม่เท่ากัน เกิดอะไรขึ้นกับห้องฉุกเฉินในกรุงเทพฯ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย หลายปีก่อนเกิดการระเบิดขึ้นในกรุงเทพฯ วันนั้นเราเป็นชีฟเวรห้องฉุกเฉิน ได้รับคำสั่งให้ทำการเคลียร์เตียงเพื่อรองรับผู้บาดเจ็บจำนวนมหาศาล เราหันไปมองรอบตัว คนไข้จากทั่วสารทิศนอนกองเรียงรายเต็มทางเดิน เป็นเวลานานมากแล้ว ที่ระบบสาธารณสุขของ กทม. หมิ่นเหม่ “ล่มสลาย” เตียงเต็มตลอดเวลา ผู้ป่วยจึงคาอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน นอนเรียงรายกันไป แต่เราก็ประคับประคอง ทำทุกทางเท่าที่เราทำได้ หลายปีผ่านไป เรื่องเหล่านี้กลายเป็นกิจวัตรที่ดูธรรมดา มีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดนอนรอเตียงในห้องฉุกเฉินถึง 20 วัน กระทั่งหายป่วยกลับบ้านได้โดยไม่เคยขึ้นไปถึงหอผู้ป่วยเลย

เคยมีคนจมน้ำถึงขั้นปั๊มหัวใจ แต่ก็ใส่ท่อนอนรอเตียง กระทั่งเอาท่อออก กระทั่งได้กลับบ้านและนัดมากายภาพ โดยไม่เคยขึ้นไปถึงหอผู้ป่วยเลย เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปกติธรรมดา แต่เป็นเรื่องบ้าบอที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความธรรมดาไป หลายปีผ่านไป สิ่งเหล่านั้นยังเหมือนเดิม ในวันนั้นเราทำการถอดออกซิเจนออกจากคนไข้บางคน เพื่อเอามาให้อีกบางคน

เดือนกว่าที่ผ่านมา เกิดคลัสเตอร์การระบาดรอบใหม่ในกรุงเทพฯ ช่วงแรกเราเฝ้ารอ รอดูว่ากรุงเทพฯเตรียมพร้อมไว้อย่างไร ตลอดปีกว่าที่ผ่านมา เราและด่านหน้าตามแนวชายแดนทำงานหนักสกัดโรคไว้ ไม่ว่าจะเกิดกี่คลัสเตอร์ ก็พยายามดักจับ ตีวง จบคลัสเตอร์เหล่านั้นลงให้จงได้ และภูมิใจว่าตนเป็นปราการด่านสำคัญ ปกป้องศูนย์กลางของประเทศ อุ้มชูเศรษฐกิจให้เดินหน้า หวังเพียงว่า

ส่วนกลางจะใช้เวลาที่ซื้อให้นี้เตรียมพร้อมสู้ศึกใหญ่ แต่กรุงเทพฯกลับไม่เป็นอย่างที่คิด ยังคงอ่อนแอเปราะบางเหมือนอย่างวันนั้น ห้องฉุกเฉินยังคงเต็มไปด้วยผู้คนคราคร่ำ นอนแออัดกัน รอการรักษาอย่างที่ไม่ควรจะเป็น หลังเห็นตัวเลขที่ค่อย ๆ ไต่ขึ้น เราต่อสายหาเพื่อนที่ห้องฉุกเฉินในรพ.ตู้ซ่อนผีของกรุงเทพฯ

เราหวังจะพบคำตอบจากเพื่อนที่ปกติสดใสพูดมาก ทำนองว่า เฮ้ย หนักมาก พลางบ่นกะปอดกะแปดหาที่ระบาย แต่ปลายสายกลับเงียบไป ก่อนจะตอบกลับมา ด้วยเสียงร้องไห้ เราปล่อยให้ร้องไปแบบนั้นอยู่พักหนึ่ง จำนวนผู้ป่วยทะยานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ที่น่าตกใจคือจำนวนผู้ป่วยระดับเหลืองและแดงที่มากกว่ารอบก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ การมีโรงพยาบาลสนาม อาจพอช่วยผู้ป่วยสีเขียว ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และรักษาทันเมื่ออาการทรุดลงได้ แต่ส่วนมากไม่สามารถดูแลเคสสีเหลือง ซึ่งต้องการออกซิเจนได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเคสสีแดงระดับวิกฤติ ที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจ และการดูแลยังใกล้ชิดระดับ ICU เมื่อเตียงเต็ม ผู้ป่วยสีเขียวอาจพอกลับบ้านได้ แต่ผู้ป่วยสีเหลืองหรือแดง ไม่อาจไปไหนได้ จึงค้างอยู่ในห้องฉุกเฉินจนกว่าจะจากกันไปด้วยวิธีแตกต่างกัน

เพื่อนเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น “เราก็เลือกเอา บางทีเราก็เลือกไม่เอาคนแก่ติดเตียง เอาให้เด็ก”

เงียบไปครู่หนึ่งก่อนพูดต่อ “แล้วเค้าก็ไป”

หลายเดือนมาแล้ว ที่หมอตัวเล็กตัวน้อยรวมถึงเรา (ในชีวิตจริง) พยายามส่งเสียง ให้ผู้ใหญ่หลายฝ่ายได้รับทราบ กรุงเทพฯไม่เคยเข็มแข็ง แต่เป็นพื้นที่เปราะบาง กระทบเพียงนิดเดียวก็พร้อมแตกสลาย และเมื่อใดกรุงเทพฯพัง เมื่อนั้นผู้คนจะแตกกระจาย มุ่งหน้าหาทางรอดชีวิต เมื่อนั้นโรงพยาบาลทั่วทิศ จะพบกับความวิบัติแตกต่างกันไป แต่ก็เหมือนหมอหลาย ๆ คน ที่เป็นแค่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีค่าอะไร ไม่ว่าจะส่งเสียงทางช่องทางไหน ถ้าไม่ใช่ว่าไร้คนสนใจ ก็จะโดนปิดปาก และตักเตือนในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันอยู่เสมอ

เรารับราชการ เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรนี้ดี หน้าตาสำคัญกว่าอะไร เน้นเก็บใต้พรม มีอะไรห้ามพูดมาก เแต่วิธีการแบบนั้นมันคือ “การหลอกตัวเอง” หลอกคนอื่น หลอกประชาชน

เราทำไม่ได้ตลอดไป ถึงเวลาแล้ว หรือจริง ๆ ควรใช้คำว่ามันสายไปนานแล้ว ที่จะยอมรับว่าประเมินสถานการณ์ผิด เตรียมตัวน้อย บริหารงานไม่เป็น เอาแต่ทำอะไรไร้สาระ ปล่อยให้ประชาชนล้มตาย แต่ก็คงดีกว่าถ้าจะไม่ทำอะไร และมองดูประเทศชาติ(ในหลาย ๆ ความหมาย) ล่มสลายไปกับตา

 


ขณะที่เสียงจากนายแพทย์ใหญ่ ในโรงพยาบาลแถวหน้าของเมืองไทย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กรุงเทพฯ ใกล้ถึงจุดวิกฤตเต็มที เตียงไม่พอรองรับคนไข้ เพราะยอดติดเชื้อไม่มีแนวโน้มจะลดลง ท่ามกลางกระแสที่ต้องรอลุ้นคำสั่งจากศบค. ว่าจะมีการล็อกดาวน์กทม.หรือไม่

ส่วนทางด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า คัดกรอง COVID-19 จุฬาปิด 4 วัน เริ่ม 24-27 มิ.ย.นี้ ไม่มีเตียงรับ แต่คนไข้ก็มาที่ ER อยู่แล้ว

เพราะไปที่อื่นก็ไม่ได้ตรวจเช่นกันเนื่องจากตรวจแล้วต้องรับก็ไม่มีเตียงไม่มีคนดู กลายเป็นมีอาการก่อน จึงมา ER ชึ่งล้วนมีอาการปอดบวมแล้ว และอาการหนัก ไม่มีเตียง อยู่ดี ทุกโรงพยาบาลน่าจะเหมือนกันหมด ทั้งนี้ ข้อความระบุอีกด้วยว่า โรงพยาบาลสนามสีแดงแจ๋ เปิดได้แล้วที่รักษาคนไข้อาการหนัก จนกระทั่งสอดท่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ปัญหาคือเอาหมอพยาบาล และเจ้าหน้าที่มาจากไหน เพราะแต่ละจังหวัดเตรียมตัวรับได้เลยอีกไม่นานอาจจะเหมือนกัน

 

สำหรับรพ.ศิริราช ได้ออกประกาศลงวันที่ 23 มิ.ย. 64 เรื่อง ปิดให้บริการผู้ป่วยหน่วยตรวจโรคแพทย์เวร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 ใจความว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อในหน่วยตรวจโรคแพทย์เวรเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่หน่วยตรวจโรคแพทย์เวรเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความแออัด ยากแก่การรักษาระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19) ที่อาจเกิดขึ้นกับ ผู้มารับบริการ โรงพยาบาลศิริราช จึงขอปิดให้บริการผู้ป่วยทั่วไปที่หน่วยตรวจโรคแพทย์เวร ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 1 ตั้งแต่วันพุธที่ 23 – วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 สำหรับ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เร่งด่วน หรือฉุกเฉิน สามารถมารับบริการได้ที่หน่วยตรวจโรคฉุกเฉิน (Emergency Room)และผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ แต่ต้องการพบพบแพทย์ แนะนำให้รับบริการผ่านระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และรับยาทางไปรษณีย์ หรืออาจพิจารณาพบแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านแทน

 

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า เวลานี้ กทม.คือพื้นที่ ที่เปราะบางที่สุด ทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ และห้องพักดูแลคนป่วย ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยรายใหม่ ที่ติดเชื้อ 3,000-4,000 คนต่อวัน จากคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น บวกกับการรับมือที่ยังไม่ชัดเจนของรัฐบาล – ศบค. ว่าจะมีมาตรการล็อกดาวน์ หรืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างไรบ้าง ที่จะช่วยลดผู้ติดเชื้อให้น้อยลง นอกจากนี้การออกมารวมตัวกันของม็อบ

ท่ามกลางโควิดยังระบาดต่อเนื่อง ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเป็นคลัสเตอร์กลุ่มใหม่ เพราะก็เคยมีเหตุการณ์ แกนนำติดเชื้อแต่ไม่ยอมกักตัวและไปร่วมม็อบ แต่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกับไม่เคยพูดถึง โดยโทษว่าเพราะรัฐบาลบริหารล้มเหลว แต่ความจริงแล้วการออกมารวมตัวกันในจำนวนมาก ๆ ก็เป็นสิ่งที่แพทย์หลาย ๆ โรงพยาบาลขอความร่วมมือ แม้จะพูดไม่ได้ตรง ๆ ไม่ได้ก็ตาม แต่ถึงนาทีนี้ สิ่งที่ม็อบควรตระหนัก คือ เห็นใจหมอและเจ้าหน้าที่ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันที่ต้องรับมาก ก็มากเกินพอ หากมีคลัสเตอร์จากม็อบมาอีก จะยิ่งกว่าคำว่าล่มสลายแน่นอน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มม็อบไทยไม่ทน ที่นำโดยนายจตุพร และกลุ่มของทนายนกเขา ยังประกาศจะออกมารวมตัวในวันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.) เพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่กำลังตึงเครียด และเกิดวิกฤติเตียงล้นไอซียูในหลาย ๆ โรงพยาบาล โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและทีมแพทย์