ศบค.-มท.ออกโรงแจงชัด!! เอกชนขอฉีดวัคซีนให้พนักงานได้ชี้เรื่องปกติแต่เผื่อแผ่ถึงครอบครัวไม่ได้ ยันไทยเบฟฯไม่มีเส้นไร้อภิสิทธิ์!

1591

ศบค.-มท.ออกโรงแจงชัด!! เอกชนขอฉีดวัคซีนให้พนักงานได้ชี้เรื่องปกติแต่เผื่อแผ่ถึงครอบครัวไม่ได้ ยันไทยเบฟฯไม่มีเส้นไร้อภิสิทธิ์!

จากกรณีที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคให้กับพนักงาน จำนวน 43, 201 คน และครอบครัวของพนักงานของบริษัทฯ จำนวน 28,244 ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร

ต่อมาทางด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในหนังสือ 2 ฉบับ ถึง ปลัดกรุงเทพมหานคร และ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้สนับสนุนวัคซีน แก่ พนักงาน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งขออนุเคราะห์วัคซีน ให้พนักงาน 43, 201 คน และครอบครัว 28,244 คน

ต่อมาก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาสนับสนุนวัคซีนให้กับไทยเบฟฯ จนถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่หรือไม่นั้น

จนทำให้ต่อมาทาง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาชี้แจงว่า การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในเรื่องการจัดหาวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและระบาด ที่ผ่านมา มีทั้งส่วนราชการ, เอกชน, สมาคม รวมถึง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือผ่าน สำนักเลขา ศบค., คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด, กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ขอให้จัดหาวัคซีนไปฉีดให้บุคลากร

เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นคลัสเตอร์และติดเชื้อแพร่ระบาดทั่วประเทศ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินการจัดสรรวัคซีนของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และศบค. ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีเลือกปฏิบัติ เพราะการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการ ให้ครอบคลุมรวดเร็ว มากที่สุด

สำหรับประกาศแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ลงวันที่ 18 พ.ค. 2564 ในข้อ 5.2 เปิดโอกาสให้ องค์กรภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยแจ้งความประสงค์ขอรับวัคซีนให้กับบุคลากรในสังกัด ซึ่ง ศบค.มท.ได้แจ้งขอรับการสนับสนุนไปยังกระทรวงสาธารณสุข

“ปัจจุบัน ก็ยังมีองค์กรภาครัฐ และเอกชน ขอรับการสนับสนุนวัคซีน มาอย่างต่อเนื่อง โดย กระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมติและแนวทางของ ศบค.อย่างเคร่งครัด”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ภาคเอกชนขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากกระทรวงมหาดไทยให้กับบุคลากรในองค์กรว่า ความจริงหากจำได้เมื่อช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เรามีแนวทางการขอรับวัคซีน คือทางแอปพลิเคชั่น หมอพร้อม หรือแอปพลิเคชั่นอื่น ผ่านอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือฝ่ายปกครอง หรือผ่านองค์กร หรือแนวทางลงทะเบียน ณ จุดฉีดวัคซีน ซึ่งการขอรับวัคซีนในรูปแบบองค์กรก็มีหลายหน่วยงาน ทั้งรัฐและเอกชนขอมา บางทีขอไปที่กระทรวงมหาดไทยหรือขอไปที่กระทรวงสาธารณสุข แต่หลักเกณฑ์ที่ออกไปเป็นรูปแบบของการขอลงทะเบียน โดยศบค.ได้กำกับเรื่องความเร่งด่วนเข้าไปด้วย ดังนี้

1.บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า อสม.
2.เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า หรืออาชีพเสี่ยง
3.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว
4.ประชาชนทั่วไป ฉะนั้นขั้นตอนปฏิบัติต้องดูตามลำดับเหล่านี้ เราต้องพิจารณารูปแบบการลงทะเบียนและความเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขอสนับสนุนฉีดวัคซีนให้องค์กรสามารถทำได้ แต่ต้องดูความเร่งด่วนใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ใช่ เพราะช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าการระบาดจะเกิดในสถานประกอบการ โรงงาน แคมป์คนงาน ไซต์ก่อสร้าง เป็นธรรมดาที่สถานประกอบการมีความห่วงใยว่าจะเกิดการแพร่เชื้อในหน่วยงาน จึงขอรับการสนับสนุนมา แต่การขอรับการสนับสนุนจะไม่รวมถึงบุคคลในครอบครัว และในทางปฏิบัติในแต่ละพื้นที่ ต้องดูความเร่งด่วนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตว่าการขอในรูปแบบองค์กรอาจมีการใช้เส้น หรือมีข้อกำหนดพิเศษยกเว้นเฉพาะบางองค์กรหรือไม่ ถึงติดต่อมาที่ศบค.และกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ติดต่อทางช่องทางปกติ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า อย่าไปมองอย่างนั้น ยกตัวอย่างหน่วยงานหนึ่งมีคนประมาณ 2-3 พันคน การจะให้แต่ละคนมาลงทะเบียนขอฉีดเอง กับการที่เราไปฉีดให้ทั้งองค์กรทีเดียวก็จะสะดวกกว่า ขอย้ำว่า ไม่ใช่หน่วยงานไหนขอมาแล้วขอก่อนได้ก่อน เพราะสาธารณสุขในพื้นที่จะดูความเร่งด่วนตามที่ศบค.ได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้

เมื่อถามว่า ได้มีการกำหนดกรอบปริมาณที่จะสนับสนุนวัคซีนให้แต่ละองค์กรหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่มี เพราะหน่วยงานก็ขอตามจำนวนคนที่มีอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่เรามี หากเรามีก็สามารถให้ได้ แต่หากวัคซีนมีจำกัดก็ยังให้ไม่ได้

เมื่อถามถึงกรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และที่จะเดินทางไปดูความพร้อมในวันที่ 25 มิ.ย.ก่อนจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ทางศบค.จะลงไปสังเกตการณ์หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มีผู้แทนจากศบค.ร่วมคณะไปด้วย

 

ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่หนังสือปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามสนับสนุนการวัคซีนบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)​ เพื่อฉีดให้กับพนักงานและครอบครัว แต่ได้ยกเลิกในภายหลัง ว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน​ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด​กระทรวง​มหาดไทย ได้ออกหนังสือแก้ไขแล้ว ยืนยันว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตามการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามนโยบายของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยสรุปคือ มีช่องทางที่จะให้สนับสนุนให้กับบุคคลและกลุ่มบุคคลรวมไปถึงองค์กรได้ แต่ต้องเข้าสู่ช่องทางหมอพร้อม การกระจายวัคซีนเป็นของ ศบค. จะกระจายไปในพื้นที่ใดหรือจำนวนเท่าไหร่ เมื่อกระจายไปแล้วผู้ที่จะดำเนินการต่อคือ คณะกรรมการ​โรคติดต่อ​จังหวัด

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ถือเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนและไม่มีเจตนา​เอื้อประโยชน์ให้ใคร ทุกคนรู้ดีว่าการทำงานของข้าราชการ พรรคการเมือง และรัฐบาล หรือของใครก็แล้วแต่ ต้องตอบสนองต่อประชาชนส่วนใหญ่ ใครที่คิดจะไปตอบสนองต่อกลุ่มใคร สังคมก็จะไม่ยอม เป็นการสื่อสารคลาดเคลื่อนแต่ก็ได้แก้ไขแ​ล้​ว เมื่อถามว่า ต่อไปจะระวังเพิ่มขึ้นหรือไม่ พล.อ.อนุ​พงษ์​ กล่าวว่า ก็เป็นธรรมดา แต่เจตนาของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค. มท.)​ ไม่ได้มีเจตนา​ที่จะไปเอื้อใคร พูดง่ายๆ คือเจตนา​ที่จะดูแลประชาชน เป็นหลัก ใครก็ต้องทำอย่างงั้นสังคมจึงจะยอมรับได้ ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้