นายกฯตั้งวงทีมเศรษฐกิจหารือวิธีแก้หนี้ประชาชน วางมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินปชช. ทั้งระยะสั้น-ยาว ตั้งเป้าคนไทยมีเงินเหลือใช้มากขึ้น จากภาระหนี้ให้ดอกเบี้ยลดลงได้ 2-3% ต่อปี ไม่ว่าจะเป็นหนี้ กยศ., ครู, ข้าราชการ, หนี้เช่าซื้อรถยนต์, มอเตอร์ไซค์, บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล, หนี้ครัวเรือน มอบ “สุพัฒนพงษ์” ตั้งคณะทำงานภายใต้ ศบศ. ออกมาตรการด่วน ให้คนมีเงินเหลือจ่าย ลดการสร้างหนี้ เพิ่มโอกาสทางสังคม โดยพยายามใช้งบรัฐให้น้อยที่สุด
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวร์ รองนายกรัฐมนตรี, กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แก่ หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวม 3.6 ล้านคน, ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 6.5 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี ปัญหาหนี้สินอื่นๆของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี
ที่ประชุมเห็นว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จ ต้องทำ 3 เรื่องควบคู่กัน คือการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน, การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม, การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน
ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้นและระยะยาวที่กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษา โดยสั่งการให้มีคณะทำงานในเรื่องนี้ ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) โดยให้นายสุพัฒนพงษ์ รับผิดชอบ และมาตรการระยะสั้น เช่น ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้กยศ., หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ, หนี้สหกรณ์, การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย, สินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์, นาโน ไฟแนนซ์ สำหรับประชาชนปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการรวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้, ปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆที่ไม่จำเป็น
ขณะเดียวกัน ต้องยกระดับการกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และให้ ธปท. ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน รวมทั้งการกำกับดูแลไม่ให้การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน/สหกรณ์ สร้างภาระแก่ผู้กู้จนเกินสมควร
นอกจากนี้ เพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและ เอสเอ็มอี เช่น จัดให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน สำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้, การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนอง
มาตรการระยะยาว ต้องทำให้เกิดสภาพแวดล้อมของการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและมีการคุมยอดวงเงินกู้ที่เหมาะสม เช่น รัฐต้องเร่งส่งเสริมการแข่งขัน ให้ดอกเบี้ยถูกลง, เพิ่มระบบให้ผู้ฝากเงินมาเป็นผู้ให้สินเชื่อโดยรับความเสี่ยงมากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล, การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ, การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เพื่อชะลอการฟ้อง, อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย
“ที่ประชุมยังมีการหารือเรื่องการให้ความช่วยเหลือ เด็กรุ่นใหม่/คนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะออกมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เรื่องที่อยู่อาศัยและค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก”
ดังนั้น สิ่งที่คนไทยจะได้รับจากมาตรการดังกล่าวคือ
1.มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้น จากภาระหนี้ที่ดอกเบี้ยลดลงได้ 2-3% ต่อปี
2.ลดปัญหาการสร้างหนี้เกินตัวลง ได้ทันที
3.เพิ่มโอกาสทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำ อย่างเป็นรูปธรรม
4.ใช้การจัดการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ มาแก้ไขปัญหารากแก้ว โดยใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด