จีนตอบโต้สหรัฐ-นาโต้แรง!?!ด่าเจ็บกลุ่มโรคจิต รวมหัวใส่ร้ายจีนเป็นภัยคุกคาม หวังทำลายการพัฒนาอย่างสันติสร้างการเผชิญหน้า

1588

จีนออกมาฟาดหน้าองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่าพูดเกินจริง  สร้างทฤษฎีที่ระบุว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ทำให้เกิดการเผชิญหน้า หลังพันธมิตรชาติตะวันตกซึ่งเป็นสมาชิกนาโตประกาศ จะทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากนโยบายของจีน ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่าผลการพบกันของสหรัฐและนาโต้จะออกมารูปนี้ เพราะจุดมุ่งหมายของปธน.โจ ไบเดนที่ต้องกการระดมพันธมิตรต่อต้านจีน ประกาศอย่างชัดเจนต่อเนื่องมาโดยตลอด

วันที่ 15 มิ.ย.2564 คณะผู้แทนจีนประจำสหภาพยุโรปออกถ้อยแถลงเรียกร้องให้เนโตมองพัฒนาการของจีนอย่างสมเหตุสมผล ยุติการใช้ถ้อยคำเกินจริงในรูปแบบ ‘China threat theory’ และอย่าใช้ผลประโยชน์อันชอบธรรมและสิทธิต่าง ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายของจีนเป็นข้ออ้างในการรวมกลุ่มการเมือง สร้างบรรยากาศการเผชิญหน้า มองสถานการณ์ระหว่างประเทศและวางบทบาทของตนเองในทางที่ผิด เป็นการแสดงให้เห็นถึงความคิดแบบสงครามเย็นต่อเนื่อง ด้วยการดูหมิ่นพัฒนาการอันสุขสงบของจีน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564  ผู้นำนาโตซึ่งประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้ระบุถึงภัยคุกคามทางทหารซึ่งเกิดจากจีน และว่าพฤติกรรมของจีนถือเป็นความท้าทายอย่างเป็นระบบ ทั้งยังมีการกล่าวหาจีนว่ากระทำการอันเป็นการรุกราน ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายอย่างเป็นระบบต่อระเบียบโลกที่ยึดถือหลักกฎหมาย ภายใต้การควบคุมของชาติตะวันตก  ความหมายเบื้องหลังถ้อยคำเหล่านี้ก็คือ บทบาทของจีนในระดับโลกได้สั่นสะเทือนโลกตะวันตกที่เคยยิ่งใหญ่และแสนภาคภูมิใจในทุกภูมภาคของโลก แต่วันนี้กลับมีคู่แข่งที่ตะวันตกมองว่าคือคนป่วยแห่งเอเชียกลับมายิ่งใหญ่เกินหน้าเกินตา

“ปฏิญญาบรัสเซลส์” ของการประชุมใหญ่นาโตประจำปีนี้ ระบุชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า “จีนคือประเทศที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง” และระเบียบโลกซึ่งคงต้องใส่วงเล็บว่าที่ครอบงำโดยสหรัฐและชาติตะวันตก แม้ว่าจะก่อผลดีต่อประชาชาติโลกก็ตาม

ด้านปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ซึ่งผลักดันให้ที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือ G7 พาดพิงหลายเรื่องเกี่ยวกับจีน ซึ่งรวมถึงประเด็นการบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์  ซึ่งคือการกล่าวหาฝ่ายเดียว เพื่อให้พันธมิตรและบริวารมั่นใจในความชอบธรรมกลุ่ม ในปฏิญญาร่วมประจำปีนี้  ปธน.ไบเดนกล่าวว่าโดยส่วนตัวมีความพึงพอใจกับแถลงการณ์ร่วมของนาโต ที่ประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกให้จีน “คือความเสี่ยงด้านความมั่นคง” แต่ยอมรับด้วยว่า สมาชิกนาโตทั้ง 30 ประเทศ “ยังคงเสียงแตก” ในการใช้ถ้อยคำวิจารณ์รัฐบาลปักกิ่ง

นอกจากการวิจารณ์จีนแล้ว ผู้นำนาโตทั้ง 30 ประเทศยังเห็นชอบขยายขอบเขตการบังคับใช้มาตรา 5 ของกฎบัตรนาโต ที่ว่าด้วย “การรับประกันความมั่นคงโดยรวม” กล่าวคือ หากสมาชิกนาโตประเทศใดตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหาร ไม่ว่าจะทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ หมายความว่าสมาชิกนาโตที่เหลือถูกโจมตีเช่นกัน ให้มีผล “ครอบคลุมถึงในอวกาศ”

คณะผู้แทนจีนประจำสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้นาโตมีมุมมองที่ถูกต้องต่อพัฒนาการอันเป็นเหตุเป็นผลของจีน หยุดการขยายความเกินจริงของทฤษฎีที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม และอย่าใช้ผลประโยชน์อันชอบธรรมรวมถึงสิทธิตามกฎหมายของจีนเป็นข้ออ้างเพื่อหวังผลทางการเมืองและทำให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นระหว่างกัน

แถลงการณ์ของคณะผู้แทนจีนระบุด้วยว่า ข้อกล่าวหาของนาโตเป็นการพูดจาให้ร้ายการพัฒนาโดยสันติของจีน และเป็นการตัดสินสถานการณ์ระหว่างประเทศแบบผิดๆ รวมถึงยังไม่รู้ถึงบทบาทขององค์กรที่ถูกต้อง  ทั้งยังพยายามที่จะสร้างความคิดแบบในยุคสงครามเย็น และเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทางจิตในการทำงาน

การออกมาตอบโต้ของจีนอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้สถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ออกมาตอบโต้ที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (จี7) ซึ่งจัดขึ้นที่อังกฤษว่าเล่นการเมือง หลังออกมาวิพากษ์วิจารณ์จีนในเรื่องเดียวกัน