ไทยผนึกกำลังอาเซียนด้วยยุทธศาสตร์ เชื่อมโยง เข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกัน พร้อมเผชิญสถาณการณ์ผันผวนหลังโควิด-19

2070

ไทยร่วมขับเคลื่อนอาเซียนด้วย 3 แนวทาง “เร่งเชื่อมโยง สร้างความเข้มแข็งจากภายใน และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น” ในยุคหลังโควิด-19 ผ่านการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งผลักดันการลงนาม RCEPให้เสร็จทันสิ้นปี 2020 นอกจากนั้น ได้ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างมูลค่าเพิ่มของความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียนให้โดดเด่น

วันนี้ (26 มิถุนายน 2563) เวลา 08.50 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย

Vietnamese Prime Minister Nguyen Xuan Phuc addresses The 36th Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) summit video conference, attended by other ASEAN leaders in Hanoi, Vietnam, 26 June 2020. Luong Thai Linh/Pool via REUTERS

ในช่วงแรกของการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวเปิด ซึ่งมีใจความสำคัญโดยสรุปดังนี้ เศรษฐกิจของอาเซียนใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) แล้ว 6 ฉบับ กับ 7 หุ้นส่วนใหญ่ของโลก ทำให้อาเซียนได้รับการยอมรับว่าเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจของโลก จากความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่โลกไม่เคยประสบมาก่อน อาเซียนจำต้องใช้โอกาสและประสิทธิภาพที่มีให้เป็นประโยชน์สูงสุด

1. สันติภาพ ความมั่นคง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความรุ่งเรือง จะยังคงเป็นเป้าหมาย และเอกลักษณ์ที่สำคัญของอาเซียน
2. ความเชื่อมโยงระวห่างประเทศสมาชิกอาเซียนแบบไร้รอยต่อ
3. ความสามารถในการฟื้นตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
4. การเติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคง
สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในอนุภูมิภาคอาเซียน

และนายกรัฐมนตรีไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ไทยและประชาคมโลกอยู่ในช่วงกำลังปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ และในขณะเดียวกันก็กำลังรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ผันผวนมากขึ้นส่งผลต่อความมั่นคงและสเถียรภาพระหว่างประเทศ ซึ่งอาเซียนควรร่วมมือกันเสริมสร้างระบบภูมิภาคนิยมให้เข้มแข็ง และส่งเสริมการช่วยเหลือกันในระดับโลก
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 3 แนวทาง เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนในยุคหลังโควิด-19

หนึ่ง เร่งดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC) 2025 และส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่ออาเซียนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า อาเซียนควรเริ่มพิจารณาแนวทางการผ่อนคลายมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการเดินทางระหว่างกันของประชาชน

สอง เร่งขับเคลื่อนบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน และเร่งลงนาม RCEP ภายในปีนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในช่วยให้อาเซียนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของอาเซียนให้สูงขึ้น ตลอดจนต้องต่อยอดจุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตาม “โมเดลเศรษฐกิจ BCG”

สาม เร่งเตรียมความพร้อมต่อความผันผวน และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นในระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลัก เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อวางแนวทางให้แก่อาเซียนในอนาคต โดยต่อยอดจากความสำเร็จต่าง ๆ และควรครอบคลุมประเด็นความมั่นคงทางสาธารณสุข เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และการป้องกันแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า อาเซียนต้องเร่งดำเนินการเชิงรุกเตรียมการในทุกมิติ ต้องยึดมั่นแนวทางการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติ โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับรอง “วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง” พร้อมแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นปึกแผ่นในอาเซียน ควบคู่ไปกับการแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอก

………………………………………