Truthforyou

อ.กฎหมายจุฬาฯ หักหน้า “ส.ส.สิระ” การรับหนังสือร้องเรียน “คดีลุงพล” ถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก

ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่!! อ.กฎหมายจุฬาฯ หักหน้า “ส.ส.สิระ” การรับหนังสือร้องเรียน “คดีลุงพล” ถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก!?

สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวานนี้ (9 มิถุนายน 2564) นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ได้เดินทางด้วยรถตู้มาจากวัดท่ากระบือ ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อพานายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ผู้ต้องหาในคดี น้องชมพู่ และ นางสมพร หลาบโพธิ์ หรือ ป้าแต๋น เข้าพบ นายสิระ เจนจาคะ ประธานกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

เพื่อให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมตนเอง และมีการแถลงข่าวที่รัฐสภา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ถึงความไม่เหมาะสม และที่สำคัญเกิดการตั้งคำถามว่า ทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ ที่ให้ผู้ต้องหา มายื่นหนังสือในสภาฯ

ล่าสุดทางด้านของ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ในประเด็นดังกล่าวโดยมีรายละเอียดว่า

ตามข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับกรณีทนายษิทราและลุงพลไปยื่นหนังสือต่อคุณสิระ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรนั้น มีประเด็นทางกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยฝ่ายนิติบัญญัติที่สำคัญมากต้องอธิบายกันครับ

จริงอยู่ว่าในฝ่ายนิติบัญญัติอย่างรัฐสภาจะมี “ระบบคณะกรรมาธิการ” (Committee system) คอยทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน (Redress of Grievances) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านการเรียกให้บุคคล หรือหน่วยงานต่างๆ มานำเสนอข้อเท็จจริงต่างๆ ก็ตาม แต่อำนาจดังกล่าวมีขอบเขตจำกัด (Limitation) หาใช้ได้ตามอำเภอใจไม่

ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจของคณะกรรมาธิการในการรับเรื่องราวร้องทุกข์อันนำไปสู่การแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ นั้นจะต้อง “อยู่ในส่วนงานของฝ่ายนิติบัญญัติ” (Parliamentary Proceedings) ในฐานะ “ภารกิจช่วยเหลือการดำเนินการของรัฐสภา” หากไม่ได้อยู่ในขอบวงงานรัฐสภา ย่อมไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าอาจเป็นเรื่องในอำนาจขององค์กรอื่น ตาม “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” (Separation of Powers) นั่นเอง

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ทนายษิทราไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ โดยกล่าวว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการออกหมายจับลุงพล เพราะการที่ศาลออกหมายจับเป็นผลมาจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยื่นคำร้องเป็นเท็จว่าลุงพลมีพฤติกรรมหลบหนีให้ศาลพิจารณา ซึ่งไม่เป็นความจริง ในความเห็นของผมเห็นว่า คณะกรรมาธิการไม่มีอำนาจในการพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวเนื่องจากเป็นข้อจำกัดอำนาจของคณะกรรมาธิการในฝ่ายนิติบัญญัติด้วยเหตุผลหลักอย่างน้อยดังนี้

1. ประเด็นที่มีการร้องเรียนนั้นเป็นกรณีการออก “หมายจับ” ซึ่งดูราวกับว่าจะเป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ต้องไม่ลืมว่า ในเชิงหลักการแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการออกหมายจับ แต่เป็นเพียงผู้เสนอในเบื้องต้น (Initiator) ให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจขั้นสุดท้ายในการออกหมายจับ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการถ่วงดุลมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ดังที่ปรากฏอยู่ใน มาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การออกหมายจับครั้งนี้จึงหาใช่อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยแท้ หากแต่เป็นกรณีที่ศาลใช้อำนาจในการออกหมายจับ (ในทางปฏิบัติแล้ว ศาลเองก็ได้มีการสอบถามทางเจ้าหน้าที่พร้อมพิเคราะห์ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงได้ออกหมายจับไป) ซึ่งเมื่อ “หมายจับ” เป็นผลมาจากการใช้อำนาจตุลาการในขั้นสุดท้าย คณะกรรมาธิการจึงถูกจำกัดอำนาจไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปพิจารณาใดๆ ได้ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) และ “หลักเขตแดนขององค์กรตุลาการที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจก้าวล่วงได้” (sub judice) (ข้อเท็จจริงจะเปลี่ยนไปหากเรื่องนี้ยังไม่ไปถึงศาล)

2. หากไปตีความเป็นอย่างอื่นโดยให้คณะกรรมาธิการมีอำนาจในการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่คำนึงถึงหลักการตามข้อ 1 ที่อธิบายไปข้างต้น ย่อมนำไปสู่ประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง กล่าวคือ กรณีหากคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีความผิดจริง จะไม่ได้เป็นการบ่งชี้ถึงข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงเท่านั้น หากแต่จะกระทบต่ออำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ (ศาล) ในฐานะผู้ใช้อำนาจดุลพินิจชั้นสุดท้ายในการออกหมายจับ ยังมิพักที่จะกล่าวถึงการกลายเป็นบรรทัดฐานให้คดีอื่นๆ ปฏิบัติตามอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งในอนาคต

3. ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจของคณะกรรมาธิการมีขอบเขตจำกัด การปฏิบัติภารกิจต่างๆ จะต้องเป็นไปตามหลัก “วัตถุประสงค์ทางงานนิติบัญญัติ” (Legislative purpose) กล่าวคือ ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายเสียเองอันเป็นบทบาทอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ (กรณีนี้คืออำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ) ด้วยเหตุผลเช่นนี้ คณะกรรมาธิการจึงไม่มีอำนาจเรียกบุคคลใดๆ มาอันเป็นลักษณะของการไปเข้าไปพิจารณาชี้ผิดชี้ถูกใครในทางกฎหมาย

อนึ่ง ขอย้ำว่า ใครจะทำผิดกฎหมายในคดีน้องชมพู่คือประเด็นหนึ่ง แต่เรื่องการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการในรัฐสภาเพื่อให้แสวงหาข้อเท็จจริงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งผมเห็นว่าตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการไม่มีอำนาจพิจารณาคดีออกหมายจับลุงพลครับ

Exit mobile version