สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เปิดเผย 3ช่องทาง กรณี “แพ้วัคซีนโควิด” หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด เล็กน้อยถึงเสียชีวิต ยื่นขอรับเงิน ‘เยียวยาแพ้วัคซีนโควิด’ ได้ หลักการเบื้องต้นไม่พิสูจน์ถูกผิดว่าสาเหตุเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่ช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบ ยื่นขอรับ “เงินช่วยเหลือ-เยียวยา” ได้สูงสุดไม่เกิน 4 แสนบาท
ตัวอย่างมี เมื่อเร็วๆนี้สปสช.เขต 4 สระบุรี ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้เสียหายจาก ‘วัคซีนโควิด-19’ รวม 8 ราย กว่า 4.69 แสนบาท ผู้เสียชีวิต 1 รายหลังได้รับวัคซีน 5 วัน ได้ 4 แสนบาท พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือ 5 วันหลังอนุกรรมการอนุมัติ
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น สปสช.ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีอาการแบบใดถึงจะยื่นขอได้ แต่หากฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถขอรับได้เลย ถ้าให้สะดวกคือไปสถานที่ที่ฉีด ปรึกษาแพทย์ ถ้าแพทย์คิดว่าเกี่ยวก็จะช่วยส่งเรื่องให้
โดยคณะอนุกรรมการที่พิจารณาค่าเยียวยาซึ่งมี 13 เขตทั่วประเทศจะเร่งดำเนินการให้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อมีมติช่วยเหลือแล้ว จะจ่ายเงินให้แล้วเสร็จใน 5 วัน
ช่องทางในการยื่นคำร้องได้แก่
- โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
- สำนักงานสปสช. ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ
ระยะเวลาในการพิจารณาจ่ายเงิน
-จ่ายเงินช่วยเหลือภายใน 5 วันหลัง มีมติจากอนุกรรมการฯ
อัตราเงินช่วยเหลือเบื้องต้น
-บาดเจ็บ-เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสนบาท
-เสียอวัยวะ -พิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท
-เสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพ ไม่เกิน 4 แสนบาท
นพ.จเด็จ กล่าวว่า”วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่ใช้เป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เราต้องมีกระบวนการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ดังนั้นถ้ามีอาการอย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์ ส่วนค่าเสียหาย เป็นกระบวนการสร้างความมั่นใจ โดยบางกรณีไม่จำเป็นต้องรอจนพิสูจน์ถูกผิดก็สามารถเยียวยาได้”
กรณีที่สงสัยความเจ็บป่วยรวมถึงเสียชีวิตว่ามีสาเหตุจากวัคซีน สามารถยื่นคำร้องได้ทันที ไม่ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ เพราะเป็นการใช้หลักการช่วยเหลือเหลือเบื้องต้น ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด อาจเป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัย
และเมื่อมีได้จ่ายช่วยเหลือไปแล้ว ในภายหลังหากพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เราก็จะไม่เรียกเงินคืนเนื่องจากถือว่าเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น เรื่องนี้เป็นกลไกทางสังคมในการให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่กลไกทางการแพทย์ที่พิสูจน์สาเหตุ จึงต้องมีความรวดเร็วเพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น
โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สา้เขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330