จีนจัดประชุมรมว.ต่างประเทศ 10 ชาติอาเซียน!?!ยืนยันพร้อมหนุนฝ่าโควิด และสนับสนุนไม่แทรกแซงกิจการภายใน

1508

จีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ 10 ชาติอาเซียนท่ามกลางความตึงเครียดในการช่วงชิงอิทธิพลของชาติมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐในภูมิภาค มีความพยายามผลักดันให้อาเซียนกดดันเมียนมาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าในการประชุมครั้งนี้อาจมีมติสำคัญประกาศออกมา ซึ่งผลการประชุม ไม่มีมติอะไรที่เกี่ยวกับเมียนมา มีแต่ฉันทามติเรื่องการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ระบาดและการขจัดอุสรรคหนุนช่วยกัน ทำเอาสหรัฐและบริวาร โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เมียนมาเต้นไม่พอใจ

วันที่ 8 มิ.ย. 2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเทศบาลนครฉงชิ่ง ประเทศจีน ว่านายหวัง อี้ รมว.กระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวต่อที่ประชุมวาระพิเศษร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ จากทั้ง 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ที่เทศบาลนครฉงชิ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลปักกิ่งให้ความสำคัญและสนับสนุนอาเซียน ในการต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 โดยได้ส่งมอบวัคซีน ทั้งในรูปแบบของการบริจาค และการจำหน่ายราคาพิเศษให้แล้วมากกว่า 100 ล้านโดส ร่วมด้วยความช่วยเหลือด้านบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ นายหวังเปรียบเทียบวิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งนี้ กับการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส เมื่อปี 2546 และธรณีพิบัติภัยสึนามิ เมื่อปี 2547  โดยทุกฝ่ายที่ประสบภัยล้วนมีความกังวลทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และสถานการณ์ซึ่งเพื่อนบ้านกำลังประสบ จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความช่วยเหลือและความสนับสนุนจากรัฐบาปักกิ่งไม่เพียงแต่จะทำให้อาเซียนก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ แต่จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ ความเชื่อมั่น และการรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน

นักการทูตหมายเลขหนึ่งของจีนกล่าวต่อไปว่า นับจากนี้รัฐบาลปักกิ่งจะเพิ่มความสนับสนุนทุกรูปแบบที่จำเป็น ให้กับกรอบความร่วมมือด้านสุขภาพระหว่างจีนกับอาเซียน ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านอุปกรณ์การแพทย์ และการเสริมสร้างโครงข่ายด้านสุขภาพระหว่างกัน เพื่อให้อาเซียนก้าวข้ามผ่านวิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งนี้โดยเร็วที่สุด

ปีนี้จีนและอาเซียนร่วมกันเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ร่วมกันครบรอบ 30 ปี และเป็นที่น่าสังเกตว่า นายหวังไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาอย่างเป็นทางการ โดยให้ความเห็นเพียงว่า จีนสนับสนุนหลักการของอาเซียน ในการไม่แทรกแซง “กิจการภายใน” ของประเทศเพื่อนบ้าน

เนื้อหาการเจรจาในการประชุมครั้งนี้ ครอบคลุมในหลายประเด็น เช่น การฟื้นฟูการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความพยายามร่วมกันในอันที่จะต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิดและการศึกษาความเป็นไปได้เรื่องวัคซีนพาสปอร์ต เพื่อให้สามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้อย่างเสรีมากขึ้น

จีนพยายามเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศในประเด็นเมียนมา แม้ว่าจะมีความขัดแย้งกับบางประเทศในเรื่อง ข้อพิพาททางทะเลในเขตทะเลจีนใต้  เช่น ฟิลิปปินส์ร้องเรียนมาว่ามีเรือของจีนเข้ามาทอดสมอในน่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์ ตามมาด้วยมาเลเซียยื่นประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีอากาศยานของกองทัพอากาศจีน 16 ลำล่วงล้ำน่านฟ้า ถือว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออธิปไตยและความปลอดภัยด้านการบิน

ส่วนสหรัฐอเมริกาซึ่งยังคงแสดงกำลังทางทะเลในเขตทะเลจีนใต้และแสดงท่าทีต่อต้านจีนอย่างโจ่งแจ้ง ได้แสดงความกังวลที่จีนแผ่อิทธิพลในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งผลกระทบด้านความมั่นคงและอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐต่อประเทศในภูมิภาคส่วนนี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ว่าสำนักงานเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับการที่นายอีริวาน ยูซอฟ รมช.การต่างประเทศบรูไน ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ประจำปีนี้ และนายลิ้ม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนซึ่งเป็นชาวบรูไนเช่นกัน เข้าพบ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะผู้แทนระดับสูงของอาเซียนเรียกร้อง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง “ทุกคน” ที่ถูกจับกุมนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันรัฐประหาร โดยการเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งที่ประชุมอาเซียนวาระพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติร่วมกัน ให้คู่กรณีทุกฝ่าย ยุติการใช้ความรุนแรง การหันมาเจรจาอย่างสันติ เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ การแต่งตั้งทูตพิเศษในนามอาเซียนเพื่อทำหน้าที่คนกลางในการหารือระหว่างคู่กรณี การรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการที่เมียนมาอนุญาตให้ทูตพิเศษอาเซียนเข้าประเทศ

ด้านรัฐบาลคู่ขนาน เอ็นยูจี(NUG) ซึ่งเป็นองค์กรกลางของฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมา ประณามการที่ผู้แทนระดับสูงของอาเซียนพบกับพล.อ.มิน อ่อง หล่าย เท่ากับ “เป็นการยอมรับ” รัฐบาลทหาร