ธปท.สั่งแบงก์อุ้มรายย่อย-เอสเอ็มอี!?! คลอดเกณฑ์ลดดอกเบี้ย พักหนี้บ้าน-รถอีก 3 เดือน ลดค่างวด 30%

2262

สภาอุตฯเสนอขอให้รัฐบาลและธปท.ต่อมาตรการพักชำระหนี้ให้ภาคธุรกิจและSMEs ไปอีก 2 ปี ล่าสุดธปท.ยังไม่ขยายเวลา แจงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 มีผลไปถึงสิ้นปีนี้น่าจะดูแลปัญหาลูกหนี้เอสเอ็มอีและลูกหนี้รายย่อยได้ แจงคลอดหลักเกณฑ์ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล-สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 2-4% พร้อมกำหนด 5 มาตรการขั้นต่ำ ช่วยเหลือลูกหนี้ ให้พักหนี้ ‘บ้าน-รถ’ นาน 3 เดือน พร้อมลดค่างวดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ-ค่างวดสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างน้อย 30% ชะลอยึดทรัพย์ลูกหนี้

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระยะที่ 2 ว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ระยะที่ 2 ถือเป็นมาตรการขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งต่อเนื่องจากมาตรการระยะที่ 1 ที่เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มี.ค.63 และสิ้นสุดลงสิ้นเดือนมิ.ย.63 และได้คลอดมาตรการระยะที่ 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2563 

ภาคเอกชนขอต่อมาตรการพักหนี้ไปอีก 2 ปี

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า ภาคเอกชนต้องการให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือน และจะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ ในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก

สุพันธ์ฯเสนอว่า การขยายเวลาการพักชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้ออกไปอีก 2 ปี โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้มีการชำระคืนดอกเบี้ยบางส่วน เช่นผ่อนปรนให้ชำระหนี้แค่ 10-20% เพื่อให้สถาบันการเงินไม่กังวลว่า จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องพิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขนอกเหนือจากสนับสนับสนุน การส่งเสริมสินค้าเมด อิน ไทยแลนด์, การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อต่อลมหายใจ

ปัญหาหนี้ของธุรกิจเอกชนมองว่า ปัจจุบันจำนวนลูกหนี้กว่า 16 ล้านรายที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ มูลค่าหนี้ 6.84 ล้านล้านบาทนั้น ถ้าไม่ช่วยยืดเวลาออกไปก็อาจเหลือไม่กี่รายที่ผ่อนชำระได้ ภาระก้อนใหญ่จะหวนกลับมาที่ระบบธนาคารที่จะต้องทำการเพิ่มทุน เพราะเงินกองทุนที่มีอยู่ในระบบสถาบันการเงินในขณะนี้แม้จะสูงระดับ 18% แต่หลายธนาคารจะต้องเพิ่มทุนเพื่อนำมาสำรองหนี้ก้อนโตแน่นอน

แบงก์ชาติยันมาตรการก๊อก2 พอเพียง

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระยะที่ 2 ว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ระยะที่ 2 ถือเป็นมาตรการขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งต่อเนื่องจากมาตรการระยะที่ 1 ที่เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มี.ค.63 และสิ้นสุดลงเดือนมิ.ย.63

มาตรการระยะที่ 2 ยังคงช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยทั้งลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อ แต่สิ่งที่แตกต่างจากมาตรการระยะที่ 1 คือ จะคำนึงลูกหนี้เป็นตัวตั้ง โดยให้ลูกหนี้มีโอกาสเลือกว่าจะใช้มาตรการช่วยเหลือในรูปแบบใด เพราะบางกลุ่มเป็นลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ และจ่ายหนี้ตามปกติ บางกลุ่มกระทบชั่วคราว และต้องการสภาพคล่องระยะสั้นๆ และกลุ่มไปไม่ไหวแล้ว ซึ่งต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้” นายรณดลระบุ

สำหรับรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 นั้น ธปท.กำหนดให้ลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้เป็นการทั่วไป ได้แก่ 1.ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% ต่อปี เหลือ 16% ต่อปี 2.ลดดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทวงเงินหมุนเวียนจาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี 3.ลดดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทที่ผ่อนชำระเป็นงวด จาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี และ4.ลดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% ต่อปี เหลือ 24% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.63 เป็นต้นไป

พร้อมกันนั้น ธปท.ให้ผู้ให้บริการทางการเงินพิจารณาขยายวงเงินแก่ลูกหนี้ดีต่อเนื่อง และมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม โดยให้ลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ได้รับการขยายวงเงินเพิ่มเติมเป็น 2 เท่าของรายได้ จากเดิม 1.5 เท่าของรายได้ เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.63-31 ธ.ค.64

นายรณดล ระบุว่า ในส่วนของลูกหนี้ที่ไปไม่ไหว คือ กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง หนังสือเวียนของธปท.กำหนดให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ โดยคำนึงรายได้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ในช่วงหลังโควิด และต้องมีการรายงานให้ธปท.ทราบถึงความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้

นายรณดล ยังกล่าวถึงมาตรการที่ธปท.ขอให้ธนาคารพาณิชย์ งดการจ่ายปันผลระหว่างกาล และงดการซื้อหุ้นคืน รวมทั้งการจัดทำแผนบริหารเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ว่า ในเรื่องนี้ ธปท.ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ที่สำคัญ คือ ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และเป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

“นโยบายของพวกเรา คือ อยากเห็นนโยบายกลางในการดูแลและบริหารเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว ธปท.ให้สถาบันการเงินประเมินระดับเงินกองทุนฯ แต่เป็นการประเมินก่อนโควิด-19 เราจึงต้องประเมินระดับเงินกองทุนฯจากผลกระทบของโควิดว่า มีผลกระทบอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็น คือ การดูแลและบริหารเงินกองทุนให้เข็มแข็ง มีการ์ดที่สูงไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์โควิดจะมีผลกระทบอย่างไรในวงกว้าง” นายรณดล กล่าว

นายรณดล ย้ำว่า การดูแลและบริหารจัดการเงินกองทุนฯเป็นสิ่งสำคัญ และถือเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งในช่วงก่อนและหลังโควิด-19 ด้วย ดังนั้น การที่ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนฯที่สูง ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ในฐานะที่ธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกสำคัญในการเยียวยาผลกระทบ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

“ยิ่งธนาคารมีระดับเงินกองทุนที่สูง และเข้มแข็ง จะเป็นการ์ดที่สูง และเป็นกันชนที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงิน และผู้ลงทุนในระยะยาว รวมทั้งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับสถาบันการเงินในช่วงต่อไป แต่การที่เราจะไประบุให้สถาบันการเงินใด สถานบันการเงินหนึ่ง ต้องทำนโยบายนี้ ก็อาจจะมีคำถามได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน เราจึงทำเป็นนโยบายกลางที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบร่วมกัน ” นายรณดล กล่าว

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ระยะที่ 2 กำหนดให้ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.63 และมีผลต่อเนื่องไปเลย ส่วนการขยายวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ให้ลูกหนี้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ให้มีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว หรือตั้งแต่ 1 ส.ค.63-31 ธ.ค.64

นอกจากนี้ ธปท.ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำระยะที่ 2 สำหรับลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาใน 5 เรื่อง ได้แก่ 

1.คงอัตราจ่ายขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิต คือ จ่ายขั้นต่ำ 5% ในปี 63-64 จ่ายขั้นต่ำ 8% ในปี 65 และจ่ายขั้นต่ำ 10% ในปี 66 แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือขยายเวลาชำระหนี้ให้เหมาะสมกับลูกหนี้ โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 12% รวมทั้งให้วงเงินเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ได้ แต่ต้องไม่เกินวงเงินสินเชื่อเดิม

2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ให้ลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 เดือน หรือขยายเวลาชำระหนี้ให้เหมาะสมกับลูกหนี้ คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% และสามารถให้วงเงินเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ได้ แต่ต้องไม่เกินวงเงินสินเชื่อเดิมที่ลูกหนี้เคยได้รับอนุมัติ

3.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ลดค่างวดลงอย่างน้อย 30% และให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% 

4.สินเชื่อเช่าซื้อ ให้เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวด โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ แต่จะไม่มีจำกัดวงเงิน จากเดิมที่มอเตอร์ไซด์จำกัดวงเงินที่ 35,000 บาท และรถยนต์ทุกประเภทจำกัดวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท

5.สินเชื่อบ้าน ให้เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือเลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้เงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม หรือลดค่างวด โดยการขยายเวลาการชำระหนี้ โดยสิ่งที่ต่างกันจากมาตรการระยะที่ 1 คือ มาตรการระยะที่ 2 จะไม่จำกัดวงเงิน จากเดิมที่จำกัดวงเงินที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำระยะที่ 2 ดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63-31 ธ.ค.64 และให้ลูกหนี้ต้องแสดงความจำนงหรือเข้ามาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.63