ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ตกลงกันได้แล้วว่า จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในกลางเดือนมิ.ย.นี้ เป็นการพบปะกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรก ซึ่งความสัมพันธ์สองประเทศเลวร้ายอย่างมากในช่วงเดือนแรก ของการบริหารประเทศ ของปธน.โจ ไบเดนผู้นำจากพรรคเดโมแครต เปิดฉากด้วยการประณาม คว่ำบาตรและอื่นๆอีกมากมาย ล่าสุดทั้งตัวไบเดนและโฆษกทำเนียบขาว ไม่ได้มีท่าทีเป็นมิตรแม้แต่น้อย ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังเล็งหาวิธีตอบโต้ หลังทำเนียบขาวระบุแฮกเกอร์ในรัสเซียเป็นตัวการโจมตี “เจบีเอส” บริษัทแปรรูปเนื้อรายยักษ์ของอเมริกาในบราซิล นอกจากนั้นผู้ให้บริการเรือเฟอร์รีรายใหญ่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ตลอดจนถึงผู้ดำเนินการระบบรถไฟและรถโดยสารในนิวยอร์กซิตี้ ต่างออกมาเปิดเผยว่าถูกแฮก ระบบเช่นเดียวกัน แต่ไม่เกิดความเสียหายรุนแรง
ดูเหมือนว่า การอ้างพบปธน.รัสเซียเป็นแค่เรื่องที่จำเป็นต้องทำทางการทูต และ ไม่สามารถคาดหวังผลอะไรได้ เพราะไบเดนดูจะให้น้ำหนักไปที่กลุ่ม G7 สหภาพยุโรปและนาโต้มากกว่าที่จะมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งแน่ นอนว่าปธน.ปูตินย่อมมองออก
วันพุธที่ 2 มิ.ย.2564ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวถามปธน.ไบเดนว่าจะตอบโต้ปธน.วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งมีนัดพบประชุมซัมมิตครั้งแรกที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กลางเดือนนี้หรือไม่ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่า ทำเนียบขาวกำลังติดตามปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์อย่างใกล้ชิดและจำนำเรื่องนี้ไปพูดคุยด้วย
สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์เพื่อเรียกค่าไถ่จากบริษัทเจบีเอส ซึ่งเป็นกิจการของทุนบราซิลนั้น เป็นฝีมือของ “รีวิล” และ “โซดิโนบิกิ” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นแฮกเกอร์กลุ่มเดียวกันและมีสายสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยที่เอฟบีไอสำทับว่ากำลังดำเนินการเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ
ขณะเดียวกัน เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า ไบเดนจะนำประเด็นนี้ขึ้นมาหารือระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมของโลก (จี7) ที่สหราชอาณาจักรปลายสัปดาห์หน้า ซึ่งจะติดตามด้วยซัมมิตสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) รวมทั้งการนัดพบกับปูตินในวันที่ 16 มิ.ย.ที่จะถึงนี้
ซากีกล่าวว่า การให้ที่พักพิงแก่กลุ่มที่มีเจตนาร้ายหรือดำเนินการที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างพื้นฐานของอเมริกาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ถึงแม้ทำเนียบขาวไม่ได้กล่าวโทษเครมลินโดยตรง แต่ก็พูดอ้อมๆ ว่า กลุ่มอาชญากรทำการโจมตีจากในรัสเซีย และซากียังเสริมว่า ไบเดนคิดว่าปูตินและรัฐบาลรัสเซียมีบทบาทในการหยุดยั้งและป้องกันการโจมตีเหล่านั้น พร้อมสำทับว่าประเทศที่มีความรับผิดชอบทั้งหลาย ต้องไม่ให้ที่พักพิงแก่อาชญากรไซเบอร์
ทางด้านมอสโกแถลงในวันเดียวกันว่า พร้อมให้ความช่วยเหลือในการสอบสวนเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์หากอเมริการ้องขอซึ่งก็ไม่ร้องขอแต่ป่าวประกาศกล่าวหารัสเซียไปทั่วแล้ว
น่าสังเกตุว่า บริษัทโคโลเนียลไปป์ไลน์ถูกแฮกเกอร์เรียกค่าไถ่โจมตี ทำให้ต้องหยุดผลิตหยุดส่งก๊าซ-น้ำมัน แต่ส่งผลราคาก๊าซ-น้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะขาดแคลน คนอเมริกันต้องพากันแย่งกักตุนน้ำมันโกลาหลนานหลายสัปดาห์ ขณะที่โรงงานผลิตเนื้อที่เป็นบริษัทสหรัฐฯถูกแฮกเกอร์เรียกค่าไถ่โจมตี ทำให้ต้องหยุดผลิตหยุดส่งสินค้า ทำให้ราคาเนื้อแพงขึ้นต่อเนื่อง และลูกค้าที่บริษัทนี้ส่งเนื้อมีจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ราคาเนื้อที่จีนและบราซิลจึงแพงขึ้น มูลค่าสูงกว่าเงินค่าไถ่ที่บริษัทจ่ายให้กับแฮกเกอร์ ส่วนที่เหลือที่ไบเดนอ้าง ไม่มีรายงานว่าถูกเรียกค่าไถ่แล้วต้องจ่ายเท่าไหร่ การสอบสวนเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้ไบเดนอ้างว่า เป็นรายงานโดยเอฟบีไอ และ ซีไอเอ
เหตุแวดล้อมที่ไบเดนและทีมของเขาป่าวประกาศดูชี้เป้าไปที่รัสเซียเป็นผู้ร้าย แต่ผู้ได้ประโยชน์ในเบื้องปลายกลับเป็นสหรัฐซะเอง นี่หมายความว่าอย่างไร?
ทั้งนี้ เจบีเอสเป็นเครือข่ายซัปพลายเออร์เนื้อวัวที่ทำธุรกิจอยู่ในอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา ยุโรป เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยบริษัทตรวจพบว่าถูกแฮกเกอร์โจมตีระบบคอมพิวเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค.2564 ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานบางส่วนในอเมริกาเป็นอัมพาต และกระทบกระเทือนการทำงานของแรงงานหลายพันคนในออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี เวลานี้บริษัทเผยว่าโรงงานแปรรูปเนื้อวัว หมู สัตว์ปีก และอาหารสำเร็จรูปของตนส่วนใหญ่จะสามารถดำเนินการได้เกือบเป็นปกติในวันพฤหัสฯที่ 3 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ ผู้ให้บริการสายท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของอเมริกา ก็เพิ่งถูกโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งทำให้คนแตกตื่นแห่เติมน้ำมันรถในบางรัฐ และจบลงด้วยการที่บริษัทยอมจ่ายค่าไถ่ 4.4 ล้านดอลลาร์ให้กลุ่มแฮกเกอร์ “ดาร์กไซด์” ที่เชื่อว่าอยู่ในรัสเซียเช่นกัน
นอกจากนั้น ในวันพุธที่ 3 มิ.ย.2564 บริษัท สตรีมชิป ออโธริตี ออฟ แมสซาชูเซตส์ ที่ให้บริการเรือเฟอร์รีในรัฐแมสซาชูเซตส์ รายงานว่า ถูกโจมตีด้วยซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ ส่งผลให้บริการเรือเฟอร์รีระหว่างเคปค็อดและเกาะแนนทักเกตและมาร์ธาส์วินยาร์ดล่าช้า เนื่องจากการประมวลผลบัตรเครดิตมีปัญหา ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้เงินสดแทน และเสริมว่า กำลังเร่งตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รัฐ และรัฐบาลกลาง จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากกว่านี้