Truthforyou

กองทัพอากาศมาเลเซียส่งบินขับไล่สกัดฝูงบินทหารจีน 16 ลำ?!?แถลงเป็นการคุกคามอธิปไตย ขณะจีนแจงเป็นการฝึกบินปกติ

กองทัพอากาศมาเลเซียส่งเครื่องบินขับไล่ฮอว์กหลายลำ บินขึ้นสกัดกั้นและเฝ้าตรวจเครื่องบินลำเลียงของกองทัพจีนที่บินตามกันเป็นฝูงถึง 16 ลำเมื่อวันจันทร์ ในรัศมี 60 ไมล์ทะเลนอกชายฝั่งรัฐซาราวัก ระบุเป็นการคุกคามอธิปไตยอย่างร้ายแรง สถานทูตจีนยืนยันไม่ได้ละเมิดน่านฟ้าชาติใด

เมื่อวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564  คำแถลงของกองทัพอากาศมาเลเซียระบุว่า เรดาร์ของกองทัพในรัฐซาราวักบนเกาะบอร์เนียวตรวจพบกิจกรรม “น่าสงสัย” ของเครื่องบินลำเลียงของกองทัพจีน 16 ลำในทะเลจีนใต้เมื่อเวลา 11.53 น.ของวันจันทร์ที่31 พ.ค.2564 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น กองทัพอากาศมาเลเซีย จึงต้องส่งเครื่องบินขับไล่ฮอว์กหลายลำขึ้นบินสกัดกั้น หลังจากเครื่องบินจีนเหล่านี้บินเข้ามาภายใน 60 ไมล์ทะเลนอกชายฝั่งซาราวัก    

คำแถลงกล่าวว่า เครื่องบินของจีนไม่ได้ติดต่อหอควบคุมการจราจรทางอากาศในภูมิภาคนี้ ทั้งที่ได้รับคำแนะนำหลายครั้ง “เหตุการณ์นี้ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ และความปลอดภัยการบิน เนื่องจากความหนาแน่นของการจราจรทางอากาศในเส้นทางบินนั้น” แถลงการณ์กล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ชี้แจงว่า เครื่องบินของจีนฝึกบินตามปกติ และปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยมิได้ละเมิดน่านฟ้าของประเทศอื่นใด

โฆษกสถานทูตจีนกล่าวว่า “จีนและมาเลเซียเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร และจีนเต็มใจจะปรึกษาหารือทวิภาคีแบบฉันมิตรกับมาเลเซียต่อไป เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ร่วมกัน”   

กองทัพอากาศมาเลเซียกล่าวว่า เครื่องบินของจีน ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี ซีอาน วาย-20 และอิลยูชิน อิล-76 ทั้ง 16 ลำนี้ บินตามกันในรูปแบบการจัดหมู่บินทางยุทธวิธี ที่ระดับความสูงระหว่าง 23,000-27,000 ฟุต เมื่อเครื่องบินของจีนเข้ามาภายในรัศมี 60 ไมล์ทะเล เครื่องบินของมาเลเซียบินเข้าสกัดกั้นและพิสูจน์ทราบ เครื่องบินของจีนยังไม่ได้เข้าน่านฟ้าของมาเลเซียก่อนบินจากไป    

จีนอ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และได้สร้างเกาะเทียมและฐานที่มั่นทางทหารบนสันดอนและหินใต้น้ำในพื้นที่พิพาทที่ประเทศอื่นอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน กองกำลังป้องกันชายฝั่งของจีนมักเตือนเรือและอากาศยานของประเทศอื่นที่เข้าใกล้พื้นที่ที่จีนอ้างว่าเป็นดินแดนของตน และมักก่อความตึงเครียดกับหลายประเทศ รวมถึงฟิลิปปินส์และเวียดนาม    

ปีที่แล้ว เรือสำรวจของจีนคุมเชิงกับเรือสำรวจน้ำมันของมาเลเซียนานนับเดือนภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซียนอกชายฝั่งบอร์เนียว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ่นทำความสัมพันธุ์ระหว่างจีนและมาเลเซียเปราะบางยิ่งขึ้นรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิสชัมมุดดิน ฮุสเซน (Hishammuddin Hussein) กล่าวว่าเขาจะเรียกทูตจีนถกกันเกี่ยวกับประเด็น ‘การละเมิดอธิปไตยและน่านฟ้าของมาเลเซีย’

จีนกล่าวว่า “กิจกรรมที่รายงาน” นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกบินประจำที่ ไม่กำหนดเป้าหมายไปที่ประเทศใด ๆเป็นการเฉพาะ และปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

จีนยึดถือเส้นประ 9 เส้นเป็นอาณาเขตอธิปไตยของประเทศ ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฝ่ายที่ต่อต้านปักกิ่งในข้อพิพาททางทะเลถือว่าการเรียกร้องของจีนผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

นอกจากมาเลเซียแล้ว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบรูไนยังโต้แย้งข้อเรียกร้องของจีนว่าละเมิดอธิปไตยและสิทธิทางทะเลของพวกเขาตามที่ปรากฎอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามจำนวนประชากรและพื้นที่ดิน  ยืนยันว่าจีนไม่ใช่ผู้อ้างสิทธิ์ที่ชอบธรรม เพราะทางเหนือของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของหมู่เกาะนาทูนาขยายไปสู่แนวเส้นประ 9 เส้นของจีน

Exit mobile version