Truthforyou

รัฐบาลทุ่มสู้โควิดเต็มพิกัด!?!ศธ.สั่งลดค่าเทอม ลดภาระผู้ปกครอง ครม.อนุมัติ 4 มาตรการเยียวยา ดูเลยเริ่มเมื่อไหร่!!

ก.ศึกษาธิการสั่งลดค่าเทอมสถานศึกษาในสังกัด ให้โรงเรียนคืนค่าเทอมและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในส่วนที่ไม่ได้สอนช่วงปิดเรียนโควิด ยึดหลักคืนเงิน-ผ่อนผัน-ช่วยเด็กยากจน-ลดภาระผู้ปกครอง ขณะผลประชุมครม.อนุมัติมาตรการเยียวยาช่วง 6 เดือนหลังเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและเยียวยาประชาชน 4 มาตรการ ดีเดย์ 1 มิย.64

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษา จำนวนมากนั้น ตนได้รับทราบปัญหาดังกล่าว และมีนโยบายให้ต้นสังกัดของโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ไปดำเนินการแก้ไขปัญหา และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนก็ได้ลงนามในประกาศ ศธ. เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว

รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ในประกาศดังกล่าวระบุ ว่าประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด– 19 และให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.จัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล

โดยบางโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีความพร้อมและประสงค์จะจัดการศึกษาในรูปแบบ On Site หรือ เรียนที่โรงเรียน ได้จะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai StopCOVID Plus (TSC+) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน นั้น ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังกล่าว ประกอบกับมีโรงเรียนหรือสถานศึกษาบางแห่งได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นจากผู้ปกครอง

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในสถานการณ์ปัจจุบัน ศธ.กำหนดแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ.ถือปฏิบัติ

สำหรับแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นที่ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ. ให้ถือปฏิบัติดังนี้คือ

1.ในกรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

2.ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณาผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป

3.พิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม  และ

4.ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือที่กำกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา แจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาในสังกัด หรือ ในกำกับให้ปฏิบัติตามประกาศนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น”น.ส.ตรีนุชกล่าว

ในวันนี้ วันที่ 1 มิ.ย.2564 ไม่ต้องลุ้นเพราะ กระทรวงการคลังจะเสนอ 4 โครงการช่วยเหลือประชาชน กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม ได้แก่

1.โครงการเติมเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.65 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาท

2.โครงการเติมเงินให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ที่เป็นผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการเราชนะ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย จำนวน 2.5 ล้านคน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท

3.โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โดยจะเป็นการใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (โคเพย์) คือรัฐช่วยจ่ายวันละ 150 บาท ผู้ได้สิทธิจ่ายเอง 150 บาท รวมเป็นเงิน 3,000 บาท โดยจะแบ่งเป็นช่วงแรกไตรมาส 3 จะทยอยจ่าย 1,500 บาท และไตรมาส 4 อีก 1,500 บาท ครอบคลุมประชาชน 31 ล้านคน ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 15 ล้านคน ซึ่งโครงการระยะ 3 จะเปิดให้เข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิอีก 16 ล้านคน ใช้งบประมาณรวมกว่า 93,000 ล้านบาท

4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้ที่มีกำลังซื้อ จะเปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ในการรับสิทธิใช้คูปองอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอชเชอร์) ไว้ใช้จ่ายค่าสินค้า อาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าบริการ (ไม่รวมลอตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับยานพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน) ในอัตรา 10-15% สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน มีกลุ่มเป้าหมาย 4 ล้านคน ใช้งบประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท

ทั้ง 4 โครงการที่จะออกมาเพิ่มเติม หากรวมกับโครงการที่ออกมาในระยะแรก คือเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ จำนวน 2,000 บาท เพื่อช่วยบรรเทาภาระประชาชนในช่วงโควิด ใช้งบประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท และโครงการ ม33เรารักกัน เพิ่มวงเงิน 2,000 บาท ใช้งบประมาณรวมกว่า 1.85 หมื่นล้านบาท โดยประเมินแล้วคาดว่า จะสามารถดูแลประชาชนได้ครอบคลุมกว่า 51 ล้านคน

Exit mobile version