ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลยันกู้เพิ่ม 5 แสนล้านตามความจำเป็น?!?ใช้เยียวยา หนุนจ้างงาน หนี้สาธารณะยังไม่เกิน 60% ขณะทุนสำรองแกร่ง

1631

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เผยกรอบเงินกู้ 5 แสนล้าน รับมือสถานการณ์ได้ถึงปีหน้า ดันจีดีพีเพิ่มในปี 64 -65 ได้ 1.5% ขณะที่หนี้สาธารณะยังไม่เกิน 60% ด้านสภาพัฒน์ระบุแผนใช้เงินกู้ครั้งนี้เน้นช่วยเฉพาะกลุ่ม มุ่งให้น้ำหนักดูแลเอสเอ็มอี นักศึกษาจบใหม่ ช่วยรักษาระดับการจ้างงานด้วย

 

วันที่ 26 พ.ค.2564 ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. (สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เปิดแถลงชี้แจงกรอบวงเงินกู้เพิ่ม 5 แสนล้านบาท โดยราชกิจจานุเบกษาแพร่ พ.ร.ก.กู้เงินฯฉบับใหม่แล้ว เพื่อใช้เดินหน้าแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดหนักและกว้างขวาง เป็นวิกฤติสำคัญต้องแก้ไขเร่งด่วน โดยจัดสรรงบฯใน 3 แผนงานหลักคือ 

แผ่นงานที่ 1 กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย รับผิดชอบ วงเงิน 30,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

อีก 2 แผนงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายรับผิดชอบ แบ่งเป็น

-แผนงานที่ 2 วงเงิน 300,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

 -แผนงานที่ 3  วงเงิน 170,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

เรื่องการปรับลดลดกรอบกู้เงินเหลือ 5 แสนลบ. จากที่ตั้งวงเงินไว้ 7 แสนล้านบาทนั้น แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ออกมาชี้แจงรายละเอียดว่า กรณี พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 หรือชื่อเต็มว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 25 พ.ค. 2564 โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกรอบวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565

โดยที่ผ่านมาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบและระมัดระวังตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) คงเหลือและเพียงพอเพื่อดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ 

สำหรับการกู้เงินของรัฐบาลในวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2 นั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะทยอยกู้เงินตามความจำเป็นและตามแผนการเบิกจ่ายจริง และไม่ได้กู้เงินทั้งจำนวน 500,000 ล้านบาท ในคราวเดียว 

ผอ.สบน.กล่าวเสริมว่า “ในปี 64 สบน. คาดว่าจะสามารถกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จำนวน 1 แสนล้านบาท แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้งบประมานจากโครงการต่างๆด้วย”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 1 เกือบครบ 1 ล้านล้านบาท และจะต้องกู้เพิ่มอีกประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยจะมีการกู้ในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปีหน้า เพื่อใช้ดำเนินนโยบายการคลังเพิ่มเติมในการดูแลทุกภาคส่วนรวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตการระบาดของ COVID-19 

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ว่าจะอยู่ที่ 58.56% ซึ่งยังอยู่ในกรอบ

นางแพตริเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับลดวงเงินของพ.ร.ก. จาก 7 แสนล้านบาท เป็น 5 แสนล้านบาท ไม่ได้มาจากความกังวลว่าจะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเกิน 60% ต่อจีดีพี แต่จำนวน 7 แสนล้านบาทเป็นกรอบที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ ขณะที่ทีมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านเศรษฐกิจประเมินว่า 5 แสนล้านบาทเป็นเม็ดเงินที่เหมาะสมสำหรับภาวะปัจจุบัน ดังนั้นภายใต้พ.ร.ก. ฉบับนี้จะกู้ได้เพียง 5 แสนล้านบาทเท่านั้น

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีตามประกาศวินัยการเงินการคลังกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังต้องมีการกำหนดสัดส่วนหนี้ต่างๆ เช่น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี โดยในปีนี้เป็นการครบรอบ 3 ปีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการทบทวนว่าสัดส่วนต่างๆที่กำหนดไว้มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังจะทบทวนสัดส่วนต่างๆอีกครั้งในปีนี้  

ทั้งนี้ ในเรื่องหนี้สัดส่วนต่างๆมีทั้งหมด 4 ด้านด้วยกันไม่ใช่เฉพาะหนี้สาธารณะต่อจีดีพี การพิจารณาว่าจะปรับหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น สภาพเศรษฐกิจ ความต้องการใช้เงินในระยะปานกลางของรัฐบาล 

สำหรับสัดส่วนหนี้ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 

-สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกำหนดไว้ไม่เกิน 60% 

-สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อประมานการรายได้ประจำปีงบประมานกำหนดไม่เกิน 35% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 27% 

-สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดกำหนดไม่เกิน 4% ปัจจุบันอยู่ที่ 1.8% และ

-สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการกรอบกำหนดไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.06%

ด้านรายงานฐานะสำรองระหว่างประเทศของทางการเมื่อเดือนมกราคม 2564 เปิดเผยว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ฐานะการเงินสุทธิ 275,203.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 8,714,031.25 ล้านบาท

สรุปก็คือสัดส่วนหนี้ทั้งหมดของประเทศไทยในทุกมิตินั้นยังอยู่ในกรอบที่ไม่สุ่มเสี่ยงอันตรายต่อฐานะของประเทศแต่อย่างใด นอกจากนี้เงินสำรองฯของประเทศไทยอยู่ในฐานะที่แข็งแกร่ง เรียกว่า เสถียรภาพการเงินการคลังของไทยนั้นสามารถเผชิญพายุเศรษฐกิจ วิกฤติโควิดได้ ดูแลคนไทยได้ และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน!!