อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯยันกปปส.ไม่หวนหาเผด็จการ เฉ่งเด็กมั่วนิ่มขอโทษอัปยศต่อสถาบัน-ไร้เดียงสา

1784

จากที่อบจ.จุฬาฯได้ออกแถลงการณ์เป็นมติขอโทษที่ร่วมชุมนุมกับกลุ่มกปปส.เมื่อปี2556 นั้น หลายคนก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันไปพอสมควร แต่มีอีกเสียงหนึ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีส่วนสำคัญทั้งในการชุมนุมและความเกี่ยวข้องกับจุฬาฯเอง

ทั้งนี้ นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2513 ได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่าน เว็บไซต์ไทยโพสต์ (www.thaipost.net) โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(อบจ.)ออกแถลงการณ์ขอโทษสังคมกรณีที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ อบจ.สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส.เมื่อปี 2556 โดยระบุว่า

“ขอแสดงความสำนึกผิดและขออภัยต่อประเทศชาติและประชาชนอันเป็นที่รักยิ่ง” เนื่องจากการชุมนุมของกปปส.เป็นการ “เซาะกร่อนบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของคนไทยจนถึงแก่น” และ “นำความอัปยศมาสู่เกียรติประวัติของสถาบันการศึกษาอันเก่าแก่นี้อย่างพ้นประมาณ”

ในฐานะเป็นอดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2513 เป็นคนรุ่นลุงของเด็กรุ่นใหม่กลุ่มนี้ และเป็นคนที่ร่วมขบวนต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยมาแต่ต้น

ขอเสนอข้อคิดดังนี้

1.การชุมนุมมวลชนหลายล้านคนต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เพื่อล้างผิดให้กับคนโกง คนก่ออาชญากรรมรุนแรง ด้วยมติรัฐสภาที่ลงมติลักหลับตอน 4.20 น.เป็นผลให้คนที่ถูกศาลพิพากษาแล้วว่าทุจริต คนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี คนที่เข้าคิวรอถูกดำเนินคดี เหล่านี้พ้นผิดไปทั้งหมด แปลว่าเป็นกฏหมายฟอกขาวให้กับคนปล้นชาติที่หนีคดีอาญาไปอยู่ต่างประเทศ คนที่โกงจำนำข้าวกว่า 5 แสนล้านบาท คนที่เผาศาลากลางจังหวัด คนเผาห้างสรรพสินค้า คนบุกทำลายการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยา ทั้งหมดนี้จะลอยนวลด้วยกฏหมายฟอกขาวให้พ้นผิดอย่างสิ้นเชิง

2.ตลอด 6 เดือนของการชุมนุมผู้กระทำความรุนแรงเป็นอันธพาลที่โยงใยอำนาจรัฐในยุคนั้น เป็นฝ่ายกระทำถึงเลือดเนื้อและชีวิตฝ่ายถูกกระทำคือประชาชนบาดเจ็บ 782 ราย เสียชีวิต 27 ราย   ยังไม่เข้าใจอีกหรือว่าใครเป็นฝ่ายเซาะกร่อนบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพถึงขั้นละเมิดชีวิตใครกันแน่

3.ประชาคมจุฬาฯที่นัดชุมนุมกัน ณ ลานพระรูปสองรัชกาลบริเวณสนามหญ้า เป็นนิสิตเก่า เป็นอาจารย์ เป็นบุคลากรจุฬาฯและเป็นนิสิตในเวลานั้น เป็นชุมชนชาวจุฬาฯที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบอันสูงส่ง ด้วยเห็นว่ากฏหมายนั้นเป็น ความฉ้อฉลของเสียงข้างมากในสภาที่สังคมไทยต้องรวมใจกันต้านยันไม่ให้เป็นมรดกบาปของแผ่นดิน

ชาวจุฬาฯผู้ร่วมชุมนุมในเวลานั้น ไม่มีใครสักคนที่หวนหาเผด็จการ ไม่มีใครเชิญชวนขุนทหารคนใดให้มายึดอำนาจ ไม่มีใครกวักมือเรียกทหาร

ฉันทามติหนึ่งเดียวของประชาคมจุฬาฯคือการต่อสู้ต้านยัน พรบ.นิรโทษกรรมฉ้อฉลฉบับนั้นอย่างเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกัน

นี่คือความกล้าหาญทางจริยธรรม คือเกียรติภูมิจุฬาฯที่มองไกลไปยังอนาคตของลูกหลานไทย

มติ อบจ.9 ต่อ 8ต่างหาก ที่ไม่อาจแยกผิดแยกถูกได้ แต่กลับทำ อบจ.ให้เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างไร้เดียงสา และ“สร้างความอัปยศให้กับสถาบันเก่าแก่แห่งนี้”อย่างแท้จริง

4.รัฐประหาร 22 พค.57 เป็นผลพวงที่รัฐบาลยุคนั้น ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งพ้นสภาพแล้วเมื่อ 7 พค.57 เหลือ รมว.รักษาการจำนวนไม่กี่คนที่ไม่มีอำนาจใดๆจะบริหาราชการแผ่นดินได้ หากรัฐมนตรีเป็ดง่อยลาออกไป โดยที่นายกฯยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ก็ยังมีวุฒิสภาที่ทำหน้าที่รัฐสภา ย่อมสามารถดำเนินการให้เกิดรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่ต่อไปได้ รัฐประหารก็ไม่จำเป็น   แต่เนื่องจากการเปล่งวาจา”นาทีนี้ไม่ลาออก”นั้นเอง การรัฐประหารจึงตามมา

การขอโทษเป็นเรื่องดี แสดงถึงจิตสำนึกรับผิดชอบในสิ่งที่สำนึกว่าได้ทำผิดไปแล้ว เท่ากับถือเอาความถูกต้องเป็นสำคัญเหนือการรักษาหน้าตา

กรรมการ อบจ.ขณะนี้นั้น ในปี 2556 พวกเขายังเรียนอยู่ชั้น ม.4-6 ได้เรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์ตรงกับความเป็นจริงได้แค่ไหนเพียงไรหรือไม่

ในขณะที่ “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” โพสต์จับแพะชนแกะว่าบิ๊กแดงเป็นองคมนตรี และเป็นลูกของพลเอกสุจินดา คราประยูร แต่คนรุ่นใหม่ของจุฬาฯ กลุ่มหนึ่งกลับมั่วนิ่มไปขอโทษในเรื่องไม่ใช่เรื่องอย่างไร้เดียงสา