จากกรณีผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เมรุในวัดแห่งหนึ่ง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ พร้อมด้วยหน่วยกู้ภัยสว่างจิตต์ศรีสะเกษธรรมสถาน นำร่างผู้เสียชีวิต ด้วยโรคปอดติดเชื้อจากแบคทีเรีย มาทำการฌาปนกิจด้วยความเร่งด่วนนั้น
ทั้งนี้เนื่องจากผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน แต่ได้รับการรักษาหายแล้ว ผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ โดยมีญาติมาร่วมในพิธีประมาณ 10 คน เจ้าหน้าที่ ที่นำร่างของผู้เสียชีวิตมาทำพิธีฌาปนกิจ ต้องใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) อย่างรัดกุม เพื่อเป็นการไม่ประมาทป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งผู้เสียชีวิตรายนี้ไม่นับรวมจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ของจังหวัดศรีสะเกษ
ขณะที่ นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสะเกษ ได้ออกประกาศระบุว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้ เป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 70 ของศรีสะเกษ เป็นชายไทย อายุ 61 ปี ภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอเมืองศรีสะเกษ ติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยรายที่ 22 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2564 ผลการรักษาหายจากโควิด-19 แล้ว (ผลตรวจเป็นลบ) แต่เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ยังมีอาการปอดติดเชื้อจากแบคทีเรีย จึงทำให้เสียชีวิตวันที่ 22 พ.ค. 2564 ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ เพื่อเป็นการไม่ประมาทจึงได้ป้องกันเหมือนกับผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ด้วย
ต่อมา รศ.นายแพทย์ นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ถึงกรณีดังกล่าวว่า
“อ่านข่าวแล้วไม่สบายใจ ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในต่างจังหวัดคงมีอีกหลายรายเช่นรายนี้ ที่ผู้บริหารซึ่งรับผิดชอบให้ข่าวว่าเสียชีวิตจากเหตุอื่น ที่จริงหมอพวกนี้ถือว่าจงใจปกปิดข้อมูลทำให้ภาพรวมการเสียชีวิตจากโควิดต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ภาคความมั่นคงและภาคประชาชนไม่เห็นความสำคัญของปัญหาที่แท้จริง และไม่กวดขันเข้มงวดเพื่อช่วยลดการสูญเสียของการระบาดในวงกว้าง
ปัจจุบันแพทย์รุ่นใหม่โดยเฉพาะอายุรแพทย์ จะถูกสอนและเน้นย้ำความสำคัญการลงรหัสโรค การสรุปรายงานผู้ป่วย และการลงสาเหตุการเสียชีวิต ดังตัวอย่างที่ผู้ป่วยเป็นปอดอักเสบโควิดใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานานจนตรวจไม่พบเชื้อโควิดแล้ว ต่อมาเกิดปอดติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนและเสียชีวิต การสรุปสาเหตุการตายต้องเป็นโรคโควิด-19 โดยมีปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเป็นภาวะแทรกซ้อน
เข้าใจว่าพวกนี้ชอบซุกขยะใต้พรม ตกแต่งตัวเลขในความรับผิดชอบให้ดูสวยงามเข้าไว้ คิดแล้วเศร้าใจแทนประชาชนไทย แต่ยังไงก็ไม่ขอเปลี่ยนประเทศ เพราะมันเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของรักของหวงของผมไปแล้ว
ภาคการแพทย์น่าจะเป็นข้าราชการประจำกลุ่มหลังๆ ที่ถูกข้าราชการเมืองเข้าแทรกจนค่อยๆ สูญเสียอัตลักษณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรม ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการการเมืองที่มาถูกช่องทางโดยการเลือกตั้ง หรือที่มาทางลัดโดยการตั้งกันเอง (ลากตั้ง) ล้วนไว้วางใจไม่ได้ทั้งนั้น
# เอาแพทย์ของนักการเมืองคืนไป ส่งแพทย์ของประชาชนคืนมา # ภาครัฐโปรดสื่อสารความจริงกับประชาชน”
อย่างไรก็ตามเมื่อข้อความดังกล่าวของคุณหมอนิธิพัฒน์ เผยแพร่ออกไปสู่โลกโซเชียลฯ ก็ปรากฏว่ามีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นได้พูดถึงการทำประกันผู้ป่วยไว้อย่างน่าสนใจและพิจารณาร่วมกัน เช่น
“มันมีปัจจัยของบริษัทประกันเข้ามาเกี่ยวด้วยมั๊ยคะ เพราะถ้าผู้เสียชีวิตทำประกันโควิคไว้ลงแบบนี้ประกันไม่ต้องจ่าย แค่ถ้าลงอย่างอาจาร์ยบอกประกันต้องจ่าย เห็นว่ามีหลายรายที่ต้องเสียผลประโยชน์ส่วนนี้ ไปน่าเห็นใจเค้า ทุกคนที่ทำก็เผื่อไว้ถ้าเป็นคนข้าหลังได้มีทุนไว้ดำเนินชีวิตต่อ แต่กลับไม่ได้อะไรเลยเพราะปลสรุปโรค”