บิ๊กตู่แถลง75 ปีUNพร้อมร่วมมือ !! ชูไทยพัฒนาด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ดันสู่นานาชาติน้อมนำไปใช้

2769

สหประชาชาติประชุมใหญ่ครบรอบการก่อตั้ง 75 ปี ครั้งแรกประวัติศาสตร์ของการจัดประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 22-26 กันยายน 2563 ที่นครนิวยอร์ก  และในวันนี้ (22ก.ย.)ประเทศไทยโดยนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้แถลงยินดีและแสดงจุดยืนของประเทศไทยพร้อมสนับสนุนงานของสหประชาชาติ

ในการร่วมมือประสานงานระดับนานาชาติ ไปบรรลุจุดมุ่งหมายการเอาชนะปัญหาความยากลำบากของประชาชาติทั้งโลกร่วมกัน  ทั้งการระบาดโควิด-19 การรักษาสันติภาพและความมั่นคง ตลอดจนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบทบาทของไทยในการริเริ่มด้านการพัฒนา ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศและได้ผลักดันโครงการความร่วมมือพัฒนาภายใต้แนวคิดนี้อย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ

คำกล่าวนายกรัฐมนตรีในการประชุมระดับสูงเพื่อฉลองครบรอบ 75 ปี สหประชาชาติ

#ไทยคู่ฟ้า คำกล่าวนายกรัฐมนตรีในการประชุมระดับสูงเพื่อฉลองครบรอบ 75 ปี สหประชาชาติ (High-level Meeting of the General Assembly to Commemorate the 75th Anniversary of the United Nations)

Posted by ไทยคู่ฟ้า on Monday, September 21, 2020

คำกล่าวนายกรัฐมนตรี

“ท่านประธาน

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง ครบรอบ 75 ปีสหประชาชาติในวันนี้

พวกเราเริ่มต้นในปี 2563 ด้วยความหวังว่า จะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง แต่กลับต้องเผชิญกับโควิด-19โดยในขณะนี้ ประเทศไทยมียอดติดเชื้อจริงเพียง 100 คนเศษ สะท้อนความเข้มแข็งระบบสาธารณสุขของประเทศ และความร่วมมือที่ดีจากประชาชน ไม่มีประเทศไทยจะปลอดจากโควิด-19 ได้ จนกว่าทุกประเทศจะปลอดเชื้อดังกล่าวไปด้วยกัน

สหประชาชาติมีบทบาทสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ผ่านปฏิบัติการรักษาสันติภาพในภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งส่งเสริมการปกป้องสิทธิมนุษยชน  ผ่านการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศรวมถึงขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนา    ซึ่งปัจจุบันมีวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เป็นแผนที่นำทาง ประเทศไทยภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในภาระกิจ 3 เสาหลักของสหประชาชาติตลอดมาได้แก่

– ด้านสันติภาพ และความมั่นคง   ประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจพลเรือนและเจ้าหน้าที่สตรี เข้าร่วมในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

– ด้านการพัฒนา   ประเทศไทยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยไทยกำลังขับเคลื่อนความร่วมมือในระบบของ SEP for SDG Partnership  และยินดีขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่นที่สนใจ

– ด้านสิทธิมนุษยชน  ประเทศไทยได้เสนอแนวความคิดสร้างสรรค์ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อาทิ การมีบทบาทนำในการยกร่าง ข้อกำหนดของสหประชาชาติ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ  ซึ่งครบรอบ 10 ปีในปีนี้

นอกจากนั้น ไทยยินดีที่หน่วยงานสำคัญหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก ได้เลือกไทยเป็นที่ตั้งในการนี้  ไทยขอยืนยันจะทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี

ที่ผ่านมาโลกของเราได้เผชิญวิกฤติต่างๆมากมาย โดยประวัติศาสตร์ได้สอนเราเสมอว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ประชาคมระหว่างประเทศร่วมมือร่วมใจ และมองไกลกว่าผลประโยชน์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ทวีปใดทวีปหนึ่ง ดังนั้นประเทศไทยจึงเห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมสหประชาชาติรวมทั้งสร้างพันธมิตรในระบบพหุภาคีใหม่ ที่ตอบสนองกับความต้องการของประชาชนทุกคน

สุดท้ายนี้ ผมขอยืนยันความพร้อมของประเทศไทย ที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการจะทำให้โลกของเรากลับมาให้ดีกว่าเดิม และมีความยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ขอบคุณครับ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ประเทศไทย”

สหประชาชาติแสดงบทบาทนำประชาคมโลกแม้สหรัฐ-อิสราเอลไม่ตอบสนอง

ผู้นำของโลกได้เริ่มประชุมกันแบบเสมือนจริงในวันที่ 21 ก.ย.2563 เพื่อฉลองครบรอบ 75 ปี ของสหประชาชาติ ขณะที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังท้าทายประสิทธิภาพ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขององค์กรที่มีสมาชิก 193 ประเทศทั่วโลก ก่อนหน้าการประชุม นาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวถึง การระบาดครั้งนี้ได้ทำให้เห็นถึงความเปราะบางของโลก ซึ่งเขาตั้งเป้าแจงผู้นำโลกว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานร่วมกันในช่วงเวลาที่มีความท้าทาย และอับจนซึ่งทางออก

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสหประชาชาติ มีมติให้ตอบสนองต่อการระระบาดอย่างครอบคลุม และสอดประสานกัน แต่ไม่ได้เป็นฉันทามติ เนื่องจากสหรัฐ และอิสราเอล ลงมติไม่รับรอง  ส่วนกองทุน 10,300 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ที่สหประชาชาติร้องขอเพื่อช่วยประเทศที่อ่อนแอและมีรายได้ต่ำในการต่อสู้กับโรคระบาด ได้รับการสนับสนุนเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

ปัจจุบัน เลขาธิการสหประชาชาติกำลังเป็นแกนนำในการผลักดันเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนในโลกจะสามารถได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง