Truthforyou

ราชทัณฑ์ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้นักโทษเด็ดขาด ใช้ 6 คุณลักษณะ ดูใครได้ออกคุกบ้าง

จากที่สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงกรณีมีผู้ต้องขังในเรือนจำติดโควิด-19 จำนวนมากถึง 2,835 รายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง โดยที่ผ่านมาตนได้พยายามลดความแออัดภายในเรือนจำทั่วประเทศนั้น

ทั้งนี้จากเดิม มีผู้ต้องขัง 390,000 คนทั่วประเทศ ขณะนี้เหลือไม่ถึง 310,000 คน นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์ได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับผู้ต้องขังประพฤติดี ข้อหาไม่ร้ายแรงอีกหลายหมื่นคน และใช้การพักโทษพิเศษสวมกำไล EM 50,000 คน ซึ่งตอนนี้ได้ติดกำไลแล้ว 20,000 คน ทั้งนี้ยังไม่สามารถลดผู้ต้องขังได้มากกว่านี้เนื่องจากยังไม่สามารถแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดเพื่อปรับอัตราโทษผู้ต้องขังยาเสพติดให้เหมาะสม ที่จะทำให้ลดผู้ต้องขังได้เกือบ 50,000 คน

โดยการแถลงข่าวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉพาะภายในพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางที่พบจากการตรวจเชิงรุกทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังพบผู้ติดเชื้อรวม 2,835 คน แบ่งเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 1,795 คน (ยอดผู้ต้องทั้งหมด ณ วันที่ 2 พ.ค.64 จำนวน 3,275 คน) และทัณฑสถานหญิงกลาง 1,040 คน(ยอดผู้ต้องทั้งหมด ณ วันที่ 2 พ.ค.64 จำนวน 4,485 คน)

ล่าสุดวันนี้ 21 พฤษภาคม 2564  มีรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ถึง เรือนจำทัณฑสถาน ทั่วประเทศ จากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา (COVID19) เกิดขึ้นและลุกลามไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และลุกลามเข้าไปเรือนจำ/ทัณฑสถาน ซึ่งเป็นจุดที่อ่อนไหวเนื่องจากมีจำนวนผู้ต้องขังถูกคุมขังอย่างหนาแน่น ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ต้องขัง และสร้างปัญหาให้แก่เรือนจำ/ทัณฑสถานอยู่ในปัจจุบันนั้น

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมราชทัณฑ์จะได้ดำเนินการขออภัยโทษ เป็นการเฉพาะรายให้แก่นักโทษเด็ดขาดกลุ่มเปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเป็นอันตรายแก่ชีวิต จึงขอให้เรือนจำ ทัณฑสถาน สำรวจจำนวนนักโทษเด็ดขาดตามลักษณะที่กำหนดดังต่อไปนี้

1.นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (นับถึงวันที่ 20 พ.ค.64) และมีโรคประจำตัว 2.นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นับถึงวันที่ 20 พ.ค.64)

3.นักโทษเด็ดขาดที่มีสภาพร่างกายพิการ โดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้างหรือแพทย์ให้การรับรองว่าเป็นบุคคลทุพพลภาพพ

4.นักโทษเด็ดขาดที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(เอดส์) และโรคจิต

5.นักโทษเด็ดขาดที่เป็นโรคอื่นๆ ซึ่งแพทย์ให้การรับรองว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และล่อแหลมต่อการติดโรค 6.นักโทษเด็ดขาดซึ่งแพทย์ให้การรับรองว่าเป็นผู้ป่วยติดเตียง

โดยให้แจ้งจำนวนนักโทษเด็ดขาดซึ่งมีลักษณะดังกล่าว ไปยังกรมราชทัณฑ์โดยด่วน ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 และส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่นหมายจำคุก หมายลดโทษ และใบรับรองแพทย์ พร้อมรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564

Exit mobile version