อดีตรองอธิการมธ. ฟันธง! บิ๊กตู่ลาออกตั้งรบ.แห่งชาติเป็นศูนย์ ชี้นักการเมืองไม่ยอมแน่ จบเห่นายกซื่อสัตย์ก็หายาก

1309

อดีตรองอธิการมธ. ฟันธง! บิ๊กตู่ลาออกตั้งรบ.แห่งชาติเป็นศูนย์ ชี้นักการเมืองไม่ยอมแน่ จบเห่นายกซื่อสัตย์ก็หายาก

จากกรณีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) นำโดย นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา, นายปรีดา เตียสุวรรณ์, นายศิริชัย ไม้งาม และ นายพิชิต ไชยมงคล เตรียมแถลงข่าว “ขอให้รัฐบาลเสียสละลาออก”

ล่าสุดทางด้าน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า

กลุ่ม “ประชาชนคนไทย” เรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง แล้วจัดตั้ง “รัฐบาลสร้างชาติ” ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาของชาติ แก้รัฐธรรมนูญ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในหลักการ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ขอให้ตั้ง รัฐบาลเพื่อชาติขึ้น และเห็นด้วยว่า รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิรูปประเทศ แต่ยังไม่แน่ใจเสียทีเดียวว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ล้มเหลวในการจัดการสถานการณ์โควิดหรือไม่ แม้จะเห็นด้วยในหลักการ แต่ในความเป็นจริง โอกาสที่ข้อเรียกร้องนี้จะเกิดได้ขึ้น เกือบจะเป็นศูนย์ กลางปีที่แล้ว ผมเคยเสนอทางออก ในสถานการณ์ที่ม็อบ 3 นิ้ว เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งผมเสนอไว้ดังนี้

1. ให้ฝ่ายผู้ชุมนุม หยุดการล่วงละเมิดและหยุดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหยุดความขัดแย้ง และความแตกแยกที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆไว้ก่อน

2. รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำการชุมนุมที่ถูกจับกุมทั้งหมด ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายด้วย

3. ตั้งโต๊ะเจรจา โดยให้ทุกฝ่ายส่งตัวแทนเข้ามา โดยไม่ต้องตั้งกรรมการสมานฉันท์ให้เสียเวลา และยังไม่ต้องให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก

4. หากจะให้พลเอกประยุทธ์ลาออก ต้องตกลงกันว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องไม่มาจากพรรคการเมือง ใดๆ นั่นคือไม่มาจากรายชื่อเดิม ซึ่งสังกัดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

5. วิธีการคือ เสนอชื่อพลเอก ประยุทธ์เช่นเดิม หรือจะเสนอผู้อื่นในรายชื่อที่ได้รับการเสนอก็ได้ แต่ร่วมมือกันลงคะแนนให้ได้น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.และส.ว. รวมกัน จากนั้นปิดประชุม และเข้าชื่อกันเพื่อขอยกเว้นไม่เอารายชื่อเดิม

6. ร่วมกันคัดเลือก จากคนที่ไม่ใช่นักการเมือง เลือกคนที่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ และการบริหาร และเข้าใจธุรกิจ ที่เป็นที่ยอมรับในความสามารถ เสนอชื่อเข้าสภา และทั้ง 2 สภาร่วมกันลงคะแนนให้ได้คะแนนมากกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกของทั้ง 2 สภารวมกัน เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

7. ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เลือกคณะรัฐมนตรีได้อย่างอิสระ โดยเลือกคนที่มีความสามารถเหมาะสม ที่จะเป็นรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง จะมาจากส.ส.หรือไม่ก็ได้ ภาระกิจคือ ดูแลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และดำเนินการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย รวมทั้งพรบ ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นภายในปีครึ่ง จากนั้นจึงยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในช่วงนั้น ไม่มีใครสนใจข้อเสนอข้างต้นนี้เลย

การที่จะให้ได้นายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากรายชื่อตามบัญชีที่ประกาศก่อนการเลือกตั้ง จะต้องลงคะแนนเลือกบุคคลตามที่อยู่ในบัญชีก่อน เมื่อไม่มีใครได้เสียงถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภารวมกัน ต้องปิดประชุม หลังจากนั้นต้องเข้าชื่อกันใหม่เพื่อขอเปิดประชุม แล้วเสนอชื่อคนที่อยู่นอกบัญชี ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงรวมกันทั้ง 2 สภาไม่น่อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่

คิดหรือว่า นักการเมือง ไม่ว่าฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะเอาด้วย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงวุฒิสมาชิก ซึ่งน่าจะมีไม่เกิน 2 คน ที่จะเอาด้วย ยิ่งยากกว่านั้นคือ การหาคนที่เก่ง และซื่อสัตย์ มือสะอาด มีพื้นฐานความรู้ที่เหมาะสม และยอมเสียสละเพื่อชาติ เพื่อเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ขึ้นชื่อว่านักการเมือง คงยากที่จะยอมสูญเสียอำนาจง่ายๆ และยากที่จะไม่พยายามช่วงชิงอำนาจเมื่อมีโอกาส หากแต่อยากได้ตำแหน่งโดยไม่คำนึงถึงขีดความสามารถตัวเอง ไม่คำนึงถึงสถานการณ์อะไรทั้งสิ้น

สรุปง่ายๆคือ เราคงต้องยอมให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก และต้องทนกับบรรดารัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองที่กระหายตำแหน่งทั้งหลายต่อไปอีกเช่นกัน ส่วนม็อบ 3 นิ้ว ก็จะยังคงมีต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งหลังแก้รัฐธรรมนูญ หรือหลังการยุบสภาฯก็ตาม”