จากที่ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงเรื่องราวของ พระอาจารย์อารยวังโส เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ซึ่งมีเรื่องราวในการเผยแพร่พระพุทธศาสนายังดินแดนต่างๆนั้น
โดยมีเรื่องราว พระเถราจารย์กรรมฐาน 3 แผ่นดินนอกเหนือจากในประเทศไทยแล้ว ในประเทศอินเดีย กูรู จี อารยวังโสของชาวอินเดีย ได้ให้การอบรมสั่งสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่คณะศรัทธาชาวอินเดีย ในทุกปีสืบมา จนเกิดการสร้างวัดถวายที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏร์ ชื่อ Dhamma Vinaya Monastery of Pune (DVMP)
ขณะนี้คณะศรัทธาอินเดียร่วมกันสร้างไปได้กว่าครึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดย รัฐบาลท้องถิ่นส่วนหนึ่งด้วย โดยมีความหวังว่าจะนิมนต์กูรูจีไปจำพรรษา เพื่อคนอินเดียจะได้บวชเรียนกันมาก ๆ (แต่วิกฤติโควิด-19 คงจะต้องใช้เวลาอีกนาน)
ในประเทศจีน จั๋งเหล่าอารยวังโส ยังเป็นที่เคารพของคณะสงฆ์จีน ที่นครไคฟง อดีตเมืองหลวงหลายราชวงศ์ ในอดีตอีกด้วยดังที่ได้รับนิมนต์ให้แสดงธรรมตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อการอบรมจิตภาวนาที่วัดเซี่ยงกว๋อซื่อ ในนครไคฟง มีพระสงฆ์ และคณะศรัทธาชาวจีน เข้าร่วมปฏิบัติ เต็มมหาวิหาร ร่วม 300 คนและมีการนิมนต์ต่อเนื่องในทุกปีดังในภาพ
หมายเหตุ : คณะศรัทธาชาวจีน มณฑลเหอหนาน ที่เจิ้งโจว ไคฟงได้ส่ง ปัจจัย และมาสก์ np95 มูลค่าหลายแสนบาทไทย มาถวายจั๋งเหล่า ที่ประเทศไทย โดยหลวงพ่อฯได้มอบให้กับรพ. ลำพูนและจังหวัดลำพูนไปมอบให้ บุคลากรสาธารณสุขและข้าราชการที่มีหน้าที่ต่อต้านภัยโควิด
ก่อนหน้านี้ในปี 2562 คุณหญิงสุพัตรา ก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับพระอาจารย์อารยวังโส ในดินแดนอินเดียและจีน “ผู้บันทึกร่องรอยธรรม” ไว้โดยระบุว่า บันทึกร่องรอยธรรมบนแผ่นดินจีน ณ นครไคฟง..!!!! เรื่องราวที่นครไคฟง แผ่นดินจงหยวน จีนผืนแผ่นดินใหญ่ เมืองหลวงอันยาวนานหลายราชวงศ์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากในสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยเฉพาะเรื่องราวของ ท่านเปาปุ้นจิ้น ขุนศึกตระกูลหยาง เป็นต้น
และเชื่อมโยงไปสู่เส้นทางของปรมาจารย์ตั้กม้อ ที่เดินทางเข้าสู่แผ่นดินจีนทางกวางโจวก่อนจะเดินทางมาวางรากฐานพุทธศาสนาที่ภูเขาซงซานในมณฑล เหอหนานปัจจุบัน ที่เชื่อมโยงสู่นครไคฟง อันเป็นศูนย์กลางศาสนาในขณะนั้น
วัดเซี่ยงกว๋อซือ เป็นพระอารามหลวงประจำของจักรพรรดิ/ฮ่องเต้ เป็นที่ปรึกษา การบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามหายาน และเป็นที่พำนักของประมุขฝ่ายสงฆ์หรือผู้นำทางศาสนจักร ดังในปัจจุบันที่ยังมีร่องรอยอารยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี ทางพุทธศาสนาปรากฏให้เห็นความมีอยู่จริง สืบถึงปัจจุบันที่ยังคงรักษาอยู่ภายใต้ การคุ้มครองดูแลของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เจ้าอาวาสปัจจุบันเป็นรองเจ้าคณะมณฑลเหอหนาน/เทียบชั้นรองสมเด็จพระสังฆราช ก็ว่าได้เป็นประมุขสงฆ์แห่งนครไคฟง ชื่อ “ไต้ซือชินกว่าง” ท่านชินกว่างมีศรัทธาในองค์หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสเป็นอย่างสูง.. ด้วยได้สัมผัสถึงนิมิตธรรมเมื่อครั้งที่หลวงพ่อพระอาจารย์เดินทางเยือนนครไคฟง..ครั้งแรก เมื่อปี 2553 ในครั้งนั้น พระภิกษุจีนหลายรูปมาขอรับสัมผัสพลังสมาธิจากท่าน รวมถึงไต้ซือชินกว่างที่ต่อแถวเข้ามาองค์สุดท้าย โดยได้ก้มลงกราบกับพื้นเหมือนพระภิกษุทั่วไปอย่างไม่ถือองค์
เมื่อหลวงพ่อได้แตะมือไปที่ตัวท่านชินกว่าง ปรากฏอาการสงบเย็นแผ่ไปสู่ท่านชินกว่างให้เห็นเป็นพุทธนิมิตปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งท่านชินกว่างมาเล่าเมื่อเดินตามมาส่งหลวงพ่อ
พระอาจารย์อารยวังโส ที่ท่านชินกว่างและพระจีน รวมถึงเจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน เรียกขานด้วยความเคารพว่า จ๋างเหล่า!!! โดยท่านชินกว่างนำคณะสงฆ์จีนร่วมถวายการส่งหลวงพ่อเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยการก้มลงกราบกับพื้นลานวัดในลักษณะถวายความเคารพอย่างสูงสุดต่อครูบาอาจารย์ พระมหาเถระที่เคารพยิ่ง หลังจากได้เห็นพุทธนิมิตด้วยตนเอง และได้มาเล่าถวายให้จ๋างเหล่า และคณะผู้ติดตาม รวมถึงคณะสงฆ์จีนได้รับทราบถึงนิมิตที่ตนไม่เคยปรากฏ นับเป็นมหามงคลอย่างยิ่งต่อตัวท่านเองและคณะสงฆ์จีนแห่งนครไคฟง โดยเฉพาะวัดเซี่ยงกว๋อซือ อันศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดินจงหยวน จีนแผ่นดินใหญ่
สมัยต่อมาด้วยความคุ้นเคยที่มีต่อกันมากขึ้นระหว่างหลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโส ซึ่งชาวชมพูทวีปเรียกขานว่า “กูรู จี” หรือที่พระจีนและศรัทธาชาวจีนเรียกขานด้วยความเคารพว่า “จ๋างเหล่า” โดยเมื่อเดินทางสู่ประเทศจีน หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสมักจะเดินทางไปภาวนาในถ้ำปรมาจารย์ตั๊กม้อ..บนภูเขาซงซานที่มณฑลเหอหนาน มากสุดถึง 9 คืน โดยการดูแลอุปัฏฐากของพระจีนวัดเส้าหลิน ที่ได้ถ่ายทอดการฝึกท่ากำลังภายใน..บริหารร่างกายจนถึงวิชากระบองเส้าหลินหลายท่า เพื่อให้หลวงพ่อไว้ใช้บริหารร่างกายหลังออกจากการภาวนาในถ้ำฯ
ในส่วนของหลวงพ่อได้สอนการภาวนา การเดินจงกรม และตอบปัญหาธรรมถวาย คณะสงฆ์จีน/เส้าหลิน จนมีพระจีนมาเป็นลูกศิษย์กันหลายรูป ช่วงนั้นเล่นเอาวัดเส้าหลินกระเทือนพอสมควร
จากเหอหนาน หลวงพ่อจะเดินทางต่อเข้าเจิ้งโจว และจะแวะพักที่วัดเซี่ยงกว๋อซือ นครไคฟงเสมอ และในทุกครั้งจะได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง ทั้งจากพระสงฆ์จีนและศรัทธาสาธุชนชาวจีนที่จะมารอขอเข้าพบเพื่อรับพรมงคลกัน จนดูจะอลวนพอสมควรในทุกครั้ง ที่หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสเดินทางไปปฏิบัติธรรมแผ่เมตตา
ไต้ซือชินกว่าง และคณะสงฆ์จีน จะจัดถวายการต้อนรับอย่างเต็มรูปแบบ และเอื้อเฟื้อดูแลถึงคณะศรัทธาชาวไทยที่ติดตาม ในทุกๆ ด้านโดยจะพูดให้ทุกคนฟังเสมอว่า
…ในอดีตจ๋างเหล่าเคยเป็นใหญ่ที่นครไคฟงแผ่นดินจีน อย่างน้อยสองครั้งที่ท่านระลึกชาติได้… โดยครั้งสำคัญท่านชินกว่างได้พูดในท่ามกลางที่ประชุมฟังการบรรยายธรรมในวัดเซี่ยงกว๋อซือ ของคืนวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 ณ. เจดีย์มหาวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ยังไม่เปิดใช้เป็นทางการ
โดยนิมนต์หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโส/จ๋างเหล่า..เป็นองค์แสดงธรรม ใช้เวลาประมาณร่วมสามชั่วโมงในบรรยากาศที่พระจีน ชาวจีนร่วม 200 ชีวิต สำรวมกาย วาจาใจ บูชาปฏิบัติธรรมอย่างเงียบสงบ ตลอดการแสดงที่แปลเป็นภาษาจีน โดยครูอู๋ หัวเฉิน ลูกศิษย์ชาวจีนของหลวงพ่อ
พระอาจารย์อารยวังโส ที่เคยมาบวชเรียนกับหลวงพ่อที่ลำพูน ซึ่งหลังจากจบบรรยายธรรม นำอบรมจิตภาวนา ไต้ซือชินกว่าง ในฐานะประมุขสงฆ์นครไคฟง จึงได้ลุกขึ้นยืนพูดถวายความเคารพต่อจ๋างเหล่าอารยวังโส มีใจความถอดเป็นภาษาไทยว่า
“พวกเราได้พบกับจ๋างเหล่า(หลวงพ่อ)ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ในประเทศไทยท่านเป็นพระที่ได้รับการนับถือของผู้คนมากมาย ท่านแสดงธรรมะในทุกครั้งมีคนฟังจำนวนมากมาย ดังปรากฏภาพในอินเดียที่มีมหาชนจำนวนมาก ซึ่งลานของวัดเซี่ยงกว๋อเราทั้งด้านหน้าด้านหลังก็รองรับไม่หมด
บรรยากาศงานยิ่งใหญ่อลังการ อันที่แท้ วันนี้เราได้ฟังบรรยายธรรมและการสอนธรรมะ ทำให้เรามีความซาบซึ้งใจอย่างมาก ท่านได้ใช้ภาษาที่ใช้ในยุคพุทธกาลมาให้พรทุกคนด้วย อาตมากับจ๋างเหล่าถือว่ามีบุญวาสนาต่อกันด้วยท่านมาวัดเซี่ยงกว๋อติดต่อกันหลายปีแล้ว ทุกครั้งที่มาตอนกลางคืนท่านจะนั่งภาวนาที่ห้องรับแขกของวัดเซี่ยงกว๋อ ตอนกลางวันท่านได้เผยแผ่ธรรมะให้บุคคลทั่วไปได้สร้างบุญบารมีไปด้วย อาตมาเชื่อว่าท่านในอดีตต้องเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดเซี่ยงกว๋อมาก่อน เพราะว่าทั่วประเทศจีนมีวัดจำนวนมากมาย แต่เหตุใดท่านจึงเลือกมา วัดเซี่ยงกว๋อ ต้องมีเหตุและปัจจัยกับวัดเซี่ยงกว๋อ
ในอดีตต้องเคยภาวนาที่วัดเซี่ยงกว๋อ จึงมีสายใยกับสถานที่แห่งนี้ เราทุกคนถือว่ามีบุญวาสนาที่ได้มาฟังการแสดงธรรมของจ๋างเหล่า เราต้องปฏิบัติอย่างตั้งใจ เชื่อฟังคำสอนของจ๋างเหล่า เราได้รวมตัวกัน ณ ที่นี่ รับฟังจ๋างเหล่าอธิบายธรรมะเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ของอริยสัจ 4 และเรียนรู้การปฏิบัติตามมรรค 8 ท่านได้อธิบายอย่างแจ่มแจ้ง เข้าใจง่าย โดยปกติเรายากนักที่จะได้มีโอกาสฟังธรรมะในลักษณะนี้ อาตมา(ไต้ซือชินกว่าง)ก็ไม่คอยมีโอกาสมากนักที่จะได้ฟังการบรรยายในลักษณะนี้เช่นกัน
อาตมา(ไต้ซือชินกว่าง)ได้เดินทางไปมาหลายที่หลายแห่ง พระแบบไหนก็เคยได้พบปะ แต่ที่ได้ประโยชน์จากคำสอนจริงๆ นั้นมีไม่มาก วันนี้คำสอนต่างๆ วิธีการต่างๆ ถ้าท่านได้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งถือว่าได้รับประโยชน์อย่างสูง แต่ถ้าใครที่ฟังยังไม่เข้าใจก็ถือว่าพื้นฐานยังไม่หนักแน่น เราจะขอดูเวลาของจ๋างเหล่า ถ้าคืนพรุ่งนี้จ๋างเหล่าสะดวกเราจะขอนิมนต์ท่านบรรยายธรรมต่อและได้สอนวิธีการปฏิบัติให้กับพวกเรา
ถือว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ในครั้งนี้เป็นพระบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10 และเป็นการเฉลิมฉลองพระราชพิธีนี้ด้วย สถานที่แรกที่ไปจัดงานธรรมที่เซี่ยเหมิน ถือเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ และสถานที่ที่ 2 ที่ได้แสดงธรรมคือวัดเซี่ยงกว๋อนี้ ถือเป็นการอวยพรให้กับมิตรภาพและความสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองให้สืบเนื่องยาวนานต่อไป อาตมาเชื่อว่านี่เป็นเจตนารมณ์ของจ๋างเหล่า ถือว่าเป็นเหตุและปัจจัยในอดีตและเป็นเหตุและปัจจัยของปัจจุบันด้วย ขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันกล่าวอมิตตาพุทธ”
ในส่วนครูอู๋ซึ่งทำหน้าที่ล่าม ได้กล่าวยืนยันเสริมว่า “ในส่วนการระลึกชาติของไต้ซือ ชินกว่างที่ท่านได้รับทราบจากคตินิมิตของท่านนั้น..ท่านได้พูดถึงความเกี่ยวเนื่องของจ๋างเหล่ากับแผ่นดินจีนด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า..
…ท่านได้ทราบโดยการระลึกชาติได้อย่างน้อยสองชาติโดยตัวท่านเองว่า. จ๋างเหล่า อารยวังโส เคยเกี่ยวข้องกับที่นี่ โดยสมัยหนึ่งมีท่านชินกว่างเป็นข้าราชสำนักของฮ่องเต้เคยติดตามครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นพระลูกศิษย์ เมื่อจ๋างเหล่าเป็นไต้ซือ เจ้าอาวาส วัดเซี่ยงกว๋อซือ นครไคฟงครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านชินกว่างพูดว่าอย่างน้อยสองครั้งของจ๋างเหล่าเคยเป็นใหญ่ และผูกพันกับแผ่นดินที่นี่….”
ดิฉัน (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์) ได้ร่วมรับรู้..เรื่องราวดังกล่าวด้วยความปีติยินดียิ่งโดยเฉพาะในภาพการถวายความเคารพ..ที่พระมหาเถระแห่งพุทธศาสนามหายาน ประเทศจีน ตลอดจนศรัทธาประชาชนชาวจีนที่พากันถวายความเคารพหลวงพ่ออย่างสูงสุด จนเป็นเหมือนมหกรรมก็ว่าได้ซึ่งไม่เคยเกิดปรากฏให้เห็นภาพความศรัทธาเช่นนี้มาเลยในชีวิต… จึงควรนำมาบอกกล่าวเล่าขาน..เพื่อจะได้ติดตามย่างก้าวเชื่อมโยงสัมพันธ์จีน- ไทยผ่านพุทธศาสนา ที่หลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสกล่าวว่า.. “เราจะเชื่อมโยงพุทธศาสนานิกายเถรวาท และมหายาน ผ่านการสืบสายพุทธธรรมด้วยการเจริญสติปัฏฐานสี่ อันเป็นทางสายเอกสายเดียวของพระพุทธศาสนา เพื่อความเป็นพุทธศาสนาเดียว….”
อนึ่งในการเดินทางมาเยือนนครไคฟง แห่งมณฑลเหอหนานในครั้งนี้เป็นความ สืบเนื่องจากการเดินทางมานำประกอบศาสนกิจที่เมืองเซี่ยเหมิน ด้วยการอาราธนานิมนต์จากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน โดยการประสานงานเห็นชอบของเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อมาเป็นประธานสงฆ์นำประกอบศาสนกิจเนื่องในพระราชวโรกาสบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ณ สถานกงสุลใหญ่นครเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนไต้ซือชินกว่าง ประมุขคณะสงฆ์มหายานแห่ง นครไคฟง เมืองหลวงอันยิ่งใหญ่หลายราชวงศ์ในอดีต ของแผ่นดินจีน พร้อมคณะสงฆ์และประชาชนชาวจีน จึงได้มีความยินดีที่จะขอจัดงาน เฉลิมฉลองบรมราชาภิเษกฯ เพื่อแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่ดีทางจิตวิญญาณระหว่างประชาชนชาวจีนและชาวไทยผ่านการเชื่อมโยงทางพุทธศาสนา และด้วยความศรัทธาในพระมหากษัตริย์ของประชาชนชาวไทยที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวจีนโพ้นทะเลมาโดยตลอด
ตลอดจนถึงความเคารพต่อจ๋างเหล่าที่เป็นดุจพระอาจารย์ใหญ่ จึงได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในพระราชวโรกาสมงคลบรมราชาภิเษกดังกล่าว
ดังข้อความภาษาจีน-ไทยที่ยาวร่วม 20 กว่าเมตรด้วยอักษรตัวแดงขนาดใหญ่ที่ติดตั้งด้านหน้ามหาวิหารหลวง วัดเซี่ยงกว๋อซือ นครไคฟงว่า “ เฉลิมฉลองงานบรมราชาภิเษก พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชอาณาจักรไทย “ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” ” โดยคณะสงฆ์จีนนครไคฟง มณฑลเหอหนาน เพื่อสืบสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ (จีน-ไทย) สืบตลอดไป
บรรยากาศเนื่องในการจัดงานเฉลิมฉลองพระบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ในวันดังกล่าวซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม 2562ระหว่างเวลา 09.00-11.00 น. จึงเต็มไปด้วยความน่ายินดีในปีติมงคลแห่งธรรมที่เกิดจากการประกอบศาสนกิจสัมพันธ์กันระหว่างสองมหานิกาย ในพระพุทธศาสนา ได้แก่ พุทธศาสนามหายานนิกาย ที่นำคณะสงฆ์จีนจำนวนมากประกอบศาสนกิจ โดย ท่านไต้ซือชินกว่าง ประมุขสงฆ์นครไคฟง/รองเจ้าคณะมณฑลเหอหนาน กับฝ่ายพุทธศาสนาเถรวาทนิกาย ที่นำโดย จ๋างเหล่าหรือพระอาจารย์อารยวังโส เจ้าอาวาส วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ลำพูนพร้อมคณะศรัทธาสาธุชนชาวไทยที่ติดตามไปร่วมงานการดำเนินศาสนพิธีอันยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นท่ามกลางการร่วมสักการบูชาของประชาชนชาวจีนจำนวนมาก…ที่เดินทางมาได้ร่วมงานครั้งสำคัญนี้อย่างไม่บังเอิญที่จัดขึ้น
บนแผ่นดินจีนเพียงแห่งเดียว เพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ของชาวไทย รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี อันควรยิ่งต่อการถวายพระพรในครั้งนี้ นับเป็นมหามงคลก่อนที่จะเข้าสู่การจัดงานครั้งแรกในค่ำคืนนั้นว่าด้วยการแสดงธรรมนำอบรมจิตภาวนา.. โดย จ๋างเหล่า/พระอาจารย์อารยวังโส พระวิปัสสนาจารย์จากประเทศไทย
ซึ่งได้รับการยอมรับในคณะสงฆ์นานาชาติ ทั้งมหานิกายและเถรวาท จนได้รับการถวายสมณศักดิ์พระเถระผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านการเผยแผ่พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา..จากสภาสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีของคณะสงฆ์เถรวาท สยาม-อุบาลีวงศ์นิกาย เมื่อพ.ศ.2553 ให้ดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมปฏิปัตติ วยาปติธารา นยกเถระแห่งคณะสงฆ์ศรีลังกา ฝ่ายอรัญวาสี ของสยาม-อุบาลีวงศ์ นิกาย”
การบรรยายธรรมร่วมสามชั่วโมงตามหลักสติปัฏฐาน 4 ในค่ำคืนนั้น จึงเต็มไปด้วย สาระธรรมอันประเสริฐ นำไปสู่การศึกษาปฏิบัติที่ให้ถึงประโยชน์ได้จริง จนก่อเกิดความศรัทธาในคณะสงฆ์และศาสนิกชนชาวจีน ที่ต่อมาได้ติดตามมาพบเป็นส่วนตัวและติดตามไปร่วมบูชาปฏิบัติธรรมต่อเนื่องในวันต่อมา ณ. วัดเจ้าแม่กวนอิม และวัดจีนสาขาของวัดเส้าหลิน ที่นครเจิ้งโจว ก่อนหลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโสเดินทางกลับประเทศไทย ท่ามกลางชาวจีนที่มาส่งที่สนามบินเจิ้งโจว พร้อมกับคำขอให้กลับมาโปรดศรัทธาชาวจีนอีกครั้งในปีต่อไป !!