Truthforyou

รัฐฯอุ้มผู้ประกอบการรักษาจ้างงานเต็มที่!?!สปส.ออกสินเชื่อ 30,000 ล้าน ขณะสรรพากรเลื่อนยื่นภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต

ถึงคิวอุ้มนายจ้าง สปส.อัดเงิน 3หมื่นล้านบาท ให้นายจ้างกู้เป็นทุนหมุนเวียนธุรกิจ หวั่นเลิกจ้างงาน ดึง 4 แบงก์ร่วมวงปล่อยกู้ นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้ขยายเวลายื่นแบบฯ ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้านหรือ Tax from Home ช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในมือผู้ประกอบการให้มีมากขึ้นและนานขึ้น โดยไม่ได้กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล

เมื่อวานนี้ 18 พ.ค. 2564 นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ จากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไปได้  

โดยขณะนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้มีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563 – 2564) ในวงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท เพื่อให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม สามารถขอสินเชื่อ กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการกู้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่ม ผลผลิตแรงงาน ทั้งนี้ สถานประกอบการสามารถขอรับสินเชื่อได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ 

สถานประกอบการที่เคยเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ.2561- 2563 มาแล้ว หากประสงค์จะยื่นขอสินเชื่อเพิ่มจากธนาคารเดิม วงเงินที่เคยได้รับสินเชื่อ เมื่อรวมกับวงเงินสินเชื่อตามโครงการนี้ต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อสถานประกอบการ โดยอายุสินเชื่อตามโครงการนี้มีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะ 2 นั้น สถานประกอบการที่สนใจกู้ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี คงที่ 3 ปี และในกรณีสถานประกอบการที่สนใจกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี และคงที่ 3 ปี 

สำหรับข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในสถานประกอบการ

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา เพื่อขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการนำไปติดต่อขอยื่นกู้ กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ ปัจจุบันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp และเลือกหัวข้อ “ขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ)” หรือสแกน QR code ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อยื่นคำขอสินเชื่อที่ธนาคารได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 

อย่างไรก็ตาม โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเป็นโครงการฯ ที่ดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่สามารถนำเม็ดเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุน ทางสังคม เพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนได้นอกจากจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียน และเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการรักษาสภาพการจ้างงานแล้ว ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

ทางด้านกรมสรรพากร ได้แจ้งขยายเวลายื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย-ภาษีมูลค่าเพิ่ม หวังช่วยผู้ประกอบการช่วงโควิดระบาดอีกแรงหนึ่ง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 1 ภ.ง.ด. 2 ภ.ง.ด. 3 ภ.ง.ด. 53 และ ภ.ง.ด. 54) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30 และ ภ.พ. 36) ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยเริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 สำหรับการขยายกำหนดเวลา การยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในครั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโควิด– 19 มีดังนี้

สำหรับการยื่นแบบและชำระภาษีในเดือนกรกฎาคม 2564 จากกำหนดเดิมที่ต้องยื่นภายในวันที่ 15 หรือ 23 กรกฎาคม 2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564

สำหรับการยื่นแบบและชำระภาษีในเดือนสิงหาคม 2564 จากกำหนดเดิมที่ต้องยื่นภายในวันที่ 15 หรือ 23 สิงหาคม 2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2564

Exit mobile version