ด่วนที่สุด!! ครม.อนุมัติออกพ.ร.ก.กู้เพิ่ม 7 แสนล้านบาท!?! 5 แสนล้านใช้รับมือโควิด 2 แสนล้านชดเชยเก็บรายได้ต่ำเป้า

1320

อั้นไม่ไหวโควิดอาจอยู่นาน ครม.ไฟเขียวออก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ เพิ่ม 7 แสนล้านบาท รับมือวิกฤติโควิด ขณะผลสำรวจสำนักสถิติฯพบชาวบ้านพอใจมาตรการเยียวยาโควิด-19ในระดับมาก-มากที่สุด จำนวนร้อยละ 81.2 เสนอแนะควรให้เป็นเงินสด ส่วนเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ประชาชนมีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 66.3

วันที่ 18 พ.ค.2564 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้ออกร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ… วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินเพิ่มเติมจากที่เคยออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในปีที่ผ่านมาเพื่อใช้ใน 3 แผนงานคือ 

1.แผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการระบาดระลอกใหม่ โดยเป็นแผนงานในด้านสาธารณะสุข 3 หมื่นล้านบาท 

2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท 

3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินตาม พรก. 7 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นวงเงินที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด19 จำนวน 5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนล้าน จะเป็นการกู้เพื่อชดเชยเงินคงคลัง จากการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหมายจากการจัดเก็บของงบปี 2564 และ 2565

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ควรเพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เช่น ควรเพิ่มวงเงินมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น, ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิในการเยียวยา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคนและทุกระดับ และขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือไม่ควรยุ่งยากและซับซ้อน เช่น การให้เป็นเงินสดโดยไม่ต้องลงทะเบียน และควรส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ในราคาย่อมเยา รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ลดราคาสินค้าสำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ปี 2564 ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการม.33 เรารักกัน และการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 8-15 มีนาคม 2564 

ทั้งนี้ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 99.7 รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ  โดยประชาชนมีความพึงพอใจโดยรวมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 81.2  พอใจปานกลางร้อยละ15.9 พอใจน้อยถึงน้อยที่สุดร้อยละ 2.3 และไม่พึงพอใจร้อยละ 0.6 

เมื่อแยกเป็นรายโครงการพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจระดับมากถึงมากที่สุดโครงการเราชนะร้อยละ 86.7 คนละครึ่งร้อยละ 82.7 และม.33 เรารักกันร้อยละ 67.8  โครงการคนละครึ่ง เราชนะ และม.33 เรารักกัน ประชาชนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังนี้คือ ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา, ควรเพิ่มวงเงิน และควรให้เป็นเงินสด  

สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกันระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 59.9 และยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ ควรให้สิทธิแก่ทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน,ควรขยายระยะเวลาใช้บริการ และควรให้เป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้บริการ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการต่อไปมากที่สุดคือ โครงการเราชนะร้อยละ 62.9  โครงการคนละครึ่งร้อยละ 26.3  โครงการม.33 เรารักกันร้อยละ 6.1 โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐร้อยละ 1.7 และโครงการเราเที่ยวด้วยกันร้อยละ 0.6

ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐพบว่า ประชาชนร้อยละ 60.7 มีความพร้อม  ร้อยละ 39.3 ไม่พร้อม ให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวฉีดแล้วมีอาการแพ้ และต้องการดูผลที่เกิดขึ้นจากการฉีดของคนอื่นก่อน อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 66.3