จากที่วันนี้ 18 พฤษภาคม 2564 กลุ่มประชาชนคนไทย ได้เดินทางยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้เสียสละลาออกจากตำแหน่งหลัง 7 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถ ปฏิรูปประเทศ และแก้ไขวิกฤติของประเทศชาติได้
ทั้งนี้ กลุ่มประชาชนคนไทย ระบุว่า เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 272 วรรคสอง โดยยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมือง จากกรณีไม่ได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา โดยใช้เสียงสองในสามเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีพรรคการเมืองมาทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลสร้างชาติ
โดยมีการมายื่นหนังสือ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งมีนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ
สำหรับรายชื่อนายกรัฐมนตรี ที่ทางกลุ่มเห็นว่า เหมาะสมนั้น นายพิชิต ไชยมงคล กล่าวว่า เป็นเพียงการหารือกันคร่าวๆในกลุ่ม อย่างชื่อ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งไม่ได้มีการเจาะจงเป็นพิเศษแต่ให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ พร้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการรวมกลุ่มทั้งอดีตแกนนำ กปปส.เก่า และอดีตแกนนำพันธมิตรฯหลายคนมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน
ด้านนายเสกสกล ระบุว่าขณะนี้ประเทศกำลังต่อสู้กับวิกฤติอย่างหนักควรเก็บเรื่องการเมืองไว้ก่อน ซึ่งจากการพูดคุยส่วนตัวกับแกนนำหลายคน ถ้าให้พลเอกประยุทธ์ เสียสละทางกลุ่มประชาชนคนไทยเองก็ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นใครที่จะทุ่มเททำงาน ส่วนเรื่องการปฏิรูป และสร้างปรองดองนั้น ที่ผ่านมาก็เดินหน้ามาตลอด หากไม่ติดวิกฤตโควิด เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้เร็ว ดังนั้น ขณะนี้ขอเอาชีวิตประชาชนเป็นประโยชน์สูงสุด
นั่นคือข้อเสนอจากกลุ่มประชาชนคนไทย ซึ่งมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ก่อนอื่นต้องมาดูกันกันที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งระบุเนื้อหาไว้ว่า
ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
นั่นเองจะเห็นว่า การที่จะมีนายกฯคนนอกมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยต้องทำถึงสองขยัก – ขยักแรกให้สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น ส่วนขยักที่สอง ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป นั่นคือ มติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
หากเช็คเสียงของส.ส.ล่าสุดในช่วงการการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เสียงของส.ส.ทั้งหมดในขณะนี้มี จำนวน488 คน ของฝ่ายรัฐบาล ณ วันที่26 ก.พ.นี้ เวลา 18.00 น. รวมทั้งสิ้น จำนวน 268 คน แบ่งเป็นพรรคพลังประชารัฐ 118 (นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส. สมุทรปราการ หยุดปฎิบัติหน้าที่ 1 คน) พรรคภูมิใจไทย 61 คน (เดิม 52 + 9 คน มาจากพรรคอนาคตใหม่) พรรคประชาธิปัตย์ 51 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 11คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 คน พรรคชาติพัฒนา 3 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 และพรรคเล็กๆ อีก 12 คน
ส่วนฝ่ายค้าน จำนวน 214 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 135 คน พรรคอนาคตใหม่ 56คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคประชาชาติ 7 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน และพรรคพลังปวงชนไทย 1 คน ขณะที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง ยังไม่สังกัดฝ่าย ทั้งนี้เสียงรัฐบาลห่างจากฝ่ายค้านจำนวน 54 เสียง โดยยังไม่บวก ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่
นอกจากนี้หากย้อนไป กับผลโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ชนะด้วยเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 500 คะแนน ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกฯ ฝั่ง 7 พรรคที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงสนับสนุน 244 คะแนน และมีสมาชิกรัฐสภางดออกเสียงทั้งหมด 3 คน คือนายชวน หลีกภัย (ประธานรัฐสภา), นายพรเพชร วิชิตชลชัย (รองประธานรัฐสภา) และนายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย
โดยในการประชุมรัฐสภาครั้งนี้มีสมาชิกเข้าประชุมทั้งหมด 747 คน ขาด 3 คน ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. ในช่วงเช้าของวันโหวตเลือกนายกฯ และ น.ส.จุมพิตา จันทรขจร พรรคอนาคตใหม่ ที่ลาป่วย โดยส.ว. 249 คน เทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ (งดออกเสียง 1 คน คือนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา)
เช่นเดียวกับ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่เทให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมด 116 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 51 เสียง พรรคภูมิใจไทย 50 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคประชาชนปฏิรูป 1 เสียง และ 10 พรรคเล็ก รวม 10 เสียง
สำหรับ 2 เสียงที่หายไปของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี ส.ส. ทั้งหมด 53 คน คือนายชวน หลีกภัย งดออกเสียง เนื่องจากเป็นประธานรัฐสภา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ก่อนการประชุมโหวตเลือกนายกฯ ส่วนพรรคภูมิใจไทย งดออกเสียง 1 คน คือ นายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 1
นั่นเองจึงเป็นคำตอบที่ค่อนข้างแจ่มชัดพอหรือไม่ ที่จะบอกว่า ข้อเสนอของกลุ่มประชาชนคนไทย แทบเป็นไปไม่ได้เลย??? หากขาดเพียงพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็สามารถดำเนินการโหวตในรัฐสภาได้ เพราะต้องถามต่อว่า มีเสียงเพียงพอหรือไม่ พรรคพลังประชารัฐ ที่ส่งพลเอกประยุทธ์ เข้าชิงนายกตั้งแต่แรก หรืออย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่บางครั้งก็ทำตัวเป็นหอกข้างแคร่อาจเอาด้วยเพราะชื่อ ศุภชัย เคยอยู่ในพรรค แต่ฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย จะยอมรับได้หรือไม่ ถ้านายกฯคนนอก ไม่ใช่คนที่เป็นพวกตัวเองจะเอาด้วยหรือไม่
พูดกันแบบตรงไปตรงมา เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลที่กุมอำนาจอยู่ในขณะนี้ก็ไม่อยากจะลุกออกไปง่ายๆ และฝ่ายค้านที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะก้าวไกลที่พยายามอย่างเต็มที่ในการรื้อมาตรา 112 หมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งนายกฯคนนอกที่จะเข้ามาถ้าไม่ตรงใจ ตามปรารถนาของพรรคก้าวไกล ก็ยากอีกที่จะยกมือให้ เช่นนี้ชัดเจนแน่แล้วว่า ข้อเสนอกลุ่มประชาชนคนไทย แทบปิดประตูตาย!!!