Truthforyou

ก.พาณิชย์ปลื้มไทยจะได้ประโยชน์ชัด!?!จีน-สิงคโปร์ยื่นสัตยาบันRCEPแล้ว หนุนเปิดตลาดเพิ่ม ภาษี 0%ดันส่งออกสดใส

กระทรวงพาณิชย์ เผย ประโยชน์ความตกลง RCEP ความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในโลก สินค้าไทยมากกว่า 90% จะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาดสำคัญอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นสิงคโปร์ได้อีกมาก ภาค SMEs และภาคเกษตรได้รับอนิสงฆ์ด้วย คาดมีผลใช้บังคับภายในปี 2564หลังไทยยื่นสัตยาบันภายในปีนี้

วันที่ 17 พ.ค. 2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP:Regional Comprehensive Economic Partnership)จำนวน 15 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศรวมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามความตกลง RCEP ไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด สิงคโปร์ และจีน ได้ยื่นให้สัตยาบันความตกลง RCEP ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว ส่วนประเทศสมาชิกที่เหลือ รวมทั้งไทย กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง

เมื่อสมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP ครบแล้ว ก็จะส่งผลให้ความตกลงมีผลใช้บังคับหลังจากนั้น 60 วันทันที ซึ่งสมาชิกได้ตั้งเป้าว่า จะต้องดำเนินการให้ทันภายในสิ้นปีนี้

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการของไทย หลังจากที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาความตกลง RCEP ไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 ขณะนี้ 3 หน่วยงานของไทยกำลังอยู่ระหว่างออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร อยู่ระหว่างออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราภาษีศุลกากรที่จะเก็บกับสมาชิก RCEP กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างปรับระบบการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างออกประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งเมื่อทั้ง 3 หน่วยงานดำเนินการเสร็จแล้ว ไทยก็จะสามารถยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ทันที คาดว่าน่าจะภายในเดือนต.ค.2564

นางอรมนกล่าวว่า สำหรับประโยชน์ของความตกลง RCEP ที่มีต่อการส่งออกของไทย ที่เห็นได้ชัดเจน จะเป็นเรื่องที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเพิ่มเติมจากที่เก็บกับไทยในปัจจุบัน และเพิ่มเติมจาก FTA ที่ไทยมีอยู่แล้วกับประเทศเหล่านี้ยกตัวอย่างเช่น 

เกาหลีใต้ ลดภาษีศุลกากรให้กับผลไม้สดหรือแห้ง เช่น มังคุด ทุเรียน ผลไม้และลูกนัตอื่นๆ แช่แข็งของไทย จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี สินค้าประมง เช่น ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง ปลา กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ จาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี 

ญี่ปุ่น ลดภาษีศุลกากรให้ผักปรุงแต่ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง ผงกระเทียม ของไทย จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี กาแฟคั่ว จาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี 

จีน ลดภาษีศุลกากรให้สับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว ยางสังเคราะห์ ของไทย จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ ที่ปรับกระจกในรถยนต์ ลวดและเคเบิ้ลสำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ของไทย จาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี เป็นต้น 

นอกจากนี้ สมาชิก RCEP ยังได้เริ่มประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการกำกับดูแลและบังคับใช้ความตกลง RCEP ซึ่งครอบคลุมเรื่องสำคัญ เช่น กระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ โครงสร้างสำนักงานเลขาธิการ RCEP และความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ได้อย่างเต็มที่  

ในปี 2563 ไทยมีมูลค่าการค้ากับสมาชิก RCEP ประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท หรือ 57.5% ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออกประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53.3% ของการส่งออกไทยไปโลก โดยมีอาเซียน จีน และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  เป็นต้น

Exit mobile version